“คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมา หรือเก่งอย่างไร คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

Writer : ฑิตยา ชีชนะ

19 June 2020

มุมมอง แง่คิด ชีวิต และพลังใจ จากการศึกษาพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ

“คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมา หรือเก่งอย่างไร คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

คำกล่าวนี้ คือจุดเริ่มต้นของการเสวนาพระประวัติในหัวข้อ “กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นกิจกรรมเสวนาพระประวัติครั้งแรก ในโครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม โดยมี ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร พระนัดดา (หลานปู่) พระทายาทสายตรงผู้ค้นคว้าและเผยแพร่เรื่องราวพระประวัติอย่างจริงจัง พร้อมกับ คุณศรัณย์ ปานทอง นักเขียนมือรางวัลจากสำนักพิมพ์สารคดี ผู้ศึกษาและเขียนหนังสือพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ มาเป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษ เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ค้นคว้าข้อมูลเอกสารชั้นต้นทั้งในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ และยังเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือ พระประวัติฉบับมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาครั้งนี้

สำหรับคำกล่าวข้างต้นนั้น ม.ร.ว.อภิเดชเป็นผู้กล่าวกับคุณศรัณย์ ตั้งแต่เมื่อทั้งสองได้พบกันครั้งแรกเมื่อราว 17 ปีก่อน ซึ่งคุณศรัณย์มีความประทับใจในคำกล่าวนี้ จึงนำไปเผยแพร่ในงานเขียนของตน จนถูกนำไปอ้างอิงซ้ำในสื่ออื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

แม้ว่าความสนใจในการศึกษาและค้นคว้าพระประวัติของ ม.ร.ว.อภิเดชและคุณศรัณย์ จะมีจุดเริ่มต้นและระยะเวลาที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 ท่าน มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในหลายแง่มุม ในการจะถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวแห่งพระชนม์ชีพ

ม.ร.ว.อภิเดช : “… ผมสนใจพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ตั้งแต่ยังเด็ก โดยไม่รู้ตัว ทุกครั้งเมื่อไปที่วัง เราก็ได้ยินผู้ใหญ่เขาพูดกัน … สิ่งที่ท่านพูดกัน ผมกลับจำแม่น แปลว่าเราชอบเรื่องนี้โดยที่ไม่รู้ตัว พออายุราว 16-17 ก็เริ่มสนใจจริงจัง พอไปที่วังก็เริ่มไปค้นของเก่า หนังสือเก่ามาอ่าน …”

ส่วนคุณศรัณย์ แม้จะมีจุดเริ่มต้นในการศึกษาค้นคว้าพระประวัติจากหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็ทำให้ได้พบกับแง่มุมที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

คุณศรัณย์ : “… ประมาณ พ.ศ. 2546 ผมได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ในการนั้นก็ได้อาศัยผู้ที่เคยศึกษาค้นคว้ามาก่อน เช่น พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ รวมทั้งมีโอกาสได้รับความเมตตาจากคุณชายอภิเดช (ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร-ผู้เขียน) ให้เข้าไปพูดคุยสอบถาม จนเกิดคำกล่าวที่พูดถึงในข้างต้น … ซึ่งผมมองว่า นั่นเป็นส่วนที่น่าสนใจมากของกรมหลวงชุมพรฯ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีแง่มุมแบบนี้ในชีวิต คือ มีแง่มุมที่เป็นคนจริง ๆ ที่เคยมีชีวิตอยู่ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ขณะเดียวกันหลังจากสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระองค์เหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมมองว่า 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก …”

จากจุดเริ่มต้นในการสนใจศึกษาและค้นคว้าพระประวัติจนถึงปัจจุบัน ม.ร.ว.อภิเดช และคุณศรัณย์ ต่างนำหลักฐานและข้อค้นพบ มาวิเคราะห์และตีความ เผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือพระประวัติ ซึ่งผลงานเล่มแรกของแต่ละท่านก็ได้แก่ หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ ผลงานเขียนของ ม.ร.ว.อภิเดช และ เสด็จเตี่ย “เกิดมาทั้งทีมันก็มีดีอยู่ที่เป็น” ซึ่งทั้งสองเล่มก็กลายเป็นหนังสือหาซื้อได้ยากแล้วในปัจจุบัน ต่อเนื่องมาถึงหนังสือพระประวัติผลงานล่าสุด ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2563 ของทั้ง 2 ท่าน คือ หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับกรมหลวงชุมพรฯ โดย ม.ร.ว.อภิเดช และ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ : เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ” ของคุณศรัณย์ ซึ่งยังคงนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติในแง่มุมใหม่ ๆ โดยยึดความตั้งใจแรกเริ่มของการค้นคว้าคือ “การนำเสนอพระประวัติและพระปรีชาของเสด็จเตี่ยในฐานะปุถุชน มากกว่าในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

ม.ร.ว.อภิเดช : “… ในหนังสือเล่มนี้ ผมพยายามนำพระดำรัสของพระองค์ที่คนไม่ค่อยรู้ออกมาเผยแพร่ เพราะนี่คือตัวตนของพระองค์เอง พระองค์ทรงคิดอย่างไรกับพระชนม์ชีพของพระองค์เอง …”

ในอีกด้าน คุณศรัณย์ก็มีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป

คุณศรัณย์ : “… ผมพยายามที่จะเล่าพระประวัติของพระองค์โดยมีบริบทแวดล้อมด้วย เพราะไม่อย่างนั้น เวลาคนเล่าพระประวัติของเจ้านาย โดยเฉพาะในธรรมเนียมฝ่ายไทย เราก็มีแต่ว่า เกิดเมื่อไร ถึงปีนั้นได้รับตำแหน่งนี้ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันก็กลายเป็นเหมือนสมุดประวัติของราชการ แต่สิ่งที่ผมพยายามทำก็คือ พยายามที่จะนำบริบทต่าง ๆ กลับเข้ามาในชีวิต ให้เห็นว่าในช่วงนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยโดยรวมบ้าง แล้วกรมหลวงชุมพรฯ ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม ทรงอยู่ตรงไหนในเหตุการณ์เหล่านั้น ทรงอยู่ตรงไหนในสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเหล่านั้นบ้าง …”

นอกจากนี้ คุณศรัณย์ยังได้วิเคราะห์ถึงพระคุณลักษณะของเสด็จเตี่ย ท่ามกลางบริบทของความเปลี่ยนแปลง ในพระชนม์ชีพ ที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน

คุณศรัณย์ : “… พระองค์มีลักษณะของความขัดแย้งในตนเองพอสมควร ซึ่งน่าสนใจมาก จากเจ้าชายของสยาม เมื่อไปถึงยุโรปครั้งแรก พระองค์จะต้อง Culture Shock อย่างหนักมากนะครับ เมื่อโลกทั้งใบมันเปลี่ยนไปหมด ไม่ใช่อย่างที่เคยรู้จักมาก่อน ต้องทำความรู้จักใหม่หมดกับโลกรอบ ๆ ตัว กับผู้คน ภาษา วัฒนธรรม การเรียน พอทรงเจริญวัยขึ้นมา เรียนรู้และคุ้นเคยแล้ว พระองค์เสด็จนิวัตสยามอีก ซึ่งมันก็กลับไปเป็นโลกอีกแบบ …”

จากการค้นคว้าพระประวัติอย่างจริงจังมายาวนาน รวมถึงการได้เข้าถึงข้อมูลและรับฟังเรื่องราวจากบุคคลร่วมสมัยใกล้ชิดกับกรมหลวงชุมพรฯ ส่งผลให้ ม.ร.ว.อภิเดช พระทายาทหนึ่งในราชสกุลอาภากรฯ มีมุมมองในการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

ม.ร.ว.อภิเดช : “… เราได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของพระองค์ว่า ทรงเป็นคนจริง ทำงานจริง ไม่เหลาะแหละ ไม่โกง รักษาชาติจริง ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ทรงขอพระราชทานที่ดินสัตหีบมาเพื่อประโยชน์ของกิจการทหารเรือ โดยไม่ทรงจับจองที่ดินไว้เป็นของพระองค์เองเลย ทรงทุ่มเทให้กับทหารเรือมาก ตั้งแต่ครั้งทรงศึกษา พอสิ่งต่าง ๆ ดำเนินมาได้เข้าที่แล้ว ก็ต้องออกจากราชการ เป็นเรา เราจะคิดอย่างไร แต่พระองค์ก็ทรงอดทนจนเหตุการณ์ผ่านพ้นไป … ผมได้ยินตั้งแต่เด็กนะว่า พระองค์ไม่อยากดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ทรงเคยอธิบายไว้ในจดหมายถึงพระธิดา (ม.จ.จารุพัตรา อาภากร) ว่า เป็นตำแหน่งที่เหงา คือ เป็นตำแหน่งที่สูง ไม่มีเพื่อน ใคร ๆ ที่มาพบก็ตะเบ๊ะ (ทำความเคารพ-ผู้เขียน)พูดเป็นทางการ พระองค์ไม่ได้ปรารถนาสิ่งเหล่านั้น หากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดี พระองค์อยากลาออกไปทำสวนดีกว่า …”

นอกเหนือจากพระคุณลักษณะที่โดดเด่นแล้ว พระปรีชาสามารถในแขนงต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นที่เล่าขานเรื่อยมา และเมื่อนำมาผนวกเขากับคาถาในตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ก็น่าจะเป็นการตอกย้ำให้เราในปัจจุบัน ได้เห็นถึงพระคุณลักษณะอันแจ่มชัดของพระองค์ยิ่งขึ้นไปอีก

คุณศรัณย์ : “… พระองค์มีความสนใจที่หลากหลายมาก และก็สามารถไปได้อย่างสุดทาง ความสนพระทัยในด้านศิลปะ ดนตรี มวย ก็เป็นทางหนึ่งที่นอกเหนือจากการเป็นทหารเรือ ทำให้เห็นว่า ในคาถาประจำพระองค์ “กยิรา เจ กยิราเถนํ : จะทำสิ่งใด ควรทำจริง” ในแง่หนึ่งกรมหลวงชุมพรฯ เป็นตัวอย่างให้เราเห็นได้ว่า ต่อให้คุณจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ถ้าคุณสนใจจริง คุณก็สามารถที่จะมุ่งหน้าไปในทางนั้นได้ และชีวิตคนเราไม่ได้มีมิติเดียว นั่นเป็นอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ในพระประวัติ คนเรามีหลายมิติ หลายแง่มุมมาก ถ้าเราทำจริง ตั้งใจจริงแล้ว ผมคิดว่า มันก็ดีทั้งนั้น …”

การศึกษาและค้นคว้าพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ของทั้ง 2 ท่าน นอกจากจะนำเสนอแง่มุมความเป็นมนุษย์ พระปรีชาสามารถ และการวิเคราะห์ถึงมุมมองที่อาจเป็นความรู้สึกของพระองค์ในช่วงเวลาต่าง ๆ แล้ว เรื่องราวแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ ยังคงมอบคติและแง่คิดให้กับคนรุ่นหลังสืบต่อมา

ม.ร.ว.อภิเดช : “… พระองค์ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา โดยรับสั่งว่า ต้องอดทน ไม่ย่อท้อ ทำจิตใจให้เข้มแข็ง ให้นึกอยู่เสมอว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะทำไม่ได้ ต้องพยายามไว้ก่อน …”

คุณศรัณย์ : “… ผมคิดว่าพระประวัติของพระองค์ทำให้เราเห็นชีวิตได้ พูดง่าย ๆ ก็บอกว่า ชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ ถึงจะเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ชีวิตก็คือความไม่แน่นอน ชีวิตของพระองค์เป็นตัวอย่างให้เราเห็นเลยว่า ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน มันมีอยู่จริง ๆ อย่างในพระนิพนธ์คำร้องเพลงเดินหน้าของพระองค์ที่ว่า ดีเคยพบ ชั่วเคยเห็น จนเคยเป็น มีเคยได้ อนาคตเราไม่รู้ ถึงเราไม่รู้ก็ต้องเดินไป ถ้าจะให้สรุปก็คงคล้าย ๆ กับที่ผมสรุปไปในหนังสือว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด …”

แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมาหลายทศวรรษ แต่พระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ก็ยังคงมีแง่มุมใหม่ ๆ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ และไตร่ตรงเป็นแง่คิด เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ไม่เสื่อมคลาย

——————————————————————

ติดตามการเสวนาพระประวัติครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ในหัวข้อ “เสด็จเตี่ย “องค์บิดา” ของทหารเรือไทย” พร้อมทั้งติดตามเรื่องราวการเสวนาในหัวข้ออื่น ๆ อาทิ เสด็จเตี่ย “นักเลง” แห่งยุคสมัย ผู้สนพระทัยในกฤติยาคม หมอพรกับการแพทย์บูรณาการ หรือเสด็จเตี่ยกับศิลปะนานาแขนง ฯลฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม พ.ศ. 2563

สามารถรับชมย้อนหลัง การเสวนาพระประวัติฉบับเต็มรายการได้ที่ : https://www.facebook.com/hrh.abhakara.120anv.homecoming/videos/1183124005353989/

หรือติดตามคลิปสรุปไฮไลต์จากการเสวนาได้ที่ YouTube ช่อง กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม โดย subscribe เพื่อให้ทราบข่าวสารคลิปใหม่ก่อนใคร ที่: https://www.youtube.com/channel/UCXEWy9WMYORvYepGgOwlrBg

รวมทั้งติดตามและกด see first ที่ Facebook Page กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกร็ดพระประวัติ ร่วมทั้งข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ จากโครงการ ที่ : https://www.facebook.com/hrh.abhakara.120anv.homecoming/

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช