ในบรรดาความสนพระทัยในศาสตร์และศิลป์แขนงต่าง ๆ ของ “กรมหลวงชุมพรฯ” หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่มีการกล่าวถึงไว้ในพระประวัตินั้น เรื่องราวที่นับว่า “ใหม่” ที่สุด ก็คือความสนพระทัยในด้าน “ธรรมชาติวิทยา”
แรกเริ่มเดิมที พระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ที่เผยแพร่กันทั่วไป ล้วนมีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงความสนพระทัยศึกษาวิชาแพทย์ และความใส่พระทัยเป็นพิเศษในเรื่องสมุนไพร ถึงกับเสด็จเข้าป่าเพื่อทรงหาสมุนไพรมาใช้ผลิตยา ดังพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา พระธิดา “… รับสั่งว่าที่หาได้ในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยแท้ มีพระชื่อ “อาจารย์ป๊อต” เราเรียกท่านว่าหลวงลุง นำเสด็จหาสมุนไพรในป่าสูง ต้องปีนเขาท่องป่าข้ามห้วยหนทางลำบาก กว่าจะได้ว่านยาที่แท้และดี ไปครั้งหนึ่งอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 วัน บางทีถึงเดือน มีเจ้ากรมและมหาดเล็กตามเสด็จไปด้วย แต่งตัวกันอย่างคนพื้นเมือง … ทรงสั่งกล้องจุลทัศน์มาสำหรับตรวจโรค มีห้องพิเศษเรียกว่าห้องเคมีแผนกวิทยาศาสตร์ มีแพทย์อิตาเลียนชื่อ “โบโตนี” และแพทย์ญี่ปุ่นชื่อ “มิตานี” มาค้นคว้าแก้โรคต่าง ๆ ทำเล่นแร่แปรธาตุสกัดหัวยาจากสมุนไพร …”
ประวัติศาสตร์บอกเล่าดังความข้างต้น ถูกคัดลอกสืบต่อกันมาร่วมกึ่งศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อราว 16 ปีที่ผ่านมานี้เอง จึงเริ่มมีการพบข้อมูลใหม่ ซึ่งช่วยขยายมิติของความสนพระทัยไปสู่อาณาบริเวณของศาสตร์ธรรมชาติวิทยาที่เป็นระบบและจริงจัง
ราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 ดร.องุ่น ลิ่ววานิช นักกีฏวิทยาอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญอนุกรมวิธานแมลง และคุณสุทธิสันต์ พิมพะสาลี นักวิชาการเกษตร สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ ในฐานะทีมงานวิจัยโครงการหิ่งห้อย ในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และโครงการวิจัยแมลงกินได้ ในโครงการพัฒนาองค์ความรู้ และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT: Biodiversity Research and Training Program) ได้เดินทางร่วมกันไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อเทียบเคียงตัวอย่าง (Specimen) ของหิ่งห้อยที่เก็บสำรวจได้จากประเทศไทย กับหิ่งห้อยต้นแบบในพิพิธภัณฑ์
นักวิจัยทั้งสองท่าน พบว่าหิ่งห้อยต้นแบบส่วนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงลอนดอน ถูกเก็บตัวอย่างมาจาก Siam ผู้มอบให้พิพิธภัณฑ์คือ H.R.H. Prince of Chumpon และเมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมจากเอกสารจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์ ก็ทำให้ทราบว่าทรงส่งแมลงชนิดอื่นในอันดับ (Order) แมลงปีกแข็ง มวน ต่อ แมลงวัน และตั๊กแตน ไปให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย
การค้นพบโดยบังเอิญดังกล่าว ส่งผลพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาด้านกีฏวิทยาของไทยไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือข้อมูลก่อนหน้านั้น ระบุถึงการศึกษาหิ่งห้อยในประเทศไทยไว้ว่า ตัวอย่างหิ่งห้อยตัวแรกที่ถูกนำมาศึกษาและเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลง ในกองกีฏวิทยาและสัตววิทยาของไทยนั้น มาจากพันตรี ดับเบิล ยู. อาร์. เอส. ลาเดลล์ นายทหารอังกฤษประจำสยาม ซึ่งเก็บตัวอย่างมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ขณะที่หิ่งห้อยจากสยามในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ประเทศอังกฤษ โดย H.R.H. Prince of Chumpon นั้น ประทานไปเมื่อ พ.ศ. 2464 แสดงให้เห็นว่าการศึกษาทางธรรมชาติวิทยาในสยาม ไม่ได้บุกเบิกกระทำโดยชาวตะวันตกเท่านั้น แต่ยังมีชาวสยามที่สนใจและมีความรู้ด้านการศึกษาธรรมชาติวิทยา เพียงพอที่จะเข้าใจถึงหลักและวิธีในการศึกษาค้นคว้าทางธรรมชาติวิทยาอย่างเป็นระบบ รู้จักการจัดเก็บตัวอย่างแมลงด้วยวิธีที่ได้มาตรฐาน และรู้ไปถึงแหล่งศึกษาและรวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการนานาชาติ
คณะผู้ปฏิบัติงานค้นคว้าพระประวัติของมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ได้ต่อยอดการค้นพบนี้ โดยการค้นคว้าและสัมภาษณ์เพิ่มเติม รวมทั้งวิเคราะห์หลักฐานแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อเรียบเรียงประเด็น “ความสนพระทัยด้านธรรมชาติวิทยา” เป็นบทหนึ่งในหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ฉบับอ้างอิง ซึ่งมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ จัดทำออกเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2557
ความตอนหนึ่งในเนื้อหาของหนังสือบทนั้น เป็นบทสัมภาษณ์ ดร.องุ่น เกี่ยวกับความรู้สึกจากการค้นพบของตนเอง
“… พอดิฉันเห็นตัวอย่างนี้ ก็รู้สึกดีใจมาก ตื่นเต้นมากเลยว่าไปพบหิ่งห้อยตัวที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย แล้วเราเจอว่าเก็บไว้ที่โน่น แล้วเป็นของคนไทยด้วย ก็ดีใจมากน่ะค่ะ ทีนี้วิธีการที่ท่านทรงมอบให้นี่ ไม่ทราบว่าท่านทรงมอบอย่างไร ดิฉันก็พยายามไปหาหนังสือพระประวัติท่านมา พยายามหาดูว่าท่านไปอังกฤษตอนไหน ท่านมอบให้ตอนไหนอะไรอย่างนี้ ก็พยายาม แต่ก็ไม่มี คือเป็นเรื่องใหม่ เป็นการค้นพบที่ใหม่มาก …”
วิทยาการการสืบค้นทางดิจิทัล รวมทั้งฐานข้อมูลหนังสือและเอกสารจดหมายเหตุดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นอย่างมากในยุคหลัง เอื้อให้การเข้าถึงเนื้อหาของหนังสือหรือเอกสารในห้องสมุดสำคัญ ๆ ทั่วโลกเป็นไปได้โดยง่าย เปิดโอกาสสู่การค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบให้กับความสงสัยของ ดร.องุ่น รวมทั้งเติมต่อภาพที่แจ่มชัดมากขึ้น ของต้นธารแห่งการศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาในสยาม
การค้นคว้านี้ยังมีสมมุติฐานด้วยว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ น่าจะทรงมีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งในกระแสธารนี้
คอลเล็กชั่นหนังสือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของห้องสมุดสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1917 เรื่อยมา ช่วยฉายภาพของงานด้านธรรมชาติวิทยาในสยามยุคเริ่มแรกได้อย่างแจ่มชัด ด้วยหนังสือกลุ่มนั้นมีชื่อว่า The journal of the Natural History Society of Siam ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “วารสารของสมาคมธรรมชาติวิทยาแห่งกรุงสยาม”
มองอย่างผิวเผิน อาจมีผู้เข้าใจว่าวารสารนี้คือ The Journal of the Siam Society ซึ่งจัดทำโดย Siam Society หรือสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ความเข้าใจนี้แม้จะคลาดเคลื่อนแต่ก็มีความเชื่อมโยงกันในบางด้าน เพราะ The journal of the Natural History Society of Siam นั้น ก็คือต้นกำเนิดของ Natural History Bulletin of the Siam Society หรือ NHBSS ในปัจจุบันนั่นเอง
Natural History Society of Siam ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 หรือ ค.ศ. 1913 ภายหลังสยามสมาคมฯ ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2447 คือปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 จากนั้น Natural History Society of Siam ก็ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นเอกเทศเรื่อยมากระทั่งถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2468 จึงได้ผนวกเข้ากับสยามสมาคมฯ โดยกลายเป็นแผนกธรรมชาติวิทยาของสยามสมาคมสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ท้ายเล่มของ The journal of the Natural History Society of Siam ฉบับปีที่ 1 เล่มที่ 1 ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1914 ได้ระบุรายนามสมาชิกรุ่นแรกของสมาคมเอาไว้ 63 คน เป็นชาวตะวันตกเกือบทั้งหมด ยกเว้นชาวสยามพระองค์เดียวคือหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ซึ่งเราอาจคาดเดาเหตุผลได้จากการที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารม้าจากประเทศรัสเซียโดยทรงศึกษาด้านสัตวแพทย์ ทั้งทรงเป็นผู้วางรากฐานงานด้านการสัตว์และหน่วยทหารการสัตว์ โดยใน พ.ศ. 2455 ได้ทรงก่อตั้ง “ โรงเรียนนายดาบสัตวรักษ์ ” เพื่อผลิตนายสัตวแพทย์ที่มีความรู้ทั้งทางวิชาการรักษาสัตว์และวิชาสัตวบาล ท่านจึงน่าจะเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า เป็นชาวสยามผู้มีความรู้และสนใจทางสัตววิทยา
ครึ่งปีผ่านไป วารสารฉบับปีที่ 1 เล่มที่ 2 ก็ได้ระบุพระนาม H.R.H. Prince of Chumpon ในฐานะสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมแล้ว โดยจะทรงเป็นพระราชวงศ์ทรงพระอิสริยศักดิ์สูงเพียงพระองค์เดียวในประชาคมผู้ศึกษาธรรมชาติวิทยา ระหว่างช่วงปีแรก ๆ ของสมาคมนี้
ในวารสารเล่มต่อ ๆ มา เราจะพบว่าสมาชิกกิตติมศักดิ์นามกรมหลวงชุมพรฯ มีบทบาทร่วมกับประชาคมผู้ศึกษาธรรมชาติวิทยาในสยามอย่างหลากหลายและมีชีวิตชีวา ตั้งแต่ประทานตัวอย่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อาทิ ผีเสื้อหายาก อีเห็น หมูหริ่ง กระรอก และนกนานาชนิด ให้กับเพื่อนสมาชิกผู้สนใจศึกษาเจาะลึกเกี่ยวกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งตัวอย่างสัตว์บางชนิดที่ประทานนั้นมีข้อมูลรายละเอียดระบุไว้ชัดเจน เช่น นกกินแมลงกระหม่อมแดงที่ประทานสมาชิกคนหนึ่งนั้น ทรงจับที่อ่างทองในเดือนพฤษภาคม 1915 หรือนกพิราบที่เรียกว่า Indian blue rock pigeon นั้น ทรงยิงด้วยพระองค์เองที่เมืองสิงห์ในเดือนเดียวกัน ส่วนนกทะเลขาแดงลายจุดนั้น ทรงจับได้ที่ชัยนาทในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 เป็นต้น
เนื้อหาในวารสารเหล่านี้ยังบันทึกไว้ด้วยว่า นอกจากการทรงเข้าร่วมการประชุมครั้งต่าง ๆ ของสมาคมอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังทรงเคยจัดแสดงตัวอย่างเห็ดราว 50 ชนิดจากภูมิภาคต่าง ๆ ของสยาม รวมทั้งภาพวาดระบายสีของเห็ดเหล่านั้นบางชนิด เพื่อแสดงรูปลักษณ์ของเห็ดนั้น ๆ ตามธรรมชาติอีกด้วย
เป็นการง่ายที่ผู้อ่านในปัจจุบันบางท่านอาจวิจารณ์ว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นที่ยอมรับท่ามกลางประชาคมผู้ศึกษาธรรมชาติวิทยาในสยาม จากพระอิสริยยศอันสูงซึ่งย่อมต้องนำความเกรงใจแม้ในหมู่ชาวตะวันตกที่พำนักในกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม ข้อวิจารณ์นี้อาจโต้แย้งได้จากข้อมูลในวารสาร The journal of Bombay Natural History Society อันเป็นประชาคมวิชาการธรรมชาติวิทยาแห่งอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย
วารสารฉบับนั้นระบุไว้ ว่าในเดือนมกราคม 1917 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน “The Principal” ของสมาชิกใหม่แห่งสมาคมอันมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องนี้
Bombay Natural History Society หรือ BNHS ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ. ศ. 2426 ในนครบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมหานครมุมไบ) ซึ่งในขณะนั้นคือเมืองท่าสำคัญทางชายฝั่งตะวันตกของอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย BNHS นับเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างสูงด้านการสำรวจด้านอนุกรมวิธานในหลายภูมิภาคของเอเชีย ให้กำเนิดทั้งองค์ความรู้กับคลังตัวอย่างสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาล และมีการตีพิมพ์วารสารทางวิชาการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แม้การค้นคว้าเท่าที่ดำเนินมาจนถึงขณะนี้ จะยังไม่สามารถให้คำตอบได้ครบถ้วนต่อข้อสงสัยของ ดร.องุ่น รวมทั้งยังไม่สามารถฉายภาพบทบาทของกรมหลวงชุมพรฯ ใน Bombay Natural History Society ได้อย่างถี่ถ้วน แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้เห็นชัดขึ้นถึงความสนพระทัยอย่างจริงจังทางธรรมชาติวิทยา รวมทั้งการทรงเป็นที่ยอมรับในหมู่ชนต่างชาติต่างภาษาที่สนใจในวิทยาแขนงนี้
พระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ในพระกรณียกิจด้านธรรมชาติวิทยา ยังคงรอคอยการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป