บทบันทึกความทรงจำถึง “เสด็จในกรมฯ” รวมทั้ง “ชีวิตชาววังนางเลิ้ง” จากผู้ที่เกิด จำความได้ และเติบใหญ่ภายในรั้ววังแห่งนี้ กระทั่งถึงการสิ้นพระชนม์ของเสด็จในกรมฯ

Writer : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

13 November 2020

“กรมหลวงชุมพรฯ” และ “วังนางเลิ้ง” ในความทรงจำ

“… วังของเสด็จในกรมในสมัยข้าฯ ยังเป็นเด็กดูใหญ่โตมโหฬาร แต่โตขึ้นรู้สึกว่าเล็ก …”

คำว่า “วัง” ในความคิดคำนึงของหลายท่าน อาจจะเป็นภาพสถาปัตยกรรมที่โอ่อ่าหรูหรา ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นที่กว้างใหญ่ดูน่าเกรงขาม หาก “วังนางเลิ้ง” ของกรมหลวงชุมพรฯ ในความทรงจำของ พันเอกขุนแผน กระหม่อมทอง ผู้ที่เกิดและเติบโตภายในรั้วของวังนางเลิ้งนั้น กลับมีภาพที่แปรผันไปตามวัยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

พันเอกขุนแผน กระหม่อมทอง เมื่อครั้งเป็นนักเรียนนายร้อย

แต่สิ่งหนึ่งที่พันเอกขุนแผนยังจำได้ดีและระลึกถึงอยู่เสมอนั้น คือ “ชีวิตความเป็นอยู่” ของตนและครอบครัวภายในวังนางเลิ้ง

พันเอกขุนแผน กระหม่อมทอง เป็นนายทหารในกองทัพบก ซึ่งภายหลังได้เข้ามามีบทบาทด้านการคมนาคมขนส่ง กระทั่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ในช่วงทศวรรษ 2520 ต่อมาในช่วงปัจฉิมวัย ท่านได้เรียบเรียงถ่ายทอดความทรงจำถึงช่วงต่าง ๆ ของชีวิตเอาไว้ โดยตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือที่ระลึกการพระราชทานเพลิงศพของตัวท่านเอง 

แม้ว่าเนื้อหาหลักในข้อเขียนของพันเอกขุนแผนจะเป็นประวัติชีวิตของตัวผู้ประพันธ์ แต่หลายช่วงหลายตอนก็เต็มไปด้วยภาพชีวิตชีวาของผู้คนในวังนางเลิ้ง ตั้งแต่องค์ผู้ครองวังลงมาถึงบ่าวไพร่ ฉายภาพที่แจ่มชัดถึงพระกรุณาของเสด็จในกรมฯ ที่ทรงมีต่อข้าราชบริพาร รวมไปถึงบุตรหลานของผู้คนเหล่านี้

บิดาของพันเอกขุนแผนชื่อนายถึก เดิมเป็นชาวพระตะบองในกัมพูชา ต่อมาบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อหนีภัยและย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในสยาม ในที่สุดก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพระยาไกร

ความรับรู้ของพันเอกขุนแผนเกี่ยวกับบิดา ได้สะท้อนถึงพระจริยวัตรของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ไว้ในเวลาเดียวกัน

“… เสด็จในกรมท่านชอบไปนมัสการพระตามวัดต่าง ๆ ที่ไหนมีอาจารย์ดี ๆ ท่านมักจะไปหากราบไหว้ ท่านอาจารย์ท่านตรวจดวงชะตาแล้ว จึงให้สึกและฝากฝังให้เป็นมหาดเล็กเสด็จในกรมต่อมา จนเป็นที่ไว้วางพระทัย และแต่งตั้งให้เป็นจางวางเพื่อดูแลทรัพย์สินในวังต่อไป …

… พ่อเกิดมาในกองเงินกองทอง บิดามีอำนาจราชศักดิ์ แต่ก็ถูกปองร้ายฆ่าล้างตระกูล ตัวเองก็ถูกตามฆ่า ต้องปลอมตัวหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ชีวิตของพ่อจุดนี้ดีขึ้นเมื่ออยู่กับเสด็จในกรม พวกเราสบายกันทุกคน พ่อแม่มีเงินเดือน ลูกทุกคนท่านออกค่าหนังสือ ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน เสื้อผ้าทุกอย่าง … ข้าฯ เมื่ออายุ 4 ขวบ แต่งตัวโก้ มีเสื้อแพรราชปะแตน กระดุมทองทั้งชุด มีรองเท้าหนังหุ้มข้อโก้ ถึงเดี๋ยวนี้ ข้าฯ ยังจำได้ …”

ถึงแม้หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงจะทรงเคยเล่าไว้ ถึงการที่เสด็จในกรมฯ จะทรงสอนโอรสและธิดาของพระองค์ให้มีอุปนิสัย “มัธยัสถ์” ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความทรงจำของพันเอกขุนแผนก็ได้แสดงให้เราเห็นว่า พระองค์มิใช่เจ้านายที่ทรง “ตระหนี่ทรัพย์” และทรงให้ความสำคัญกับปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมไปถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่อนาคตของบุคคลในความดูแลของพระองค์

8 กรกฎาคม 2457 คือวันเกิดของพันเอกขุนแผน ขณะนั้นคือช่วง 3 ปีหลังที่เสด็จในกรมฯ ทรงออกจากราชการ และทรงกำลังเป็น “หมอพร” ดังนั้นเมื่อพันเอกขุนแผน “แต่งตัวโก้ มีเสื้อแพรราชปะแตน กระดุมทองทั้งชุด” เมื่ออายุ 4 ขวบนั้น เสด็จในกรมฯ ย่อมทรงกลับเข้ารับราชการแล้ว ซึ่งหนังสือพระประวัติหลายเล่มได้กล่าวไว้ในทำนองว่า หลังจากทรงกลับเข้ารับราชการก็ทรงยุติบทบาทการเป็นแพทย์ แต่ความทรงจำของพันเอกขุนแผนกลับสะท้อนว่า ความเป็น “หมอพร” ของพระองค์นั้นยังคงดำรงอยู่สืบมากระทั่งสิ้นพระชนม์ ทั้งยังทรงเป็นที่พึ่งทางการแพทย์ของชาววังนางเลิ้งด้วยความเลื่อมใส

“… เมื่อเสด็จในกรมสิ้นพระชนมเล็กน้อย แม่ก็เสียชีวิตด้วยโรคระบาดใหญ่ ถ้าเสด็จในกรมยังอยู่ แม่ก็คงไม่ตายเพราะท่านเป็นหมอ …”

มารดาของพันเอกขุนแผนมีนามว่านางแป้น มีเชื้อสายมอญ เป็นชาวปากลัด หรืออำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับมารดานี้ มีความพระทัยดีของเสด็จในกรมฯ ปรากฏแฝงอยู่

“… แม่มักมาเยี่ยมญาติแถวสาทรบ่อย ๆ เลยรู้จักกับพ่อ เสด็จในกรมจัดคนไปสู่ขอ และมาอยู่ด้วยกันในวัง แม่ทำกับข้าวเก่ง เสด็จในกรมให้เป็นต้นเครื่อง วันไหนเสวยถูกพระโอษฐ์จะทรงรางวัลให้ …”

อีกแง่มุมความทรงจำเกี่ยวกับมารดา ได้แสดงถึงบรรยากาศ “เข้มขลัง” ตามแบบฉบับของวังนางเลิ้ง พร้อม ๆ กับสะท้อนพระอุปนิสัยใกล้ชิดบ่าวไพร่อย่างไม่ถือพระองค์ไปพร้อม ๆ กัน

“… ข้าฯ จำได้ว่าคืนหนึ่งเดือนหงาย เสด็จในกรมอารมณ์ดี ท่านพาหม่อม ๆ โอรส และธิดา บ่าวไพร่ มานั่งเล่นกลางสนาม และเล่นแม่ศรี และให้แม่เป็นตัวแม่ศรี …”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำ แม่ศรี ไว้ว่าเป็นคำนาม หมายถึงชื่อการละเล่นสมัยโบราณอย่างหนึ่ง โดยเชิญผีแม่ศรีมาเข้าทรงหญิงสาว หญิงสาวที่ถูกผีเข้าทรงจะรำได้อย่างสวยงาม นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์

ส่วนสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ได้อธิบายถึง แม่ศรี หรือ รำแม่ศรี ไว้ละเอียดมากขึ้นว่า แม่ศรีเป็นการละเล่นพื้นบ้านกึ่งพิธีกรรม ตามความเชื่อของชาวบ้านในเรื่องการเข้าทรง วิธีการเล่นโดยสังเขป คือคัดเลือกแม่ศรีจากสตรีที่มีหน้าตางดงาม ให้ถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนนั่งอยู่กลางวง ผู้เล่นคนอื่นจะร้องเพลงเชิญแม่ศรี โดยร้องซ้ำไปมาจนแม่ศรีเข้าร่างทรง ซึ่งบทร้องในแต่ละท้องถิ่นก็อาจแตกต่างกันไป สำหรับบทร้องที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรบันทึกไว้มีอยู่ว่า แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวหงส์ เชิญเจ้าลงมา แม่นางสร้อยทอง ชวนพี่ชวนน้อง เชิญแม่ทองศรีเอย แม่ศรีเอย แม่ศรีสวยสะ ยกมือไหว้พระ ว่าจะมีคนชม ขนคิ้วเจ้าก็ต่อ คอเจ้าก็กลม ชักผ้าปิดนม ชมแม่ศรีเอย ฯลฯ

ปราณี วงษ์เทศ นักวิชาการมานุษยวิทยา ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อ พ.ศ. 2548 มีใจความตอนหนึ่งว่า คำว่า แม่ศรี ซึ่งมาจากศัพท์สองคำคือ แม่ อันเป็นคำไทยดั้งเดิม กับคำ ศรี ซึ่งเป็นคำสันสกฤตนั้น แรกเริ่มเดิมทีเขียนว่า แม่สรี อันเป็นคำจากภาษาเขมร หมายถึงหญิงผู้เป็นใหญ่ คือผีบรรพบุรุษซึ่งเป็นผีสตรี ตามธรรมเนียมความเชื่อดั้งเดิมของชาวอุษาคเนย์

สำหรับการเล่นแม่ศรีที่วังนางเลิ้งในคืนเดือนหงายครั้งนั้น พันเอกขุนแผนได้ถ่ายทอดถึงบทบาทของเสด็จในกรมฯ เอาไว้ว่า

“… ท่านนั่งสมาธิ และให้เด็กร้องเพลงแม่ศรี ตัวแม่ศรีเมื่อเกิดเคลิบเคลิ้มก็หลับไปโดยไม่รู้ตัว …”

ภาพถ่ายทางอากาศยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นวังนางเลิ้งอยู่กลางภาพ

พันเอกขุนแผนเป็นทายาทคนที่ 5 ในจำนวนบุตรธิดา 11 คน ของบิดามารดา โดยเสด็จในกรมฯ ทรงตั้งชื่อประทานให้ทุกคนจนถึงคนที่ 9 ยกเว้นเพียงชื่อ “ขุนแผน” เท่านั้นที่ตั้งโดยหลวงปู่ศุข ซึ่งความทรงจำในตอนนี้ก็สะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่าง “พระอาจารย์” และ “ศิษย์” ทั้ง 2 ท่านได้อย่างแจ่มชัด

“… วันหนึ่งหลังจากเสด็จในกรมฝึกวิชากับหลวงพ่อเสร็จ ตามธรรมดาท่านจะฝึกวิชาอยู่ชั้นบนและห้ามมิให้คนขึ้นไปเป็นอันขาด … เวลาท่านฝึกเรามักจะได้ยินเสียงหัวเราะบ้างบางครั้ง ท่านมักจะฝึกตอนเช้า เมื่อเสร็จการฝึก ท่านจะลงมาส่งหลวงพ่อที่เรือนท่านสร้างไว้เฉพาะ หน้าเรือนมีต้นหว้าอยู่หนึ่งต้น ขณะนั้น ข้าฯ อายุประมาณ 3 ขวบ ยังไม่มีชื่อ บังเอิญวันนั้น ข้าฯ นั่งอยู่ใต้ต้นหว้าบันไดทางขึ้น เสด็จในกรมเดินผ่านมาเห็นข้าฯ ท่านจึงพูดขอให้หลวงพ่อตั้งชื่อให้ หลวงพ่อหลับตาชั่วครู่จึงตั้งชื่อให้ว่า “ขุนแผน” แล้วก็เป่ากระหม่อมให้ 3 ที …”

 บันทึกความทรงจำของพันเอกขุนแผน ยังได้สะท้อนให้เราเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของความสนพระทัยในของพระองค์ ผ่านอาณาบริเวณภายในวังนางเลิ้ง อย่างที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อน

“… ในสมัยเด็ก ข้าฯ ซนมาก ขึ้นต้นไม้เก่ง เล่นเอาเถิดบนต้นไม้กัน บนต้นมะขาม บนต้มปาล์ม ข้างตำหนักท่านปลูกต้นไม้เป็นดงปาล์มเขียว สูงประมาณ 5 เมตร …”

จดหมายจากพระอภิบาลของเสด็จในกรมฯ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ระหว่างทรงศึกษาวิชาพื้นฐานอยู่ที่อังกฤษ ได้พรรณนาถึงความทรงเบิกบานพระทัยเมื่อได้ทรงวิ่งเที่ยวเล่นในทุ่งกว้างของชนบทอังกฤษ พระอุปนิสัยเช่นนี้อาจเป็นเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงไม่ดุว่าห้ามปรามเด็กชายขุนแผนและเด็กคนอื่น ๆ ที่เที่ยวเล่นปีนป่ายกระโจนโหนไปตามต้นไม้ หรือเด็ดดึงเอาผลไม้ต่าง ๆ ในอาณาบริเวณอันร่มครึ้มของวังนางเลิ้ง

“… เสด็จในในกรมชอบต้นไม้และป่ามาก ท่านจะไม่อยู่บนตึกใหญ่ แต่จะมาอยู่ที่เรือนแพฝาไม้ไผ่หลังคาแฝกข้างหลังตึก บริเวณนั้นจะมีคูน้ำต่าง ๆ ท่านปลูกต้นไม้ทุกชนิด มีผลไม้แปลกจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ข้าฯ ชอบฝรั่ง และชมพู่ ชมพู่มีหลายชนิดแปลก ๆ บางอย่างเดี๋ยวนี้หาไม่ได้หรือไม่ค่อยเห็น เช่น ชมพู่เล็บมือนาง … ทุเรียนแขกโตเท่า ๆ ขนุน สับปะรดหนังคล้ายขนุน แต่เนื้อในเหมือนน้อยหน่า … เวลาท่านเสด็จต่างประเทศ ท่านมักมีต้นไม้แปลก ๆ ติดมือมาด้วย ท่านมีโรงเฟิร์นใหญ่อยู่หลังตำหนัก …”

เสด็จในกรมฯ ท่ามกลางบรรยากาศแมกไม้ในวังนางเลิ้ง

พี่ชายคนหนึ่งของพันเอกขุนแผน นามว่า “พี่เล็ก” ตามชื่อที่ทรงตั้งประทานว่า นกเล็ก เป็นนายทหารเรือผู้ให้ข้อมูลถึงอีกแง่มุมในพระชนม์ชีพไว้

“… พี่เล็กติดตามเสด็จในกรมไปทะเลทุกครั้ง และจะมาเล่าให้เราฟังเสมอ เสด็จในกรมจะออกทะเลทุกปี ตอนปลายปี กองเรือจะออกฝึกเป็นประจำเพราะเป็นฤดูมรสุม ในภาคปลายปีนี้ก็พอดีกับโรงเรียนปิดเทอมพอดี เสด็จในกรมจะเอาครอบครัวบริวารไปด้วย แต่มีธรรมเนียมว่าผู้หญิงไม่ให้ขึ้นเรือรบ ท่านจึงสร้างเรือใบลำหนึ่งชื่อว่าเรือ “อาจารย์ เพื่อบรรทุกครอบครัวบริวาร บ่าวไพร่ และเสบียงอาหาร ในขณะที่ทำการฝึกท่านมักจะนัดให้เรือ “อาจารย์ ไปรอในที่จะพักแรม และเตรียมอาหาร …”

เรื่องเล่าจากนายนาวาโท นกเล็ก กระหม่อมทอง ช่วยให้เรามองเห็นได้ชัดเจนขึ้นถึงบทบาทของเรือ “อาจารย์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระชนม์ชีพเฉพาะในช่วงหลังจากทรงออกจากราชการระยะแรก ๆ ดังที่เรามักคุ้นตาจากเรื่องเล่าฉบับอื่น ๆ

ความทรงจำในวังนางเลิ้งของพันเอกขุนแผน ดำเนินต่อเนื่องมาจนเมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงสิ้นพระชนม์ ณ หาดทรายรี พันเอกขุนแผนยังคงจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาววังนางเลิ้งในวันนั้น และหลังจากนั้นได้เป็นอย่างดี

“… แต่แล้วเหตุการณ์ก็ผันผวน เสด็จในกรมสิ้นพระชนม์กะทันหัน ก็เหมือนนกแตกรัง ไปคนละทางสองทาง ต้องตกทุกข์ได้ยากเพราะไม่นึกไม่ฝันมาก่อน …”

“… ข้าฯ จำได้ จำวันนั้นได้ดี ตอนเย็นโพล้เพล้ ท้องฟ้าดำแดงที่เราเรียกว่า ผีตากผ้าอ้อม ทหารเรือโทรศัพท์มาที่วัง บอกว่าเสด็จในกรมสิ้นพระชนม์ ทุกคนตะลึง เหมือนมีเสียงร้องโหยหวนไปทั้งวัง …”

แม้ในขณะที่เรียบเรียงความทรงจำ สิ่งต่าง ๆ ที่พันเอกขุนแผนได้เคยประสบพบเจอภายใน “วังนางเลิ้ง” จะแปรเปลี่ยนไปหมดแล้วอย่างสิ้นเชิงตามกาลสมัย นับตั้งแต่เสด็จในกรมฯ สิ้นพระชนม์เป็นต้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่ดูราวกับจะคงอยู่กับพันเอกขุนแผนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง คือความทรงจำถึงพระกรุณาและความทรงเป็นกันเองซึ่งเสด็จในกรมฯ ทรงมีต่อผู้คนมากมาย สอดคล้องกับเนื้อความตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ที่ว่า  

“… กรมหลวงชุมพรฯ มีพระอัธยาศัยอันเปนข้อสำคัญในพระคุณวุฒิ … ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่บุคคลทั้งหลายก็มิได้ทรงเลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ได้คบใครคงอารีดีด้วยทั่วไปมิได้ถือพระองค์ เพราะฉนั้นไม่ว่าใครที่บรรดากรมหลวงชุมพรฯ ได้คบหาสมาคม จะเปนพระก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม เจ้านายก็ตาม ไพร่ก็ตาม คงมีใจรักใคร่ไม่เลือกหน้า …”

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช