ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงเวลาที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงรับราชการทหารเรือนั้น พระองค์ทรงสร้างรากฐานในหลากหลายสิ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือไทยให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศ
ในจำนวนนั้น มีอยู่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทหารเรือ และพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ได้ทรงแสดงบทบาทสำคัญ นั่นคือพระกรณียกิจใน “กองดับเพลิง” ทั้งการทรงพัฒนาขีดความสามารถและทรงนำการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง

ณ ช่วงเวลานั้น ทั้งสองฝากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองน้อยใหญ่ บ้านเรือนของผู้คนในเมืองหลวงยังสร้างด้วยไม้และมุงหลังคาด้วยจากเป็นส่วนมาก ยามเกิดไฟไหม้จึงลุกลามรวดเร็ว กรมทหารเรือยุคนั้นสามารถแสดงบทบาทในการดับเพลิงทั่วพระนครได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการสัญจรทางน้ำยังเป็นการคมนาคมสายหลักที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว สามารถใช้เรือเดินทางไปยังชุมชนต่าง ๆ ได้สะดวกคล่องตัว อีกทั้งกรมทหารเรือมีเรือสูบน้ำและเรือกลไฟเล็กอยู่แล้ว สามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย

กล่าวกันว่าการระงับเหตุในระยะแรก ๆ นั้น ยังไม่มีแบบแผนแต่อย่างใด กระทั่งเมื่อพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเข้ารับราชการ การปรับปรุงกองดับเพลิงจึงเกิดขึ้น โดยมีการจัดบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบงานแต่ละส่วน ได้แก่ กองถัง กองขวาน กองผ้าใบกันแสงเพลิง กองรื้อและตัดเชื้อเพลิง กองช่วย กองพยาบาล และต่อมาภายหลังก็ได้เพิ่มกองสายสูบขึ้นอีกหนึ่งกอง อีกทั้งยังทรงจัดให้มีการฝึกซ้อมให้เกิดความชำนาญอีกด้วย
ต่อมาเมื่อทรงปรับปรุงการเรียนการสอนของโรงเรียนนายเรือ ก็ทรงจัดให้มีกองดับเพลิงในโรงเรียนนายเรือด้วย ดังที่ พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ได้เล่าเผยแพร่ในหนังสือที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลิงศพของตัวท่านเองไว้ว่า
… เพื่อจะให้นักเรียนมีความกล้าหาญ ได้ทรงตั้งกองดับเพลิงขึ้น ประกอบด้วยหมวดสูบน้ำดับเพลิง (เป็นหน้าที่ของนักเรียนนายช่างกล) หมวดผ้าใบบังกันความร้อน หมวดถังสังกะสีตักน้ำสาดเพลิง หมวดขวานสำหรับรื้อถอน หมวดพยาบาล และหมวดช่วยเหลือทั่ว ๆ ไป เวลาเพลิงไหม้ ไม่ว่าที่ใดและเวลาใดในเขตพระนครและธนบุรี กองดับเพลิงจะต้องไปทำการดับทั้งสิ้น มีพระองค์ท่านบัญชาการ
การดับเพลิงนี้ เป็นที่ชอบใจและวางใจของราษฎรมาก เพราะนักเรียนตัวเล็ก ๆ แคล่วคล่องว่องไว มีมารยาทและวัฒนธรรมดี จึงไม่เป็นที่รังเกียจในการช่วยเหลือผู้คน และช่วยขนย้ายเข้าของ
เพื่อความพร้อมเพรียงและว่องไว พระองค์ทรงให้เป่าแตรเหตุสำคัญบ่อย ๆ นักเรียนจะต้องรีบขึ้นไปแต่งตัวด้วยเครื่องสนามโดยเร็ว แล้วเข้าแถวตามตอนคอยคำสั่งต่อไป การนี้ดูออกจะเกรียวกราวและคึกคักมาก ถ้าใครล้าหลังหรือช้ามาก เป็นหวังได้รับหางเชือก …
ในเรื่องเดียวกันนี้ นาวาเอก หลวงสำรวจวิถีสมุทร์ (ฟุ้ง พร้อมสัมพันธ์) เจ้ากรมอุทกศาสตร์ ลำดับที่ 5 ได้เคยเล่าไว้ในนิตยสาร “นาวิกศาสตร์” ปีที่ 54 เล่ม 11 เช่นเดียวกัน
… 1600 เลิกเรียนรับประทานอาหาร ต่อจากนี้ก็เป็นเวลาของนักเรียน จะเล่นกีฬาหรือดูหนังสือแล้วแต่ความพอใจ แต่บางวันตอนเย็นหลังอาหารมีการหัดพิเศษ เช่น หัดดับเพลิง หัดปีนกำแพง โดดลงจากกำแพง นักเรียนนายเรือสมัยนั้นนับว่ามีชื่อเสียงในการดับเพลิง เกิดเพลิงไหม้ที่ไหนต้องไปดับเกือบหมดทั้งโรงเรียน อยู่เฝ้าโรงเรียนเฉพาะตัวเล็ก ๆ ไม่กี่คน
หน่วยดับเพลิงของโรงเรียนมี 2 พวก พวกหนึ่งมีขวานเพื่อปีนพังทลายอาคาร ไม่ให้ไฟลุกลามมาติดต่อ อีกพวกหนึ่งมีถังน้ำเพื่อช่วยตักน้ำจากคูข้างถนนหรือคลองมาดับ หน่วยดับเพลิงที่อื่นในสมัยนั้นยังไม่เห็นมีใครจัด เห็นมีแต่บริษัทไฟฟ้าเอารถบรรทุกน้ำแล่นไปตามรางรถราง ถ้าไฟไหม้ใกล้ทางรถรางก็พอช่วยได้เพราะกำลังฉีดน้ำแรง …
แม้จะมีพระอิสริยยศสูงศักดิ์ แต่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ก็ทรงบัญชาการและทำการดับเพลิงด้วยพระองค์เองโดยไม่ถือพระองค์ และทรงปฏิบัติการด้วยความเข้มแข็งและจริงจัง โดยไม่ห่วงพระวรกายแม้แต่น้อย ดังที่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตำบลบ่อนหัวเม็ด ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2443 ซึ่งคือราว 6 เดือนหลังทรงเริ่มรับราชการ
… พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ได้คุมพลทหารเข้าดับเพลิงทางด้านวัดบพิธพิมุข ได้ทรงปีนหลังคาและทำการรื้อเพื่อจะตัดต้นไฟด้วยพระองค์เอง จนประชวนพระวาโยถึงสองพัก ต้องแก้ไขกันอยู่ช้านาน
การที่พระองค์อาภากรได้ทำการโดยแข็งแรงเช่นนี้ ควรจะได้รับพระราชทานบำเหน็จ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่นายทหาร พลทหารสืบไป …

สอดคล้องกับพระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง พระธิดา ที่ได้ทรงเล่าไว้
… เสด็จพ่อทรงสนพระทัยมาก ทรงเล่าให้ฟัง เวลามีไฟไหม้ที่ไหนให้แจ้งมาที่วังก่อนที่อื่น หลับหรือตื่นไม่ต้องคำนึงถึง จะลุกขึ้นแต่งพระองค์ทันที เครื่องแต่งพระองค์ดับเพลิงพร้อมท็อปบูต ฯลฯ จะตั้งอยู่ที่ปลายพระแท่น ในเวลาไม่ถึงอึดใจก็จะลงเรือเร็วและไปถึงที่เพลิงไหม้ เสด็จขึ้นบงการดับเพลิงเอง
ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2449 ไฟไหม้ที่ฝั่งธน เกิดเคราะห์ร้ายทรงพลาดตกกำแพงลงมา ถึงต้องหามเข้าโรงพยาบาลประชวรอยู่เกือบหนึ่งเดือนเต็ม หม่อมกิมมารดาข้าพเจ้าต้องไปลอยเรือจอดหน้าพระราชวังเดิมกรมทหารเรือทำเครื่องเสวย เพราะเสด็จพ่อไม่เสวยหมูเลยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เสวยแล้วประชวรทุกที …
พระกรณียกิจการทรงร่วมระงับเหตุเพลิงไหม้ ดังที่ได้หยิบยกมาข้างต้นนั้น ล้วนเกิดขึ้นในระหว่างการทรงรับราชการครั้งแรก อันเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเข้ารับราชการได้ไม่นาน ทรงเป็นนายทหารหนุ่มฉกรรจ์ จึงทรงเป็นแบบอย่างสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างกว้างขวาง จากการปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเพื่อยังประโยชน์สู่สาธารณชนวงกว้าง กระทั่งทรงเป็น “เสด็จเตี่ย” ของทหารเรือทั้งหลาย
แต่เรื่องราวพระประวัติหลายฉบับกลับไม่ได้บันทึกไว้ว่า แม้ระหว่างการทรงรับราชการครั้งหลัง ซึ่งทรงพระชนมายุมากขึ้น และทรงดำรงตำแหน่งเป็นถึงเสนาธิการทหารเรือแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงปรากฎหลักฐานที่เสด็จเตี่ยทรงร่วมระงับเหตุเพลิงไหม้ด้วยพระองค์เอง ในคราวที่เกิดอัคคีภัยในห้องสำหรับเก็บตอร์ปิโด ซึ่งอยู่ใต้ห้องกะลาสีของ “เรือพิฆาตตอร์ปิโดหลวงเสือทยานชล” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2461
ในวันนั้น เรือเสือทยานชลผูกทุ่นลอยลำอยู่บริเวณหน้าวัดวัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อทราบเหตุเพลิงไหม้ นายทหารและทหารจากเรือที่จอดอยู่ใกล้เคียงกัน คือเรือพระที่นั่งมหาจักรีและเรือพิฆาตตอร์ปิโดหลวงเสือคำรณสินธุ์ รวมทั้งเรือสูบน้ำของกองเรือกล ต่างมาช่วยกันดับไฟด้วยการใช้หัวสูบฉีดน้ำลงไปทางประตูช่องทางขึ้นลงห้องกะลาสีซึ่งมีควันพวยพุ่งออกมา โดยไม่มีผู้ใดลงไปดูเหตุการณ์ในห้องกะลาสีเลย
กระทั่งจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ กับเสด็จเตี่ย ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศและพระอิสริยศักดิ์ที่ นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ พร้อมด้วยนายพลเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร จเรทหารเรือ เสด็จมาถึงเรือเสือทยานชล เสด็จเตี่ยได้เสด็จลงไปในห้องกะลาสี ทำให้ทรงทราบว่าน้ำที่ฉีดลงไปนั้นไม่ตรงกับห้องที่เพลิงไหม้ จึงทรงลากสายสูบไปฉีดน้ำให้ถูกที่ด้วยพระองค์เอง จากนั้นเมื่อทรงทราบว่ายังมีผู้ติดอยู่ในห้องที่ไฟไหม้นั้นอีก ก็ทรงเตรียมจะเสด็จเข้าไปในห้องนั้นเพื่อประทานความช่วยเหลือ แต่ทหารประจำเรือเสือคำรณสินธุ์ชื่อจ่าตรีบุญ ทูลอาสาลงไปเองเสียก่อน เสด็จเตี่ยจึงทรงเอาผ้าเช็ดพระพักตร์ชุบน้ำผูกปากและจมูกประทานจ่าตรีบุญเพื่อป้องกันควัน จากนั้นทรงใช้เชือกผูกเอวจ่าตรีบุญไว้และทรงถือหางเชือกด้วยพระองค์เอง แล้วจึงทรงให้จ่าตรีบุญลงไปในห้องที่ไฟไหม้
เอกสารรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ฯ ได้บันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ช่วงนี้เอาไว้ว่า

… ถึงแม้ได้มีสูบกองเรือกลขั้น 4มาช่วยแล้วก็ดี แต่ก็ไม่มีผู้ใดถือสายสูบลงไปฉีดน้ำในห้องที่เพลิงไหม้นั้นได้ คงได้แต่ฉีดน้ำอยู่ตรงช่องประตูห้องเท่านั้น จึงไม่อาจดับเพลงซึ่งไหม้อยู่ข้าง ๆ ห้องนั้นได้ ต่อเมื่อ พ.ร.ท.ฯ เสนาธิการทหารเรือได้เสด็จลงไปในห้องเพลิงไหม้ด้วยพระองค์เอง จึงได้ทรงเห็นน้ำที่ฉีดจากประตูไม่ถูกตรงที่เพลิงไหม้ จึงรับสั่งให้ลากสายสูบลงไปฉีดข้างล่าง
ระหว่างนี้ พ.ร.ท. เสนาธิการทหารเรือเสด็จมาถึงตรงประตูห้องกะลาสี เมื่อได้ทรงทราบว่ายังมีคนอยู่ข้างในห้องนั้น ก็เตรียมพระองค์จะลงไปช่วยคน ทันใดนั้นจ่าตรีบุญ 2457/ท.ร.1 ส.69 ประจำการ ร.พ.ล.เสือคำรณสินธุ์ได้กราบทูลขออาษาลงไปช่วยคนโดยความเต็มใจของจ่าตรีบุญเอง พ.ร.ท.ฯ เสนาธิการทหารเรือจึงได้เอาผ้าเช็ดพระภักตร์มาทรงผูกปากแลจมูกจ่าตรีบุญ เพื่อกันควันเพลิง แลได้เอาเชือกผูกบั้นเอวจ่าตรีบุญไว้ด้วย ได้ทรงถือหางเชือกไว้แลเสด็จตามจ่าตรีบุญลงไปด้วย…
เหตุการณ์นี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่แจ่มชัด ถึงพระอุปนิสัยของ “เสด็จเตี่ย” ที่ไม่แปรผันตามวัย กาลเวลา หรือยศถาบรรดาศักดิ์ นั่นคือการที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของการกล้าเผชิญต่อภัยอันตราย มุ่งรักษาประโยชน์ของส่วนรวมยิ่งกว่าตนเอง อีกทั้งยังทรงเป็นผู้นำที่เคียงบ่าเคียงไหล่ทหารทุกระดับชั้น ไม่ละทิ้งผู้น้อยให้เผชิญภัยตามลำพัง อันเป็นพระจริยวัตรที่คนรอบข้างล้วนประจักษ์กันเสมอมา สมดังพระสมัญญานาม “องค์บิดาของทหารเรือไทย”
