
… ทหารเรือในสมัยเสด็จในกรม ฯ แม้จะมีจำนวนน้อย และเป็นสมัยตอนต้น ๆ ก็จริง แต่ทหารเรืออาจหาญร่าเริงมีชีวิตชีวา มีความหวังในชีวิต … ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เสด็จในกรม ฯ ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระอำนาจวาสนาสูง โดยเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือมาจากต่างประเทศเป็นพระองค์แรก และทรงจัดการต่าง ๆ ได้สำเร็จผลปรากฏขึ้นทันตาเห็นจริง ๆ ดังที่ทรงจัดการศึกษาให้นายทหารเรือเป็นนายทหารที่เดินเรือทะเลได้จริง ๆ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีก็ทรงทำได้สำเร็จ และประการสำคัญ ก็คือพระองค์ทรงรักใคร่ทหารเรือดุจโอรส ทรงคลุกคลีอยู่กับทหารอย่างใกล้ชิดสนิทสนม ทหารเรือจึงทั้งเคารพสักการะและรักใคร่พระองค์เป็น “พระบิดา” …
ข้อความข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งในงานเขียนที่ชื่อว่า “ทหารเรือในสมัยพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ นาวาเอก หม่อมเจ้าพรปรีชา กมลาศน์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 18 พฤษภาคม 2503
หม่อมเจ้าพรปรีชา อดีตนักเรียนนายเรือหมายเลข 58 ผู้ซึ่งพระโอรสและพระธิดาของเสด็จในกรมฯ ทรงเรียกว่า “ท่านอากู๊ก” ทรงเป็นทั้งพระประยูรญาติและลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทั้งยังทรงเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิด เห็นได้จากที่กลางพระอุระของท่านมีรอยสักตัวหนังสือว่า ‘ร.ศ. ๑๑๒ ตราด’ ซึ่งเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงสักให้ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านเอง โดยได้ทรงสักประทานให้ศิษย์ก้นกุฏิเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
ทัศนะและความทรงจำที่นาวาเอก หม่อมเจ้าพรปรีชา กมลาศน์ ทรงถ่ายทอดไว้ จึงมาจากประสบการณ์ตรงของตัวท่านเองโดยแท้

ศิษย์เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ อีกท่านที่ถ่ายทอดความทรงจำไว้คล้ายคลึงกัน คือพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. หรือ บุญมี พันธุมนาวิน หนึ่งในศิษย์นักเรียนนายเรือรุ่นแรก ๆ ของเสด็จในกรมฯ โดยพระยาหาญฯ ได้ให้สัมภาษณ์แก่คณะอาจารย์วิทยาลัยพณิชยการพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2515 เล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนของโรงเรียนนายเรือยุคหลังจากที่เสด็จในกรมฯ ทรงเข้าปรับปรุงหลักสูตร ความตอนหนึ่งว่า
… ครูบาอาจารย์ที่ไม่เข้าใจวิชาอะไร ก็ไปเรียนจากเสด็จในกรม แล้วนำความรู้มาสอนอีกทีหนึ่ง เสด็จในกรมท่านสอนได้ทุกอย่าง ไม่ลืมสักวิชาเดียว นับว่าเป็นอัจฉริยบุรุษคนหนึ่งทีเดียว
ต่อมาตั้งโรงเรียนช่างกลขึ้นอีก ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทั้งหมดนี่แหละ เสด็จในกรมทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นพ่อทหารเรือทีเดียวละ และเป็นต้นที่ทหารเรือเรียกว่า พ่อ
แต่เท่าที่ทราบ คนที่เรียกท่านว่าพ่อ ท่านไม่ค่อยชอบนัก ท่านให้เรียกท่านว่า ทิดเตี่ย แต่ก็เป็นคนใกล้ชิดก็มีไม่กี่คนหรอก เสด็จในกรมท่านปกครองนักเรียนนายเรืออย่างกันเอง เรียกทหารเรือว่าลูก …
ความทรงจำถึง “องค์บิดา” ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ อาจนำมาซึ่งข้อสงสัยของผู้คนในยุคหลังที่ว่า “เสด็จเตี่ย” ทรงมุ่งหมายหรือมีพระประสงค์ให้ “ลูกๆ” ปฏิบัติต่อพระองค์ในลักษณะไหน ทรงต้องการให้บรรดาศิษย์เคารพยำเกรงและเชื่อฟังพระองค์อย่างเคร่งครัดหรือไม่ หรือทรงตั้งพระทัยหล่อหลอมให้นายทหารเรือทั้งหลายมีคุณลักษณะเช่นใดกันแน่ ?
คำตอบต่อข้อสงสัยข้างต้น อาจพิเคราะห์ได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหลาย ทั้งจากบุคคลร่วมสมัย และจากงานค้นคว้าในยุคหลัง
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งเดียวกับที่อ้างถึงข้างต้น พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทรได้ถ่ายทอดความทรงจำจากประสบการณ์ตรงของท่าน ระหว่างช่วงเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงเข้าปรับปรุงโรงเรียนนายเรือ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่การทรง “ปราบ” การประท้วงของนักเรียน อันมีชนวนจากความไม่พอใจในพ่อครัวประจำโรงเรียนที่ชื่อ “ตาสวน”
… วันเกิดเรื่อง ตาสวนแกงส้มเปลือกแตงโมกับปลาแห้ง แกงกินเช้าก็ทำกันตั้งแต่สี่ห้าทุ่ม ปอกหั่นล้างน้ำเรียบร้อย และใส่กระป๋องเตรียมมแกงตอนเช้า ในครัวมีหนูเยอะ มันหิวเข้าก็พากันลงไปแกะเปลือกแตงโมกินกันใหญ่ตามประสาหนู มีทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก พอใกล้สว่าง คนครัวก็มาทำของ เจ้าหนูตัวโตก็หนี อ้ายตัวนิด ๆ หนีไม่ทันยังซ่อนอยู่ในผัก เมื่อช่วยกันปรุงเครื่องแกงเสร็จแล้วเอาผัก-เปลือกแตงโมที่เตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อคืนเทโครมไปในหม้อ อ้ายหนูที่ติดอยู่ในนั้นตาย
ตอนนั้นเขาแบ่งนักเรียนนายเรือออกเป็น 2 พวก คือพวกอาวุโสกับพวกน้อง ๆ เวลารับประทานอาหาร พวกอาวุโสนั่งโต๊ะหนึ่ง โต๊ะหนึ่งพวกอาวุโสนี้มีพระยาราชวังสัน เดิมชื่อศรี เป็นหัวหน้าโต๊ะ โต๊ะนี้นักเรียนนายเรือรุ่นน้อง ๆ เรียก โต๊ะนักเลงโต ที่จริงก็ไม่ใช่นักเลงหัวไม้เกกมะเหรกอะไรหรอก เป็นแค่รุ่นที่คอยควบคุมดูแลความประพฤติรุ่นน้อง ๆ คอยป้องกันไม่ให้ใครมารังแกข่มเหง พวกโต๊ะหนึ่งนี้เขามองขึงดาหรือพูดคำเดียว พวกรุ่นมองต้องนิ่งเงียบทีเดียว …
… วันนั้นแกงแตงโมกับปลาแห้งทำพิษ
มีโต๊ะกินข้าวทั้งหมด 8 โต๊ะ กินกันไปกินกันมา เจ้าอยู่ตักแกงใส่ปากเห็นหางดิก ๆ ร้องขึ้นว่า เฮ้ย อะไรนี่หว่า เฮ้ยหนูเว้ย ไม่กิน …
… พอโต๊ะหนึ่งฮือขึ้น โต๊ะอื่น ๆ ก็ฮือตาม ต่างตะโกนกันต่อ ๆ ไปว่า แกงหนูอย่ากินเข้าไปหนา พอพวกนักเลงโตว่าอย่างนั้น คนอื่นก็เชื่อกันหมด อ้ายพวกเด็ก ๆ มันหิวจะเข้าไปกิน พวกนักเลงโตก็ห้ามไม่ให้กิน …
… ชักจะยุ่งกันใหญ่ นักเรียนนายเรือไม่ยอมกินข้าว กลางวันก็ไม่กิน เย็นก็ไม่กิน รุ่งขึ้นก็ไม่กินอีก เพราะพวกโต๊ะหนึ่งห้ามกิน หาเรื่องไล่ตาสวนออก …
… พระยานาวามาสอบสวนว่า ทำไมจึงไม่กินข้าวกัน มาถึงก็เอ็ดตะโรแว้ด ๆ ว่า ทำไมนักเรียนถึงไม่ยอมกินข้าว กับก็อร่อย เจ้าสวนเขาก็ทำดีนี่หว่า นักเรียนนายเรือต่างก็พากันเดินหนีไม่ยอมกินกัน อาศัยเจ๊กช้างซื้อขนมปังกิน แต่ก็ไม่พอกินเพราะนักเรียนนายเรือตั้งร้อย เรียกว่าสไตรค์กันตรง ๆ นี่แหละ ไปซื้อข้าวกินกันแถวท่าเตียนกันบ้าง ให้เรียนหนังสือก็ไม่เรียน ถามว่าทำไมไม่เรียน บอกว่าไม่มีแรงเพราะไม่ได้กินข้าว กินข้าวไม่อิ่ม เลยออกเที่ยวกันท่าเตียนบ้าง วัดแจ้งบ้าง จนเดือนหนึ่งผ่านไป และนี่เองเป็นเหตุที่เสด็จในกรมจะเข้ามาบัญชาการโรงเรียนนายเรือ
ทูลกระหม่อมบริพัตร ผู้บัญชาการทหารเรือให้คนมาถามว่ามันเป็นอย่างไร ทำไมนักเรียนนายเรือจึงยุ่งก้นนัก ท่านก็เลย … ให้กรมหมื่นชุมพรมาดูแลนักเรียนนายเรือแทน
เสด็จในกรมท่านเรียกประชุมนักเรียนนายเรือ ตรัสถามว่าจะเอาอย่างไร จะทำกินกันเองหรือจะหาพ่อครัวมา
ทูลกันว่า “ทำกินเอง”
ตรัสว่า “เอ้า ตามใจ” …
พระดำรัส “เอ้า ตามใจ” ข้างต้นนี้ หากมองอย่างผิวเผิน อาจเข้าใจไปได้ว่าทรงปล่อยปละนักเรียนให้สามารถเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของตน แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายล้วนชี้ตรงกันว่า หลังจากนั้น เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ได้ทรงเพิ่มความเข้มงวดกวดขันต่อการฝึกศึกษาของนักเรียน ทั้งในด้านเนื้อหาวิชาการและระเบียบวินัย
การทรงเข้าปรับปรุงโรงเรียนนายเรือ นำมาซึ่งการจัดระเบียบวิธีเข้าแถว วิธีจัดโต๊ะกินข้าว การจัดที่นอนนักเรียน การอาบน้ำ การกำหนดการแต่งกาย การลา และการกำหนดเวลาประจำวันของโรงเรียน
หากพูดกันด้วยสำนวนของคนในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเสด็จในกรมฯ ทรงสร้างมาตรฐานใหม่ของความ “เป๊ะ” ให้นักเรียนนายเรือ

นาวาเอก หลวงสำรวจวิถีสมุทร์ หรือ ฟุ้ง พร้อมสัมพันธ์ เจ้ากรมอุทกศาสตร์ ลำดับที่ 5 อดีตนักเรียนนายเรือหมายเลข 75 สำเร็จออกเป็นนักเรียนทำการนายเรือชุดแรกใน พ.ศ 2454 ซึ่งคือช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการทรงออกจากราชการ ได้ถ่ายทอดความทรงจำไว้ในบทความเรื่อง “ชีวิตของนักเรียนนายเรือ สมัยที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนอยู่” เผยแพร่ในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 54 เล่ม 11 ความตอนหนึ่งว่า
… ตอนบ่ายวันพฤหัสหยุดเรียน เพราะมีการตรวจความสะอาดบนตอน อย่างที่เรียกว่า General Inspection นักเรียนต้องจัดเตียงนอนของตนให้สะอาด มีเสื้อผ้าหรือสิ่งของอะไรในหีบต้องเอาขึ้นมาวางบนเตียงให้เรียบร้อยทั้งหมด รองเท้าหนังต้องขัดให้มัน รองเท้าผ้าใบต้องทาฝุ่นให้สะอาด ปืน ร.ศ. ประจำตัวต้องทำความสะอาดไม่ให้มีสนิม ทองเหลืองหุ้มปากกระบอกต้องขัดให้ขึ้นเงา พอถึงเวลาก็มีผู้บังคับการและพวกครูๆ มาตรวจ บางครั้งเสด็จในกรมก็เสด็จมาตรวจบ้าง …
