พระราชจริยวัตรในฐานะ "บิดา" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างไร พระราชดำริของพระองค์ต่อ "บุตร" เป็นแบบไหน ? แง่มุมหนึ่งที่เราในปัจจุบันอาจรู้สึกสัมผัสหรือสันนิษฐานได้ คือการมองผ่านเรื่องราวในพระประวัติของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

Writer : นิธิ วติวุฒิพงศ์

23 October 2020

ปิยมหาราชา กับอาภาราชกุมาร

… วันที่ 24 เวลาเช้า เสด็จทรงเรือฉลอม

แล่นใบออกไปประพาสละมุ ที่เขาจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง …

เที่ยวซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้น 3 กษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม

ที่เรียกว่าข้าวต้ม 3 กษัตริย์นั้นคือ ต้มอย่างข้าวต้มหมู

แต่ใช้ปลาทู กุ้ง กับปลาหมึกสด แทรกแทนหมู

เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นในเช้าวันนั้นเอง

ตั้งแต่ฉันเกิดมา ไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย …

การเสด็จพระราชดำเนินในทะเลอ่าวไทยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม ร.ศ. 123 หรือ พ.ศ. 2447 ตามความข้างต้นนั้น เมื่อจินตนาการตามความรับรู้ของพวกเราในปัจจุบัน ก็ชวนให้สันนิษฐานได้ว่านั่นคือหนึ่งในขณะเวลาแห่งความสำราญพระราชหฤทัยอย่างที่สุด เท่าที่มีการบันทึกถึงการเสด็จประพาสภายในพระราชอาณาจักรไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ผู้ถือท้ายเรือฉลอมแล่นใบถวายในเช้าวันนั้น คือพระราชโอรสพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือสมัยใหม่จากอังกฤษ พระนามว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์”

เนื้อความข้างต้น มาจากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกรายละเอียดในการเสด็จประพาสต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยใช้พระนามแฝงและพระสถานะสมมุติว่า “นายทรงอานุภาพหุ้มแพร” ผู้เป็นมหาดเล็กที่ได้ตามเสด็จ ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องราวในรูปแบบจดหมายสำหรับส่งถึงมิตรที่ชื่อ “นายประดิษฐ์”

มูลเหตุของการเสด็จประพาสต้นครั้งนั้น กล่าวกันว่าเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ใคร่จะทรงสบาย ด้วยมีพระราชกิจมาก ทรงพักผ่อนน้อย และมีพระราชกังวล บรรทมไม่หลับ เสวยไม่ได้ แพทย์หลวงถวายความเห็นว่าควรระงับพระราชธุระ เสด็จประพาสเที่ยวไปให้พ้นจากพระราชกิจ ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงเสด็จประพาสด้วย “กระบวนเรือปิกนิก” จากพระราชวังบางปะอินเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ล่องลงใต้ผ่านกรุงเทพฯ ไปทางลำน้ำสายต่าง ๆ ตามแต่พระราชหฤทัยจะเสด็จที่ใด โดยเสด็จไปอย่างเงียบ ๆ ไม่แสดงพระอิสริยยศ มีพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ รวมทั้งข้าราชบริพารตามเสด็จด้วย

วันที่ 23 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับแรมที่เมืองสมุทรสงคราม โดยทรงกำหนดว่าในวันที่ 24 จะเสด็จสู่เพชรบุรีทางทะเล โดยให้กระบวนเรือพระที่นั่งออกจากปากน้ำแม่กลอง แล่นผ่านอ่าวไทยซึ่งในเวลานั้นยังเรียกว่าอ่าวสยามไปเข้าสู่ปากแม่น้ำเพชรบุรีที่อำเภอบ้านแหลม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระดับน้ำส่งผลให้เรือกระบวนสามารถออกสู่อ่าวสยามได้ในเวลาเที่ยง ดังนั้นในตอนเช้า จึงเสด็จโดยเรือฉลอมไปทอดพระเนตรการประมงเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเสด็จกลับมาขึ้นเรือพระที่นั่งที่เมืองสมุทรสงคราม

ทว่าในที่สุด เรือฉลอมพระที่นั่งลำนั้นก็มิได้ย้อนกลับมาสู่เมืองสมุทรสงครามอีก หากแล่นไกลไปในทะเล ตัดอ่าวไปสู่ปากน้ำเพชรบุรี

… เฉพาะเหมาะถูกคราว คลื่นราบลมดี เรือฉลอมแล่นใบลมฉิวราวกับเรือไฟ

เสด็จพระองค์อาภาเป็นกัปตันถือท้ายเรือพระที่นั่ง

แล่นลิ่วออกไปจากปากน้ำแม่กลอง แต่อย่างไรแล่นไกลออกไปทุกที ๆ

นานเข้าพวกเจ้าของเรือเห็นจะออกประหลาดใจแลดูตากันไปมา

ท่านก็ทอดพระเนตรเห็นแต่เห็นท่านยิ้ม ๆ กัน

ฉันออกเข้าใจว่าเห็นจะแล่นใบเลยไปเมืองเพชรแน่แล้ว ดูใกล้ปากน้ำบ้านแหลมเข้าทุกที

พอแล่นเข้าในปากน้ำ ก็พบกรมหมื่นมรุพงศ์ทรงเรือไฟศรีอยุธยา

มาคอยรับเสด็จอยู่ที่ปากน้ำ …

เส้นทางทรงแล่นใบ จากปากน้ำแม่กลองสู่ปากแม่น้ำเพชรบุรี ตามเนื้อหาที่พรรณนาไว้ใน “จดหมายเล่าเรื่องประพาสต้น” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หากกล่าวโดยสรุปด้วยภาษาง่ายๆ แล้ว ในเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประทับเรือประมงชายฝั่งแบบชาวบ้าน มีผู้ตามเสด็จไม่กี่ท่าน หนึ่งในนั้นคือพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ซึ่งทรงถือท้ายเรือแล่นใบนำเสด็จสู่ปากแม่น้ำ พากันไปแวะซื้อของทะเลสด ๆ จากชาวประมงที่พบระหว่างทาง ทรงนำมาคิดประดิษฐ์เมนูใหม่ ทดลองปรุงในเรือเป็นพระกระยาหารเช้าเสวยกันร้อน ๆ ระหว่างแล่นเรือจากปากน้ำแม่กลองออกสู่ทะเล แล่นตัดอ่าวมุ่งสู่ปากแม่น้ำเพชรบุรี

ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความรื่นรมย์เบิกบานและผ่อนคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุรุษสูงวัยผู้ทำงานหนักต่อเนื่องมานาน หรือมิใช่ ?

นายเรือเอก พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
ราชองครักษ์ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในคราวเสด็จประพาสมณฑลกรุงเก่า วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕

พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ยกมาข้างต้นนี้ ไม่ได้เป็นหลักฐานลายลักษณ์เพียงฉบับเดียว ที่บันทึกถึงช่วงเวลา “สำราญพระราชหฤทัย” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชโอรสซึ่งบางครั้งพระองค์จะออกพระนามอย่างลำลองว่า “อาภา”

วันที่ 2 เมษายน ร.ศ.129

… พิธีตรุษนี้จะไปต่อวัน 14 ค่ำ

12 ค่ำ 13 ค่ำ ว่าง คิดจะหาเข้ากินที่นาพญาไทอย่างเช่นครั้งก่อน

ได้บอกดุ๊ก และอาภา พระยาวรพงศ์ พระยาเวียงในไปแล้ว

ให้คิดอ่านจัดการสำหรับกินเข้าเช่นครั้งก่อน …

ช่วงเวลาในพระราชหัตถเลขาข้างต้น คือปีท้ายสุดแห่งพระชนมชีพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะ ร.ศ. 129 ตรงกับ พ.ศ. 2453 ซึ่งเมื่อวันคืนล่วงมาถึงวันที่ 23 ตุลาคม ก็เสด็จสวรรคต

ส่วน “นาพญาไท” หมายถึงนาหลวงแห่งทุ่งพญาไท ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวังสวนดุสิตมากนัก ทุ่งนี้มีคลองขุดแยกจากคลองสามเสนผ่านกลางทุ่งไปบรรจบกับคลองมหานาค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทุ่งพญาไทแห่งนี้หลายประการ เช่น ขยายคลองให้ลึกและกว้างเพื่อชักน้ำได้มากขึ้น รวมทั้งขุดสระใหญ่เก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี สำหรับหล่อเลี้ยงสวนผัก สวนดอกไม้ ฟาร์มปศุสัตว์ และนาหลวงซึ่งรายล้อม “พระตำหนักพญาไท” อันเป็นสถาปัตยกรรมแบบชนบทยุโรป พระองค์โปรดที่จะเสด็จฯ มาประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถที่พระตำหนักแห่งนี้เสมอ ๆ ด้วยโปรดอากาศในทุ่งซึ่งมีลมพัดเย็นสบาย ปลอดโปร่งพระวรกายและพระราชหฤทัย

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงมีพระอัธยาศัยโปรดการเกษตรเพาะปลูก ทรงปลูกผักจนขึ้นงาม ผักของพระองค์จึงได้ขึ้นโต๊ะเสวยที่พระตำหนักพญาไทอยู่เนือง ๆ

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2453

… นอนฝันไปว่ากินมะเขือต้ม เห็นจะเปนด้วยหิวเข้า

เลยนึกอยากไปจริง ๆ ได้สั่งให้อาภาทำที่พญาไทสำหรับกลางคืนวันนี้

คิดอ่านจัดการหุงเข้ากับตาอ้นสักที

ให้เจ้าหาของหวาน ไม่ต้องมีกับเข้าอื่นก็ได้

กินกันจนๆ อย่างในเรือเมล์เสียสักที ให้เตรียมให้ทันในวันนี้ …

หากค้นคว้าจากเอกสารจดหมายเหตุต่าง ๆ เราอาจพบหลักฐานลายลักษณ์ที่เชื่อถืออ้างอิงได้เพียงจำนวนไม่มากนัก ที่กล่าวถึง “ความผูกพัน” ฉัน “บิดากับบุตรชาย” ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ไว้อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตาม หากเราลองแปล “ความหมายระหว่างบรรทัด” ของหลักฐานลายลักษณ์ชิ้นอื่น ๆ อย่างพินิจพิเคราะห์ เราย่อมจินตนาการถึงความผูกพันแน่นแฟ้นดังกล่าวนี้ได้อย่างแจ่มชัด

วันที่  ๙  กรกฎาคม  ร.ศ. ๑๑๒  เพ็ญ ต้นเวร

พระราชหัตถเลขา ถึงพระองค์เจ้าอาภากร

ในการที่หนังสือพิมพ์เวรพระองค์เจ้าบูรฉัตร แลพระองค์เจ้าอาภากร

ต้องเลื่อนสองคราวติดๆ กันนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลายพระราชหัตถ

เป็นการตักเตือนมาถึงพระองค์เจ้าอาภากรว่า

มีความเสียพระไทยในการที่ต้องเลื่อนติด ๆ กันดังนี้

แลก็เป็นการเล็กน้อยไม่ควรจะให้ไม่ทัน

ทำอะไรไม่ควรจะให้คั่งค้าง ควรจะมีความอุตสาหะให้สำเร็จ”

ข้าพเจ้า (ผู้เป็นลูกเวรคราวนี้) เห็นเป็นเครื่องเตือนใจ

จึงได้นำมาลงหนังสือพิมพ์  เพื่อท่านผู้อ่านจะได้จำใส่ใจไว้.

คำว่า “หนังสือพิมพ์” ในข้อเขียนข้างต้น หมายถึง “หนังสือพิมพ์ราชกุมาร” ซึ่งคือหนังสือพิมพ์ที่ออกภายในโรงเรียนราชกุมาร โดยนักเรียนของโรงเรียนแต่ละพระองค์ทรงช่วยกันเขียนเรื่อง และทรงผลัดเปลี่ยนกันรับผิดชอบการเป็น “เวร” คือเป็นบรรณาธิการ สำหรับข้อเขียนข้างต้นนี้ ปรากฏในรูปของ “ข่าว” ที่รายงานในหนังสือพิมพ์

โรงเรียนราชกุมารเป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชประสงค์ เพื่อให้เป็นสถานศึกษาสำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ และหม่อมเจ้าบางพระองค์ ตามสมควรแก่ความเป็นขัตติยราชตระกูล นับเป็นโรงเรียนพิเศษในพระองค์ มีชาวอังกฤษชื่อมิสเตอร์มอแรนต์เป็นผู้จัดการโรงเรียน มิได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงธรรมการเช่นเดียวกับโรงเรียนอื่น ๆ ในยุคนั้น

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเป็นหนึ่งในนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ และทรงได้รับพระราชหัตถเลขาตักเตือน เมื่อหนังสือพิมพ์ในเวรของพระองค์ไม่สามารถเผยแพร่ได้ตรงเวลา

อย่างน้อยที่สุด ข้อเท็จจริงนี้บอกเราได้ใน 2 ประการ ประการแรกคือแม้จะทรงมีพระราชกิจมากมาย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเอาพระทัยใส่ในรายละเอียดเกี่ยวกับการทรงศึกษาของบรรดาพระราชโอรส และประการที่สองก็คือ เมื่อทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่ควรจะทรงตักเตือน แม้จะ “… เป็นการเล็กน้อย …” ก็ทรงไม่ละเลยปล่อยผ่านไป หากพระราชทานคำเตือนไว้เป็นหลักคิดแนวปฏิบัติ “… ทำอะไรไม่ควรจะให้คั่งค้าง ควรจะมีความอุตสาหะให้สำเร็จ …” สำหรับการดำเนินพระชนม์ชีพในภายภาคหน้า

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบสิทธิขาดในการอบรมสั่งสอนและลงโทษบรรดาพระโอรสพระธิดา แก่พระราชมารดาและพระมารดาของแต่ละพระองค์ แต่หากเป็นเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบในหน้าที่ที่พึงมี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็จะทรงกวดขันดูแลเป็นพิเศษด้วยพระองค์เอง

จะเป็นสิ่งนี้หรือไม่ ที่กลายเป็นปัจจัยบรรทัดฐานให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงมีวินัย ความรับผิดชอบ และความแน่วแน่ในหน้าที่แห่งขัตติยะ นับจากทรงพระเยาว์เรื่อยมา

ตราสัญลักษณ์ประจำองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ภายหลังจากพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จจากสยามไปทรงศึกษาอยู่ในอังกฤษเป็นเวลานาน ในที่สุดพระองค์ก็ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระชนกนาถอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2440 ระหว่างเส้นทางเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี โดยมิใช่การไปตามเสด็จประพาสเพื่อสำราญพระหฤทัย หากเป็นการ “… รับราชการตำแหน่งออฟฟิเซอร์ในเรือ อยู่ในบังคับกัปตันคำมิง เพื่อได้เป็นการฝึกหัดในการเดินเรือ …” ซึ่งหมายถึงพระภารกิจการ “ทรงฝึกงานในเรือ” ในฐานะ “นักเรียนนายเรือสยาม” พระองค์แรกพระองค์เดียวในยุคนั้น ดังความในพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ที่ว่า

… ในเวลาที่เขียนหนังสืออยู่นี้ อาภากรกับหลวงสุนทรมาถึง

อาภากรโตขึ้นมากและขาวขึ้น เขาแต่งตัวเป็นมิดชิบแมนมาพร้อมแล้ว

ฉันได้มอบให้อยู่ในใต้บังคับกัปตันเปนสิทธิ์ขาด

เว้นแต่วันนี้เขาอนุญาตให้มากินเข้ากับฉันวันหนึ่ง …

2 สัปดาห์เศษหลังจากนั้น ทรงมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และความก้าวหน้าในการฝึกฝนการเดินเรือของพระองค์ว่า

… เรามาเร็วมากด้วย

กัปตันชมนักว่าอาภากรถือท้ายดีอย่างยิ่ง

วันนี้ถือในที่แคบไม่ได้ส่ายเลย

ดูแกหยอดเต็มที่แล้ว …

คำว่า “ที่แคบ” ในพระราชหัตถเลขา หมายถึงขณะเรือพระที่นั่งแล่นจากทะเลแดงผ่านคลองสุเอซ ส่วน “หยอด” เป็นคำแผลงของชาววังยุคนั้น หมายถึงการชมเชยยกย่องอย่างมาก

ระหว่างบรรทัดของพระราชหัตถเลขาข้างต้นนี้ เราจะปฏิเสธได้หรือไม่ว่า มิได้ฉายชัดด้วยกระแสเสียงแห่งความปลาบปลื้มภาคภูมิในความสามารถของบุตร จากผู้เป็นบิดา

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นพระอภิบาลบรรดาพระราชโอรสที่ทรงกำลังศึกษาอยู่ในประเทศยุโรป มีเนื้อหาบ่งชี้พระบรมราโชบายและพระราชดำริในเรื่องการศึกษาของพระราชโอรสอย่างละเอียดเป็นรายพระองค์

ในพระราชหัตถเลขาดังกล่าว ระบุถึงแนวการศึกษาและพระอุปนิสัยของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ไว้ว่า

… ชายอาภากรนั้นอัธยาศัยเป็นคนซื่อมาแต่เดิม เป็นผู้ที่สมควรแก่วิชาที่เรียนอยู่แล้ว

ไม่เป็นคนที่มีอัธยาศัยที่จะใช้ฝีปากได้ในการฝ่ายพลเรือน

แต่ถ้าเป็นการในหน้าที่อันเดียวกันซึ่งชำนาญ คงจะมั่นคงในทางนั้น

แลตรงไปตรงมา การที่ได้ไปพบในคราวนี้

เห็นว่าอัธยาศัยดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก …

ความในพระราชหัตถเลขานี้ นอกจากจะชี้ชัดถึงพระบรมราชวินิจฉัยในการให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงศึกษาวิชาทหารเรือจน “ชำนาญ” แล้ว ยังสะท้อนถึงสายพระเนตรที่มีต่อพระอุปนิสัยของพระราชโอรสพระองค์นี้ จากคำสำคัญๆ ต่าง ๆ อาทิ “คนซื่อ” “มั่นคง” “ตรงไปตรงมา”

จะเป็นความใส่พระทัยปลูกฝังคุณลักษณะแก่พระราชโอรสตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์หรือไม่ ที่หล่อหลอมพระอุปนิสัยในพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้เป็นดังความในพระราชหัตถเลขาข้างต้นนี้ ?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระองค์
เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ Captain Cumming และนายทหารเรือที่ควบคุมการเดินเรือ
พระที่นั่งมหาจักรี

ในที่สุด หลังการทรงศึกษาอันยาวนาน พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 โดยทรงส่งจากสถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ภายหลังทรงเสร็จสิ้นการศึกษาดูงานในโรงงานตอร์ปิโดของบริษัทไวท์เฮดที่เมืองฟิยูเม ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรีย

ความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ซึ่งทรงเขียนเป็นภาษาอังกฤษนั้น มีอยู่ว่า

… I have now finished all my examinations and education in the way of schooling,

so I am just looking round all the factories which will be useful

in my future service in Your Majesty’s Navy

and also I can safely say that I am ready to return to Siam

and serve Your Majesty as I am always longing for.

Therefore with Your Majesty permission so that I may return to Siam

and that I may do my duties and serve Your Majesty as best I can,

so that I may try to relieve Your Majesty of the anxiety

and troubles over this Naval department,

for I always say, with the honor as Yours Majesty’s servant,

that I always have my greatest desire in like to be of some use to Your Majesty. …

ลายพระหัตถ์ถ่ายทอดพระดำริภายหลังทรงเสร็จสิ้นการทรงศึกษา ดังได้เชิญมาข้างต้นนี้ สามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า

… บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเสร็จสิ้นการสอบและการศึกษาตามระบบทั้งหมดแล้ว

จึงได้ศึกษาดูงานในโรงงานแห่งต่าง ๆ

ตามที่จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติราชการในกรมทหารเรือของข้าพระพุทธเจ้าในอนาคต

อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ามั่นใจที่จะกราบบังคมทูลว่า

ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมแล้วที่จะกลับสู่สยาม

และฉลองพระเดชพระคุณแห่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ให้สมกับที่ข้าพระพุทธเจ้าเฝ้ารอมานาน

ดังนั้น โดยพระบรมราชานุญาต ข้าพระพุทธเจ้าจะเดินทางกลับสู่สยาม

เพื่อปฏิบัติราชการในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

อย่างดีที่สุดเท่าที่ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำได้

ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาความยุ่งยาก

ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่เกี่ยวกับกรมทหารเรือ

ในฐานะข้าแผ่นดินอันน่าภาคภูมิ ดังที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลเสมอมา

ด้วยความปรารถนาแรงกล้าของข้าพระพุทธเจ้า

ที่จะประกอบการงานรับใช้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท …

ความจริงแท้แห่งน้ำพระทัย ดังที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงถ่ายทอดอย่างแน่วแน่แจ่มชัดผ่านลายพระหัตถ์ข้างต้นนี้ เราทั้งหลายในปัจจุบันย่อมประจักษ์แล้วจากพระกรณียกิจมากมายที่ทรงก่อคุณูปการ นับแต่ระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบเนื่องต่อมาตลอดพระชนม์ชีพ อันล้วนเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งยืนยันได้ด้วยหลักฐานมากมาย

แต่หากเราจะตั้งคำถามว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ในฐานะ “บิดากับบุตรชาย” อย่างไรบ้าง บางทีคำตอบอาจจะแฝงอยู่ในพระราชหัตถเลขาถึงช่วงเวลาที่จะทรงสำราญพระราชหฤทัย … นอนฝันไปว่ากินมะเขือต้ม เห็นจะเปนด้วยหิวเข้า เลยนึกอยากไปจริง ๆ ได้สั่งให้อาภาทำที่พญาไทสำหรับกลางคืนวันนี้ …

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอนุสาวรีย์ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ณ โรงเรียนนายเรือ สมุทรปราการ

หรือบางที เราอาจจะอ่านระหว่างบรรทัดถึงความรู้สึกของ “บิดา” ซึ่งทรงมีต่อ “ลูกชายชื่ออาภา” ได้จากความในพระราชหฤทัย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายทอดไว้เป็นลายพระหัตถ์ที่โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449

หลังจากได้ทรงประจักษ์ชัดด้วยสายพระเนตรแล้วว่า พระราชโอรสซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาในวิชาตามที่ต้องพระราชประสงค์นั้น ได้ทรงนำความรู้ความสามารถกลับมาทรงกระทำสิ่งใดให้มาตุภูมิ

… มีความปลื้มใจ

ที่ได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว

จะเปนที่มั่นสืบไปในภายน่า …

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช