เรื่องของลมฟ้าอากาศ ระดับน้ำ ปริมาณฝน อุณหภูมิ หรือแม้กระทั่งความไหวสะเทือนของผืนพิภพ ล้วนเป็นเรื่องรอบตัวของเรา ทั้งยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในหลายมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีใครกี่คนที่ทราบว่า ศาสตร์แห่งการพยากรณ์ความเป็นไปของธรรมชาติในประเทศไทยนั้น มีจุดเริ่มต้นจาก “เสด็จเตี่ย” ของเหล่าทหารเรือ
ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่ 4 ภายใต้โครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “เสด็จเตี่ย ครูผู้สร้างในศาสตร์แห่งลม-น้ำ-ฟ้า”
ผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย พลเรือโท ไชยวุฒิ นาวิกาญจนะ เจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยาคือ คุณสมชาย นุชประมูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล มาเป็นผู้แทนอธิบดี ซึ่งมีภารกิจราชการต้องเดินทางไปต่างจังหวัดกะทันหัน โดยมี คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ค้นคว้าข้อมูลเอกสารชั้นต้นทั้งในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือพระประวัติฉบับมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
อุตุนิยมวิทยา เป็นศาสตร์หนึ่งที่ในอดีตมีความสำคัญสำหรับการเดินเรือในท้องทะเล แต่ในปัจจุบันได้ขยายบทบาทจนเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างยากจะหลีกเลี่ยง แม้จะไม่สามารถสัมผัสได้โดยตรงเด่นชัดก็ตาม
คุณสมชาย: “… ภารกิจของกรมอุตุฯ จริง ๆ แล้วก็เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของการตรวจอากาศ เฝ้าระวัง รายงานสภาวะอากาศ พยากรณ์อากาศ ให้บริการข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาแก่ประชาชนและกิจการต่าง ๆ … ในส่วนของพยากรณ์ เราก็พยากรณ์ เตือนภัย ทั้งพายุ คลื่นลม ฝนตกหนัก น้ำท่วม อะไรที่มันจะเป็นอันตราย… ทางกรมอุตุฯ ก็จะทำหน้าที่ในเรื่องของการตรวจพยากรณ์และการติดตาม แล้วก็รายงานให้ประชาชนได้รู้ได้เข้าใจ แล้วก็เตรียมตัวในการหลบหลีกจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ นะครับ …”
เฉกเช่นเดียวกันกับงาน อุทกศาสตร์ ที่แม้จะดูไกลตัวคนทั่วไปมากกว่างานอุตุ ฯ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการเดินเรือ ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นแฟ้น อาทิ เรื่องของการสำรวจแผนที่ทางทะเล การดูแลบำรุงรักษากระโจมไฟ ทุ่นไฟ ประภาคาร ทั้งในทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน รวมถึงการดูแลเรื่องระดับน้ำขึ้น-ลงในแต่ละวัน ตามที่เราเคยได้ยินรายงานทางวิทยุ แต่ในอีกด้านหนึ่งกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือยังมีหน้าที่ในการรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย ให้มีความเที่ยงตรงสอดคล้องกับเวลามาตรฐานของโลกอีกด้วย
จากวิชา “ไฮโดรกราฟฟี” ที่เสด็จเตี่ยทรงบรรจุเพิ่มในหลักสูตรการเรียนและการฝึกของนักเรียนายเรือ เมื่อครั้งที่ทรงปรับปรุงหลักสูตร จากเดิมที่สอนให้ “เดินบนเรือ” จนเป็นหลักสูตรที่ทำให้นักเรียนนายเรือสามารถ “เดินเรือ” ได้ไปทั่วมหาสมุทรรอบโลก นับเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์โดยชาวสยาม ในประเทศสยาม
พลเรือโท ไชยวุฒิ: “… พระองค์ท่านก็ทรงปรับปรุงหลักสูตรของนักเรียนนายเรือทั้งหมด มีวิชาหนึ่งก็คือวิชาไฮโดรกราฟี ซึ่งก็คือว่าด้วยอุทกศาสตร์นั่นเอง พร้อมกันนั้นท่านก็ใส่วิชาตรีโกณมิติทรงกลม ตรีโกณมิติ กับวิชาด้านการสำรวจอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วยนะครับ … แล้วพระองค์ท่านก็ทรงสอนเองด้วย เพราะพระองค์ท่านทรงคิดว่าต้องสอนให้นักเรียนนายเรือทำแผนที่ได้เอง ให้คนไทยสามารถทำแผนที่ได้เอง … เป็นจุดเริ่มให้มีการพัฒนาหลักสูตรกันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน …
…. พวกเราข้าราชการกรมอุทกศาสตร์ หรือนักเรียนนายเรือที่จบจากโรงเรียนนายเรือ ได้เรียนวิชาไฮโดรกราฟีนี่แหละครับ ซึ่งก็จะแตกแขนงไปเรื่อย ๆ พวกเราก็นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาในสายงานด้านการทำแผนที่ งานสำรวจ งานสมุทรศาสตร์ งานอุตุนิยมวิทยา นี่ก็เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงวางไว้…”
เสด็จเตี่ยไม่เพียงทรงปรับปรุงหลักสูตร โดยทรงกำหนดให้นักเรียนนายเรือเรียนวิชาอุทกศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงเป็นผู้สอนวิชาเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง อาจจะเพราะสยามประเทศในเวลานั้น ยังไม่มีชาวสยามผู้ใดอื่นอีกแล้ว ที่มีความรู้ในวิชาเหล่านี้เพียงพอที่จะสอนคนอื่นได้
คุณสมชาย: “… ต้องยอมรับว่าแม้แต่ปัจจุบัน เราไม่มีวิชาเอกอุตุนิยมวิทยาในมหาวิทยาลัยไทย หรืออาจารย์สอนวิชาอุตุนิยมวิทยาก็ไม่มีในประเทศไทย … มันต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ในการสอน การปลูกฝัง แล้วก็ต้องให้ผู้เรียนไปเรียนรู้ ไปสั่งสมประสบการณ์ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ต้องใช้เวลา บุคลากรแต่ละคนถึงจะมีความรู้ที่จะไปปฏิบัติงาน ไม่ว่าในเรื่องของการตรวจ พยากรณ์ วิเคราะห์ ติดตาม เฝ้าระวัง …”
วิชาอุทกศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มไว้นั้น ได้แตกแขนงแผ่ขยายและเติบโตงอกงามตามกาลสมัย โดยการพัฒนาสืบทอดจากลูกศิษย์ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของพระองค์เป็นคนแรก คือพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ซึ่งในเวลาต่อมา ศิษย์เสด็จเตี่ยท่านนี้เป็นชาวสยามคนแรกที่เขียนตำราอุตุนิยมวิทยาเป็นภาษาไทย สำหรับใช้เป็นแบบเรียนวิชาอุตุนิยมวิทยาฉบับแรกของประเทศสยาม อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนให้นายทหารเรือรุ่นหลังไปศึกษาด้านการอุตุนิยมวิทยายังต่างประเทศอีกด้วย
คุณสมชาย: “… ข้าราชการของกรมอุตุฯ สมัยก่อนก็สังกัดกองทัพเรือ ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ถูกสอนโดยตำราของท่าน … จากนั้นก็เป็นการถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น ส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ เพราะวิชาอุตุฯ มันไม่มีสถาบันใดสอน …”
พลเรือโท ไชยวุฒิ: “… เสด็จในกรมฯ ท่านทรงมองว่าทหารเรือจะต้องไปออกเรือ ออกทะเล จึงต้องรู้คลื่น รู้ลม รู้สภาพอากาศต่าง ๆ นะครับ แต่พอวิทยาการอุตุนิยมวิทยานี้อยู่ในกองทัพเรือนาน ๆ เข้า มันก็เริ่มที่จะจำเป็นต้องขยายตัว …
… แล้วเทคโนโลยีหรือวิวัฒนาการด้านการอุตุนิยมวิทยามันเป็นสากลแล้ว จึงต้องแยกออกจากกองทัพเรือไป … กรมอุตุฯ จึงได้ขยายงาน เจริญเติบโต จนกระทั่งปัจจุบันก็สามารถทำนายได้ตั้งแต่ภาคเหนือ จนสุดภาคใต้ จนถึงต่างประเทศ จะมีฝนมีพายุอะไรเข้ามา การเตือนภัยต่าง ๆ เหล่านี้มันคือหน้าที่ของกรมอุตุฯ ซึ่งมาจากพื้นฐานของการอยู่ในกองทัพเรือ ที่พระองค์ท่านทรงวางรากฐานไว้ก่อน ถ้าไม่มีตรงนี้ กรมอุตุฯ ก็ไม่เกิด แล้วก็ขยายตัวจนกระทั่งปัจจุบัน …”
จากรากฐานที่เสด็จเตี่ยได้ทรงริเริ่มไว้ บัดนี้ได้กลายเป็นรากฐานอันมั่นคง ที่สามารถต่อยอดและพัฒนาให้เท่าทันและทัดเทียมกับนานาชาติ อีกทั้งยังสามารถเตรียมรับมือกับเหตุทางธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
คุณสมชาย: “… กิจการอุตุฯ จนถึงปัจจุบันนี่ นับจากที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้ ตอนนี้มันกระจายไปทั่ว เกี่ยวข้องกับทุกมิติ ในเรื่องความปลอดภัย หรือในด้านความมั่นคงก็จำเป็นต้องใช้เหมือนกัน ทางการทหารก็นำไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ นะครับ …
… เรามีการตรวจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติทั้งหมด และก็มีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนได้รับรู้รับทราบ เพราะพวกนี้มันเป็นภัย ถ้าเกิดแล้วเสียหายใหญ่หลวง ไม่ว่าจะพายุ ตอนนี้มาแล้วอยู่ไหน เคลื่อนตัวไปทางไหน ความเร็วเท่าไหร่ คาดว่าอีกกี่วันจะเข้าตรงไหน เรารู้ก่อน เราแจ้งเตือนก่อน ประชาชนก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดี ก็จะเอาไปขยายต่อ เอาไปดำเนินการต่อ ในเรื่องของการป้องกันเตือนภัยต่าง ๆ …
… เรามีเรดาร์ที่สามารถตรวจฝน จับฝนได้ว่าฝนเคลื่อนตัวฝั่งนี้ ทางทิศนี้ ความเร็วเท่านี้ คาดว่าอีกชั่วโมงจะเข้าที่จังหวัดไหน เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่เขาตากมันสำปะหลัง ตากข้าวโพด หรือข้าวต่าง ๆ เขาจะรู้และเก็บทัน ถ้าเกิดมาแล้วไม่รู้ล่วงหน้า เขาเก็บไม่ทัน เสียหาย ซึ่งในส่วนนี้เรามีสถานีวิทยุของเรา AM 1สถานีที่กรุงเทพ แล้วก็ FM 5 สถานี ซึ่งเราก็มีหน้าที่กระจายข่าวข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา มีการติดตามฝน รายงานลักษณะอากาศให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ มีข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในแง่ของสถิติ 30 ปี ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ เอาไปใช้ได้ ประชาชนมาขอก็เอาไปใช้ได้ …
… สนามบินต่าง ๆ เราก็จะมีเจ้าหน้าที่ของเราตรวจอากาศให้การบิน เวลาขึ้นลง นักบินเขาต้องรู้ว่าความกดอากาศเท่าไหร่ อุณหภูมิเท่าไหร่ ถ้าเกิดตรวจผิดจะมีผลทันที เวลาเครื่องบินลงมันจะมีการกระแทกพื้น หรือมีอันตราย …”
ตลอดช่วงพระชนม์ชีพของเสด็จเตี่ย พระองค์ทรงวางรากฐานองค์ความรู้ไว้ในวิทยาการหลากหลายแขนง ประทานให้คนรุ่นหลังรับช่วงสืบสานและพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ พระกรณียกิจเหล่านี้เป็นที่ตราตรึงในใจของผู้ศรัทธาในพระองค์เรื่อยมา ดังคำที่พลเรือโท ไชยวุฒิได้กล่าวในช่วงท้าย
พลเรือโท ไชยวุฒิ: “… กองทัพเรือมีความมั่นคงมาถึงปัจจุบันนี้ ต้องบอกว่าพระองค์ได้ทรงวางรากฐานไว้ ถ้าเราไม่มีพระองค์ ผมว่ากองทัพเรือยุคนั้นก็ยังไม่มั่นคง ยังเป๋ไปเป๋มา … สิ่งใดที่ท่านทรงให้กับลูกศิษย์ ท่านให้เต็มที่ ทรงให้กองทัพเรือเต็มที่ นี่คือสิ่งที่อยู่ในความรู้สึกของผมนะครับ ที่ผมรับราชการมา ผมก็ยึดมั่นในพระองค์ท่านมาตลอด …”
ดิน ฟ้า อากาศ ลม น้ำ หรือพายุฝน อาจเป็นเรื่องที่ใครบางคนมองไม่เห็นถึงความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับชีวิตของเรา เท่ากับเรื่องจำเป็นเฉพาะหน้าอื่น ๆ อีกหลายด้าน แต่การเรียนรู้และหยั่งรู้ถึงความเป็นไปของธรรมชาตินั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญตั้งแต่สำหรับคุณภาพและสวัสดิภาพในชีวิต จนถึงเป็นกลไกเกื้อหนุนให้สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า
ฉะนั้น จึงคงกล่าวได้ว่าศาสตร์แห่งลม-น้ำ-ฟ้า ซึ่งเสด็จเตี่ยทรงเป็นครูผู้สร้างขึ้นไว้ในโรงเรียนนายเรือสยาม ได้ก้าวไกลจากราชนาวีสู่ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์รายรอบตัวเราในทุก ๆ วัน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยพื้นฐานด้านข้อมูลความรู้คู่การดำรงชีวิตก็คงจะว่าได้