สำหรับโต๊ะกินข้าวโต๊ะที่หนึ่ง หรือ “โต๊ะนักเลงโต” ซึ่งชุมนุมนักเรียนรุ่นใหญ่เอาไว้นั้น พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ได้บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงหลังการทรงเข้ามาจัดการศึกษาใหม่ว่า
… โต๊ะอาหารผู้ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลนั้น ไม่มีอีกแล้ว …
เรื่องราวนี้ สะท้อนถึงการทรงสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นแบบแผน บนหลักเกณฑ์กติกาเดียวกัน สำหรับให้ทุกคนยึดถือเป็นมาตรฐานร่วมอย่างไม่มีการเหลื่อมล้ำ โดยมีการพัฒนาศักยภาพเป็นเป้าหมาย
หลวงสำรวจวิถีสมุทร์ แสดงทัศนะต่อความเข้มงวดหรือลำบากตรากตรำระหว่างการเรียน อันเป็นสิ่งที่นักเรียนนายเรือยุคนั้นต่างเล่าขานอย่างสอดคล้องกันว่า
… การที่ท่านฝึกให้เราอดอยากอดทนนั้น ก็นับว่ามีคุณประโยชน์อยู่มาก หากภายหลังไปพบความยากลำบากอะไรเข้าก็เห็นเป็นของธรรมดา …
แม้จะทรงเข้มงวดกวดขันด้านระเบียบวินัย แต่ก็ทรง “เอ้า ตามใจ” ในบางแง่มุม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะตกแก่นักเรียน จากการทรงตามใจนั้น
… สมัยเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เวลากลางคืนนักเรียนจะดูหนังสือดึกดื่นเท่าไรก็ได้ ไม่มีห้าม ครั้นถึงสมัยเสด็จในกรมหลวงสิงห์ฯ พอเป่าแตรนอนแล้วนักเรียนต้องนอนหมด ใครจะดูหนังสือในห้องเรียนหรือที่ไหนก็ไม่ได้ แม้จะดูในมุ้งก็ไม่ได้ …
ขณะเดียวกัน ความทรงจำอีกมุมหนึ่งของหลวงสำรวจวิถีสมุทร์ ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าจริง ๆ แล้ว เสด็จในกรมฯ อาจมิได้ทรง “ดุ” บรรดาศิษย์อย่างมากมายเป็นกิจวัตร ดังที่งานเขียนพระประวัติบางฉบับได้ฉายภาพเอาไว้
… เขาพูดกันว่าเสด็จในกรมเวลาออกทะเลดุนัก ข้าพเจ้าไม่เคยไปในเรือลำเดียวกับพระองค์ท่านจึงไม่เห็นความดุ …
เสด็จในกรมฯ ทรงจัดระเบียบโรงเรียนนายเรือได้ไม่นาน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับพัฒนาการของโรงเรียนนายเรือ ความบางตอนว่า
… การปกครองโรงเรียนก็เจริญขึ้นเห็นทันตา การที่นักเรียนหลบหนีออกจากโรงเรียนก็เปนอันไม่มีแล้ว … ตามที่จัดได้ถึงเพียงนี้ย่อมนับกว่าเปนการเจริญได้เกินกว่าคาดหมาย แม้แต่คนภายนอกก็มีความนิยมมากขึ้น มีนักเรียนสมัครเข้ามาอยู่เสมอ … การที่เป็นไปได้ถึงเพียงนี้ ก็ต้องอาไศรยผู้ซึ่งได้เล่าเรียนวิชาทหารเรือมาแล้ว แลซึ่งมีน่าที่ราชการอยู่ในตำแหน่งอื่นแล้วนั้นมาช่วยสอนด้วย … แลรองผู้บัญชาการ (หมายถึงเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ) ก็ได้ทรงฝึกสอนเองด้วย แลประกอบทั้งความกวดขัน จึงได้สามารถอำนวยการศึกษาให้สำเร็จไปตามหลักสูตร… รองผู้บัญชาการก็เสด็จไปควบคุมอยู่ที่โรงเรียน ตั้งแต่เวลาเช้า ๒ โมงจนค่ำแล้วทุกวัน …
หนังสือ “100 ปี การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ” ได้สรุปสิ่งที่ทรงจัดปรับปรุงในด้านการปกครองของโรงเรียนนายเรือไว้ว่า ทรงจัดการปกครองแบบเดียวกับการปกครองในเรือรบ กล่าวคือ ทรงแบ่งนักเรียนเป็น 2 แผนก แผนกที่หมายเลขประจำตัวเป็นเลขคู่เรียกว่าแคมซ้าย ส่วนแผนกเลขคอน หรือเลขคี่ เรียกว่าแคมขวา
จากนั้น ก็แบ่งแต่ละแคมออกเป็น 4 ตอน เรียกว่า ตอนหัวเรือ ตอนเสาหน้า ตอนเสาหลัง และตอนท้ายเรือ รวมทั้งสิ้นเป็น 8 ตอน แล้วแต่งตั้งนักเรียนเป็น “กัปตันตอน” ตอนละหนึ่งคน ทำหน้าที่บังคับบัญชานักเรียนอื่นได้ในเวลาที่ที่ไม่มีครูกำกับ และเลือกนักเรียนที่มีความสามารถและประพฤติดี ขึ้นเป็น “หัวหน้ากัปตันตอน” อีกผู้หนึ่ง เพื่อให้เกิดการฝึกการบังคับบัญชาระหว่างกัน
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ทรงจัดให้มีการประชุมกัปตันตอนทุกวันเสาร์ เพื่อออกความคิดเห็นในเรื่องความขัดข้องต่าง ๆ ของโรงเรียน เพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบโรงเรียนให้เหมาะสมก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งการประชุมกัปตันตอนทุกสัปดาห์นี้ นับเป็นครั้งแรก ที่ “ผู้น้อย” ได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อพัฒนาปรับปรุงหน่วยงานที่ตนสังกัด
สิ่งนี้ย่อมสะท้อนได้อย่างแจ่มชัด ถึงการทรงให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงจากผู้ใต้บังคับบัญชา ควบคู่กับการทรงส่งเสริมให้บรรดาศิษย์ของพระองค์มีความคิดเป็นของตัวเอง และกล้าแสดงความคิดของตนออกมาอย่างสร้างสรรค์
พระจริยวัตรเปิดรับความคิดเห็นอย่างพระทัยกว้างเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ทรงกระทำเสมอมา แม้เมื่อทรงมีตำแหน่งราชการและพระอิสริยยศสูงยิ่งแล้ว
วิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทและกิจการทหารเรือไทย สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดย มลิวัลย์ คงเจริญ ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2517 ได้ระบุถึงพระกรณียกิจอย่างหนึ่งของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันแพร่หลายมากนักเอาไว้ว่า
… ใน พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) กระทรวงทหารเรือได้จัดตั้ง “สภาบัญชาการกลางกระทรวงทหารเรือ” ขึ้น เป็นที่ประชุมศึกษาราชการ กำหนดให้มีการประชุมทุกสัปดาห์แรกของเดือน … นอกจากสภาบัญชาการกลางซึ่งเป็นสภาใหญ่แล้ว พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ยังได้ทรงขอมติจากสภาบัญชาการฯ ตั้งสภาย่อยขึ้นอีก 2 สภา คือสภาธุรการ … นอกจากนี้ก็มีสภาการช่าง …
… สภาบัญชาการ ฯ ได้เป็นที่ปรึกษาราชการของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อย่างดียิ่ง … พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั้น ทรงมั่นพระทัยจะดำเนินการไปได้ผลสำเร็จ เพราะพระองค์ได้ทรงระบุเหตุผลในการจัดตั้งสภาบัญชาการกลางทหารเรือ ไว้ดังนี้
… การที่จะมีประชุมกันนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ฟังข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของกรมอื่น ๆ ที่จะดำเนิรต่อไปโดยความพร้อมเพรียงกัน จักได้เป็นโอกาสแสดงความเห็นหรือสอบถามความดำริห์แลโต้แย้ง แนะนำให้เป็นที่แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ..ฯลฯ … ราชการจักดำเนิรเร็วขึ้นประการหนึ่ง กับทั้งทางดำริห์ก็จะเป็นที่มั่นคงขึ้น โดยได้รับความเห็นของกรมอื่น ๆ อีกชั้นหนึ่งด้วยเป็นประการสอง …
รายงานการประชุมแต่ละครั้ง แสดงให้เห็นว่านายทหารเรือไทยต่างก็พยายามใช้ความคิดและความรู้ของตนอย่างเต็มที่ ทั้งมีความเข้าใจถึงหน้าที่และสิทธิของตนเองดี ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงมีอาวุโสสูง และทรงเป็นครูของนายทหารที่เข้าประชุมเป็นส่วนใหญ่ แต่ข้อเสนอของพระองค์ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเสมอไป พระองค์เองก็ทรงระมัดระวังไม่ให้นายหหารอาวุโสน้อยต้องลำบากใจในการแสดงความคิดเห็นว่าจะต้องคล้อยตามผู้ใหญ่ ในกรณีที่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นและออกเสียงเพื่อชี้ขาดในเรื่องที่อภิปรายแล้วยังตกลงไม่ได้นั้น พระองค์ทรงใช้วิธีให้ออกเสียงตามลำดับอาวุโสต่ำสุดขึ้นไปถึงอาวุโสสูงสุด ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ สภาบัญชาการกลางทหารเรือจึงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการในกองทัพเรือได้ดี …
เนื้อหาวิทยานิพนธ์ดังที่คัดมาข้างต้นนี้ บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ มิได้มีพระประสงค์ให้บรรดา “ลูก ๆ” พากันเชื่อฟังและคล้อยตามพระองค์อย่างไม่มีเงื่อนไข หากทรงต้องการให้ศิษย์ของพระองค์มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง กล้าวิเคราะห์ไตร่ตรอง และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นนั้นโดยมุ่งประโยชน์แก่ราชการและส่วนรวม มีขีดความสามารถที่จะใช้ความรู้ความคิด เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ราชนาวีสยามและชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มความสามารถ
การทรง “สร้างคน” ให้มีศักยภาพทางปัญญาเช่นนี้ คงจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้บรรดาศิษย์ที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้ สามารถสืบทอดพระปณิธานในการพัฒนาราชนาวีสยาม อันเป็นสิ่งแน่วแน่ในพระทัยตลอดพระชนม์ชีพ
