หลากเนื้อหาจากพระนิพนธ์หลายชิ้น สื่อสาระจากพระดำริที่มีความหมายข้ามกาลเวลา อยู่ที่ว่าเราในปัจจุบันจะได้ยินไหม ในสิ่งที่เสด็จเตี่ยอาจทรงอยากรับสั่งกับพวกเรา

Writer : นิธิ วติวุฒิพงศ์

18 July 2020

พระดำริในบทกลอน คำสอนจากเสด็จเตี่ย : แง่มุมวรรณศิลป์ในพระนิพนธ์กรมหลวงชุมพรฯ

… ทำงานทำจริงเจ้า            จงทำ
ระหว่างเล่นควรจำ              เล่นแท้ …

นี่คือตอนหนึ่งในบทร้อยกรองคำสอนสำหรับพระโอรสธิดา ที่พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง และได้รับการบันทึกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ชัดเจน ถึงแรงบันดาลพระหฤทัยในการทรงนิพนธ์ร้อยกรองบทนี้ จึงไม่มีใครบอกได้ว่า เป็นผลจากความบังเอิญหรือทรงตั้งพระทัย ที่ความหมายใน “กลอนสอนใจ” จากพระองค์ สอดคล้องต้องกันกับพระคาถาในตราประจำพระองค์ที่ว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ – จะทำสิ่งไร ควรทำจริง

ลองอ่านพระนิพนธ์นี้ทั้งหมดกันดูสักครั้ง

ทำงานทำจริงเจ้า               จงทำ
ระหว่างเล่นควรจำ             เล่นแท้
หนทางเช่นนี้แล                 เป็นสุข
ก่อให้เกิดรื่นเริง                 นับมื้อ ทวีคูณ

ทุกสิ่งที่ทำนั้น                   ควรตรอง
โดยแน่สุดทำนอง               ที่รู้
สิ่งใดทำเป็นลอง                ครึ่ง ๆ
สิ่งนั้นไม่ควรกู้                   ก่อให้ เป็นจริง

นอกจากร้อยกรองในภาษาไทย กรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงนิพนธ์ร้อยกรองภาษาอังกฤษด้วยฉันทลักษณ์ง่าย ๆ ควบคู่กันไว้ด้วย

Work while you work
Play while you play
That is the way
To be cheerful and gay

All that you do
Do with your might
Things done by half
Are never done right

ความเรียบง่ายของฉันทลักษณ์เป็นเรื่องที่เราในปัจจุบันสามารถเข้าใจได้ชัดเจน เมื่อคำนึงถึงพระประสงค์ที่ว่า ทรงนิพนธ์สำหรับเป็นกลอนสอนใจเด็ก ๆ แต่ใครจะปฏิเสธว่า ในความง่ายนี้ มีชั้นเชิงความงามทางวรรณศิลป์แฝงอยู่ด้วย

ลองอ่านพระนิพนธ์ “โคลงแต่งให้ลูกท่อง” อีกสักชุด

๑. ตอกตะปูลงตรง                 นะเจ้าเด็ก
เสียงเป๊กตีตรง                              ลงที่หัว
เมื่อเจ้าตีเหล็กนะเจ้าเด็ก                 เจ้าอย่ากลัว
ตีเมื่อตัวเหล็กยังแดง                       เป็นแสงไฟ

๒. เมื่องานมีที่ต้องทำ             นะเจ้าเด็ก
เป็นข้อเอกทำจริง                           ไม่ทิ้งไถล
ที่เขาขึ้นยอดได้                             สบายใจ
ก็เพราะได้ปีนเดิน                          ขึ้นเนินมา

๓. ถ้าเด็กใดยืนแช                 อยู่แต่ล่าง
แหงนคว้างมองแล                         สู่เวหา
จะขึ้นได้อย่างไร                            นะลูกยา
ทำแต่ท่าแต่ไม่ลอง                         ทำนองปีน

๔. ถึงหกล้มหกลุก                  นะลูกแก้ว
อย่าทำแซ่วเสียใจ                          ไม่ถวิล
ลองเถิดลองอีกนะ                          อย่าราคิน
ที่สุดสิ้นเจ้าคงสม                           อารมณ์เอย

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเคยถ่อมพระองค์เกี่ยวกับพระปรีชาทางภาษาเอาไว้ ปรากฏอยู่ในลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปพร้อมกับพระนิพนธ์ “ยุทธศาสตร์ทะเล” ที่ว่า “… โวหารภาษาไทยของข้าพระพุทธเจ้า … เลวอย่างที่สุด …

แต่ในพระนิพนธ์ร้อยกรองต่าง ๆ เราสามารถเห็นถึงความงามทางวรรณศิลป์อันมีแบบฉบับเป็นเอกลักษณ์ อย่างที่อาจจะเรียกได้ว่า “วรรณศิลป์สไตล์กรมหลวงชุมพรฯ”

วรรณศิลป์สไตล์กรมหลวงชุมพรฯ คือการใช้ภาษาอย่างสะท้อนบุคลิกทหาร เด็ดขาด คมชัด กระชับ ตรงประเด็น ใช้คำง่าย คนวงกว้างสามารถเข้าใจและ “ถึงใจ” ได้ทันที

ลองดูอีกตัวอย่างวรรณศิลป์สไตล์กรมหลวงชุมพรฯ ในพระนิพนธ์อีกบท ซึ่งในที่สุดก็ได้กลายเป็นบทเพลงอมตะมาถึงทุกวันนี้

… เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น
อีกสามร้อยปี ก็ไม่มีใครจะเห็น
ใครจะนึกใครจะฝัน เขาก็ลืมกันเหมือนตัวเล็น …

ใครบ้างจะเถียงว่า ลีลาภาษาในพระนิพนธ์นี้มีบุคลิกเฉพาะตัว ทั้งคมชัด ง่าย และโดนใจ ยิ่งถ้าหากลองจินตนาการนึกย้อนไปเมื่อกว่าศตวรรษก่อน ตอนที่พระนิพนธ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ท่ามกลางบริบทของวรรณศิลป์ร่วมยุคสมัยโดยผู้ประพันธ์ท่านอื่น ๆ ในสไตล์ “… ปางราชดาบศไท้ ชนกนาม นากุฏิพนาราม ป่ากว้าง แต่ฝังบุตรีงาม งำเงื่อน ไว้เฮย กลับนิยมศีลสร้าง พรตพร้อมพรมจรรย์ ฯ …” ก็คงไม่น่าแปลกใจ หากคนไม่น้อยในสมัยนั้นจะรู้สึกว่าพระนิพนธ์ในกรมหลวงชุมพรฯ มีความ “เท่” และ “คูล”

เมื่อ 20 ปีก่อน เคยมีผู้ศึกษาวิจัยเรื่องพระนิพนธ์ในกรมหลวงชุมพรฯ ไว้อย่างจริงจัง ผลลัพธ์คือวิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาบทเพลงทหารเรือในพระนิพนธ์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2540

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์ แข็งขัน ผู้วิจัยและเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ได้เคยชี้ความน่าสนใจของพระนิพนธ์เพลง … เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น … ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่าเพลง “เดินหน้า” เอาไว้ว่า

“… จากแนวคิดในการสร้างงานศิลปะ มันก็มีอยู่ 3 ด้าน คือในด้านที่ศิลปะเป็นตัวแทนแสดงภาพลักษณ์หรือความหมายอะไรบางอย่าง ศิลปะในฐานะที่เป็นการแสดงความรู้สึกของผู้สร้าง แล้วก็ศิลปะในฐานะที่เป็นรูปแบบ เมื่อพิจารณาจากพระนิพนธ์ของท่านแล้ว เราพบว่าท่านใช้ทั้ง 3 แนวคิดในการสร้างงาน แล้วทรงสร้างได้อย่างลึกซึ้ง แสดงสุนทรียภาพได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว …”

… เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น
อีกสามร้อยปี ก็ไม่มีใครจะเห็น
ใครจะนึกใครจะฝัน เขาก็ลืมกันเหมือนตัวเล็น
นานไปเขาก็ลืม ใครหรือจะยืมชีวิตให้เป็น
ใครจะเห็นก็เห็นแต่น้ำใจ
จำได้แต่ชื่อ ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย
ตายแต่ตัว ชื่อยังฟุ้ง ทั่วทั้งกรุงก็ไม่ลืมได้
ทั้งเซาธ์ทั้งเวสต์ทั้งนอร์ธทั้งอีสต์
จะคิดถึงตัวเราใย จะต้องตายทุกคนไป
ส่วนตัวเราตาย ไว้ยืนแต่ชื่อ
ให้โลกทั้งหลายเขาลือ ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย …

“… ถ้าเราจะพิจารณาในแง่สุนทรียภาพจากเพลงที่เป็นพระนิพนธ์ของท่าน อาจจะมองได้ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือเป็นสุนทรียภาพที่เกิดจากองค์ประกอบของตัวงาน ทั้งทำนองและบทร้องที่ท่านทรงนิพนธ์ขึ้น ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือเป็นสุนทรียภาพที่เกิดจากวัฒนธรรมและบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางเพลงเมื่อข้ามยุคข้ามสมัยมาแล้ว เราอาจจะไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไร … มันเป็นเรื่องของความเข้าใจในทางบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมด้วยว่า ถ้าเราเข้าใจพระประวัติของท่าน เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า วันนี้ยอ พรุ่งนี้ด่า ไม่ใช่ขี้ข้าขี้ปากของใคร …”

“… เกิดมาทั้งที มันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย
วันนี้เคราะห์ดี รุ่งขึ้นพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร
ดีเคยพบ ชั่วเคยเห็น จนเคยเป็น มีเคยได้
อนาคตเราไม่รู้ ถึงไม่รู้ก็ต้องเดินไป
จะกลัวไปใย มันก็ล่วงไปตามเวลา
ไม่ตายวันนี้ ก็คงไปซี้เอาวันข้างหน้า
วันนี้ยอ พรุ่งนี้ด่า ไม่ใช่ขี้ข้าขี้ปากของใคร …”

“… ถ้าเรามองบทเพลงพระนิพนธ์ จะเห็นว่ามีพระปรีชาสามารถในทางกวีหรือในทางวรรณศิลป์ด้วย เช่น บทเพลง เดินหน้า มีท่อนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ดีเคยพบ ชั่วเคยเห็น จนเคยเป็น มีเคยได้ ถ้าเราพิจารณา 4 วลีที่ว่านี้ นี่คือการนำสำนวนไทยที่ว่า ชั่วดีมีจน มาใช้ร่วมกับวลีว่า เคยพบเคยเห็นเคยเป็นเคยได้ หรือยังบอกว่า วันนี้เคราะห์ดี พอถึงพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร นี่ก็คล้าย ๆ กับที่ผมพูดถึงเมื่อกี้ คือที่บอกว่า วันนี้ยอ พรุ่งนี้ด่า ไม่ใช่ขี้ข้าขี้ปากของใคร ก็อาจจะเป็นคำถามว่าทำไมถึงต้องพูดแบบนี้ พูดแบบนี้มีความหมายว่าอะไร หรืออาจจะพิจารณาได้อีกอย่างหนึ่งว่า ท่านอาจจะทรงได้หลักธรรมอะไรบางอย่างในเรื่องของการไม่ยึดติด ในเรื่องของการปล่อยวาง เอามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินพระชนม์ชีพของท่าน …”

มักมีผู้กล่าวว่า พระนิพนธ์ของกรมหลวงชุมพรฯ ในรูปบทเพลงนั้น มีความเป็นอมตะ คือ มีการฝึกสอนขับร้องในหมู่ทหารเรือสืบต่อกันมานานข้ามศตวรรษโดยมิได้เสื่อมความนิยมลง ทั้งยังแพร่หลายสู่สาธารณชนวงกว้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น คำกล่าวนี้ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะยังมีเพลงพระนิพนธ์อีกจำนวนมากซึ่งไม่มีผู้ขับร้องได้แล้วในปัจจุบัน เหลืออยู่เพียงพระนิพนธ์เนื้อเพลงที่เป็นตัวอักษร เช่น เพลง “เกิดเป็นชายหมายมาดชาติทหาร” “นักเรียนนายเรือและนายช่างกล” “พลยุทธนาวา” และเพลง “ศีลแปดสำหรับทหาร”

เมื่อพินิจพิจารณาถึงเนื้อเพลงพระนิพนธ์ที่เสื่อมความนิยมไปแล้วเหล่านั้น เราจะพบลักษณะดังที่ ผศ.ดร.รังสิพันธุ์ได้อธิบายไว้ คือเนื้อหาบางส่วนของบทเพลงมีลักษณะเชื่อมโยงกับบริบทสถานการณ์ขณะทรงนิพนธ์ ดังนั้นผู้คนจึงเข้าใจความหมายได้ยากเมื่อข้ามยุคข้ามสมัยมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อหาอีกหลายส่วนในบทเพลงเหล่านั้น ล้วนฉายชัดถึงลักษณะเด่นประการหนึ่งใน “วรรณศิลป์สไตล์กรมหลวงชุมพรฯ”

นั่นคือการสอดแทรกแง่คิดคำสอน จากค่านิยมอุดมคติที่พระองค์ทรงยึดถือ ไว้อย่างเด่นชัด

เพลง “ศีลแปดสำหรับทหาร”

เกิดเป็นชายฝ่ายชลพลรบ
ต้องรู้จบในหัวใจฝ่ายทหาร
มีแปดบทจดจำให้ชำนาญ

จะเป็นการรู้สึกได้ฝึกตน
อันข้อความตามที่มีในบท

โดยกำหนดบทสอนสุนทรผล
       ข้อหนึ่งต้องกล้าหาญจิตทานทน

สู้ศึกจนชีวาตม์ขาดทำลาย
แต่ไม่ควรหาญกล้าในท่าผิด

กระทำผิดกิจจริงสิ่งทั้งหลาย
ไม่ควรการหาญตนไปจนตาย

เป็นน่าอายอดสูดูไม่ควร
000สองข้อห้ามตามที่มีในบท

มิได้ปดปกปิดทำผิดผวน
ถึงทำผิดไซร้สิ่งไม่ควร

รับโดยด่วนเสียดีกว่าอย่าดื้อดึง
       ข้อสามอย่าคิดจิตโลภละโมบมาก

ถึงจนยากอย่างพึ่งคิดพินิจถึง
เราเป็นทหารชาญศึกนึกคะนึง

หาแต่ซึ่งน้ำนวลให้ควรการ
       ข้อสี่ผู้มีคุณการุณรัก

จงรู้จักคุณท่านหมั่นสมาน
กตัญญูต่อนายจนวายปราณ

คิดหักหาญแต่ไพรีที่บีฑา
อีกบ้านเกิดเมืองนอนบิดรนี้

สำคัญที่ควรจะรักให้หนักหนา
ทั้งรู้จักรักชาติอาตมา

คิดตั้งหน้าพรักพร้อมสามัคคี
       ข้อห้าสาหดให้อดทน

ถึงอับจนอย่าเป็นทุกข์ให้สุขี
ทั้งลำบากยากแค้นแสนทวี

ถึงโรคีป่วยไข้ไม่สบาย
เราเป็นทหารชาญศึกนึกประจญ

มิได้บ่นออกปากว่ายากหลาย
กระทำหน้าที่ให้ตลอดจนวอดวาย

คงเป็นชายขึ้นชื่อให้ลือนาม
       ข้อหกบำบัดระมัดจิต

ประพฤติกิจสุภาพไม่หยาบหยาม
ทั้งกิริยาดีพร้อมละม่อมงาม

ไม่ลวนลามประมาทชาติบุคคล
       ข้อเจ็ดห้ามขาดอย่าอาจหาญ

ประพฤติการผิดเช่นไม่เป็นผล
อันทรัพย์สินเงินทองใช่ของตน

ของบุคคลหวงห้ามอย่านำมา
อย่าลักลอบของท่านเป็นการผิด

ประพฤติกิจโจรกรรมทำมิจฉา
อีกลูกเขาเมียเขาอย่าลอบรักอย่าลักพา

เสพกามาผิดเล่ห์ประเพณี
       ข้อที่แปดชี้แจงแสดงอรรถ

มนุษย์สัตว์ได้ทุกข์ไม่สุขี
ให้มีจิตเมตตาคิดปรานี

ไม่เลือกที่รักชังทั้งประมวญ
รวมแปดข้อเท่านี้มีกำหนด

ตามแบบบทที่คิดไม่ผิดผวน
ควรทหารทุกคนต้องบ่นจำ

ทุกเช้าค่ำให้ระลึกนึกถึงเอย

พระนิพนธ์บทนี้ เนื้อหาสื่อสารชัดเจนว่า มีพระประสงค์จะประทานข้อคิดเตือนใจบรรดาทหาร ผ่านทางวรรณศิลป์ตามสไตล์ของพระองค์ แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่า เนื้อหาสาระอันปรากฏอยู่ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นแง่งามสำหรับการดำเนินชีวิตของคนทุกสาขาอาชีพได้ กระทั่งถึงทุกวันนี้

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช