ระหว่างกิจกรรมเสวนาพระประวัติของโครงการ หัวข้อ “สรรพวิชาและอาคม ในกรมหลวงชุมพรฯ” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น นาวาตรีภากร ศุภชลาศัย ทายาทของหม่อมเจ้าจารุพัตรา พระธิดาในกรมหลวงชุมพรฯ ได้บอกเล่าถึงการที่พระองค์ทรงนำวิชาความรู้ในด้านวิชาอาคม มาทรงประยุกต์ใช้ในการปกครองและสร้างการยอมรับ ไว้ว่า
“… พวกทหารเรือสมัยโบราณนี่เกเร เกกมะเหรก ไม่มีคนคุม … แล้วก็เป็นนักเลง ซึ่งกรมหลวงชุมพรฯ ท่านก็ใช้วิชาเหล่านี้ (หมายถึงศิลปะการต่อสู้และคาถาอาคม) ในการทำงาน … พวกนักเลงจะรักและเคารพใครได้นั้น ก็ต่อเมื่อผู้นั้นเหนือกว่าตัว …”

ก่อนที่กรมหลวงชุมพรฯ จะทรงเข้ามาปรับปรุงพัฒนากิจการทหารเรือ เรื่อยมาจนถึงระยะต้น ๆ ของการทรงรับราชการนั้น “ทหารเรือ” นับว่าเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร ชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือและเสนาบดีกระทรวงทหารเรือพระองค์แรก ทรงนิพนธ์ความทรงจำเอาไว้ว่า
“… เวลานั้นพลทหารเรือก็เก่งเกะกะมาก เวลาขึ้นบกพกมีดเหน็บทุกคน พอเมาแล้วก็มีเรื่องวิวาทชกตีกับตำรวจและพลเรือน มีเรื่องอื้อฉาวบ่อย ๆ …”
ความ “เก่งเกะกะ” ดังพระนิพนธ์ข้างต้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากความคับแค้นใจบางอย่าง ดังข้อเขียนของพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ศิษย์รุ่นแรก ๆ ของกรมหลวงชุมพร ฯ ที่เล่าถึงอาชีพทหารเรือยุคเก่าว่า
“… คนไทยยังไม่นิยมทางทะเล กลัวเมาคลื่น ประกอบกับมีความยากลำบากต่าง ๆ ตลอดจนภัยธรรมชาติทางทะเล และพากันหาว่าเป็นนายทหารเหล่าต่ำ เพราะเวลานั้นทหารเรือมักจะถูกไปทำงานโยธาตามวังเจ้านาย และงานหลวงคล้ายกับกรรมกรเป็นส่วนมาก …”
นอกจากจะเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับความนิยมแล้ว ภายในกิจการทหารเรือเองก็ยังมีความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และยังมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอยู่ ดังปรากฏความตอนหนึ่งในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์โดย พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ความว่า
“… การปกครองบังคับบัญชาในสมัยนั้น … แยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าตามเชื้อชาติและสังกัดเดิม ขนาดแคลนผู้บังคับบัญชาชั้นใกล้ชิดที่มีการศึกษาทันสมัย นายทหารฝรั่งที่เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไป ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง …”
นอกจากพูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างทหารเรือไทยกับนายทหารเรือฝรั่งยังมีแง่มุมเชิงลบในด้านอื่น ๆ อีก ดังที่พลเรือเอกประพัฒน์ได้เคยเรียบเรียงบทความไว้ขณะยังเป็นพลเรือโท และเผยแพร่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิง นาวาเอก ประเสริฐ เดี่ยววานิช เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2439 ซึ่งคือราว 4 ปี ก่อนที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงนิวัติมาตุภูมิเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ เอาไว้ว่า
“… (ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสชวา) พลทหารเรือที่ตามเสด็จ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ว่า ได้รับความลำบากเพราะอาหารเน่าเสียและมีปริมาณน้อย ทั้งยังต้องถูกนายทหารฝรั่งทุบตบต่อยด้วย … พลตรี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น … ถวายความเห็นประกอบว่า … ข้อเดือดร้อนที่ต้องฝรั่งตบตีนั้น ข้อนี้เปนการยากด้วยฝรั่งมันดูถูกไทย ทำเอาตามลำพังใจ ครั้นว่าเราจะไม่รับฝรั่งเปนนายเรือก็ไม่ได้ ด้วยคนไทยยังไม่มีใครรู้วิชาเดินเรือ …”
เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่พลเรือเอกประพัฒน์ค้นคว้าและถ่ายทอดไว้นี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงสถานะแห่งเกียรติและศักดิศรีของทหารเรือไทย ในยุคก่อนกรมหลวงชุมพรฯ ทรงรับราชการ
แม้เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ทรงรับราชการแล้วในระยะแรก ก็ยังมีบรรยากาศความไม่ลงรอยกันระหว่างนายทหารเรือรุ่นใหม่และรุ่นเก่าอยู่เนือง ๆ ดังที่หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม ทรงบันทึกไว้อีกตอนว่า
“… นายทหารเรือที่สำเร็จเป็นนายทหารใหม่ ๆ มักดูหมิ่นพวกนายทหารเรือเก่า ๆ ที่เป็นแขก (มุสลิม / จาม / มอญ) ว่าไม่มีความรู้ ทูนหม่อมไม่โปรดที่จะให้ผู้น้อยหมิ่นผู้ใหญ่ จึงสั่งให้นายทหารเรือรุ่นใหม่นำเรือออกไปฝึกซ้อมบริเวณอ่าวไทยในความควบคุมของนายทหารเรือผู้ใหญ่รุ่นเก่า …
นายทหารหนุ่มเป็นผู้ทำการเดินเรือ นายทหารผู้ใหญ่เป็นคนดู นายทหารหนุ่มจะเข้าจอดเรือในบริเวณหนึ่ง แต่นายทหารผู้ใหญ่ห้ามเพราะมีหินโสโครก เรือจะติด พวกนายทหารหนุ่มไม่เชื่อ อ้างว่าในแผนที่ไม่มี นายทหารผู้ใหญ่ก็ทัดทานว่า ในแผนที่ไม่มีจริง แต่หินใต้น้ำมันมี รู้ได้เพราะเดินเรือมามากแล้ว นายทหารหนุ่มไม่เชื่อนำเรือเข้าไปจอด เรือก็ติด
เมื่อติดแล้วก็นำเรือออกไม่ได้ น้ำก็กำลังลง เรือจะหักกลางลำ นายทหารเรือผู้ใหญ่ต้องทำการแก้ไขเดินเรือเอง จึงได้ถอยเรือออกจากเขตอันตรายได้ ตั้งแต่นั้นมานายทหารหนุ่มก็รู้สึกว่า ‘ความรู้กับความชำนาญนั้นผิดกัน’ …”
การรับราชการในกรมทหารเรือของกรมหลวงชุมพรฯ เริ่มต้นเมื่อทรงมีพระชันษาไม่ถึง 20 ปี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ทรงต้องรับภาระอันหนักหลายด้าน ดังมีหลักฐานเอกสารราชการที่ยืนยันไว้ เท่ากับว่าทรงต้องเผชิญกับปัญหา “องค์บุคคล” ทั้งความไม่เป็นระเบียบและความไม่ลงรอยกันในหมู่ทหารเรือ รวมทั้งปัญหาภาพลักษณ์ของวิชาชีพที่ไม่สู้ดีนัก ซึ่งย่อมมีส่วนเชื่อมโยงกับขีดความรู้ความสามารถของบุคลากรในวิชาชีพ เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนากิจการทหารเรือให้รุดไปข้างหน้า
ควบคู่กับการทรงประยุกต์ใช้ความรู้ที่ทรงฝึกศึกษามาจากต่างประเทศ พระองค์ก็ทรงใช้วิธีต่าง ๆ ในการสร้างเอกภาพ ปลูกฝังค่านิยมและระเบียบวินัยในหมู่ทหารเรือไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำราบความ “เฮี้ยว” ของบรรดาทหารเรือ ด้วยความ “เฮี้ยวกว่า” นำมาซึ่งการยอมรับนับถือจาก “พระจริยวัตร” ของพระองค์เอง

ดังที่นาวาตรีภากร ศุภชลาศัย ได้กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความว่า “… พวกนักเลงจะรักและเคารพใครได้นั้น ก็ต่อเมื่อผู้นั้นเหนือกว่าตัว …” จึงปรากฏเป็นเรื่องเล่าในเกร็ดพระประวัติถึงพระจริยวัตร “นักเลง” ในการปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของพระองค์อยู่เสมอ ๆ
ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่าคำ “นักเลง” นั้น ความหมายที่ถูกต้องแต่ดั้งเดิมไม่ได้มีสื่อถึงพฤติกรรมอันธพาลหรือผู้เกะกะระราน แต่มีความหมายถึงผู้มีจิตใจกว้างขวาง เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ทำอะไรทำจริง กล้าได้กล้าเสีย และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด
ดังนั้น เมื่อพินิจถึงเรื่องราวมากมายในเกร็ดพระประวัติ เราจึงย่อมเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็น “นักเลง” ที่ทรงทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาขีดความสามารถ สร้างระเบียบวินัยและจรรยา รวมทั้งความรักใคร่สามัคคีเป็นเอกภาพในหมู่ทหารเรือไปพร้อม ๆ กัน
และในบางคราว เมื่อทหารเรือโดนนักเลงโต (กว่า) จากภายนอกมารังแก พระองค์ก็เสด็จไปปรามความเฮี้ยวของนักเลงผู้นั้นถึงถิ่น ดังความรับรู้ของพันเอกขุนแผน กระหม่อมทอง ผู้เติบโตมาในวังนางเลิ้งว่า
“… ครั้งหนึ่งมีนักเลงโตบ้านขมิ้น มักจะรังแกทหาร และอาละวาดขึ้นทุกที ท่านจึงลงเรือจ้าง นายพรานคนที่เคยติดตามแจวท้าย ท่านแต่งองค์นุ่งโสร่งถือไม้ตะพด พอถึงท่าเรือจึงถามว่าคนไหนนักเลง นักเลงคนนั้นก็ปรากฏตัวนี่แหละนักเลง ท่านจึงลงมือเอาไม้ตะพดตีหัว และสั่งสอนว่าอย่าเที่ยวรังแกคนอื่น …”
บ้านขมิ้น เป็นชื่อชุมชนใกล้วัดระฆังโฆสิตาราม บริเวณคลองบ้านขมิ้น ซึ่งคือแนวคูเมืองกรุงธนบุรีในอดีต จึงเป็นย่านใกล้เคียงกับ “โรงหล่อ” หรืออู่ทหารเรือและกรมทหารเรือในยุคนั้น
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า การที่ทรงนุ่งโสร่งเสด็จลงเรือไปเพียงลำพังกับไม้ตะพดในพระหัตถ์ แทนที่จะทรงเลือกใช้วิธีอื่น เช่น แจ้งพลตระเวนให้ไปจัดการตามกฎหมาย หรือสั่งให้ทหารกองระงับเหตุ (คือสารวัตรทหารในปัจจุบัน) ไปป้องปราม หรือแม้แต่การเสด็จพร้อมผู้ติดตามอย่างสอดคล้องกับพระอิสริยยศนั้น เป็นเพราะไม่ได้ทรงมีพระประสงค์จะเอาเรื่องให้เป็นคดีความ มากไปกว่าเพียง “สั่งสอนเตือนสติ” หรือ “ปราม” นักเลงผู้นั้นให้ยำเกรง มากกว่าหวาดกลัวในพระอิสริยยศ
หรืออาจจะเป็นกุศโลบายในพระทัย ที่จะทรง “มอบอุทาหรณ์” ให้บรรดาทหารได้ตระหนักว่า จิตใจแบบ “คนจริง” ที่แน่วแน่ไม่กลัวภัย ย่อมยังความหาญกล้าน่ายำเกรงได้ โดยไม่ต้องอาศัยยศศักดิ์ พวกพ้อง หรืออาวุธในมือ
พระจริยวัตร “คนจริง” ของพระองค์ ยังสะท้อนผ่านการวางพระองค์ในหมู่ทหาร ซึ่งแม้พระสถานะของพระองค์จะสูงด้วยพระอิสริยศักดิ์ แต่ก็ทรงร่วมทำการงานต่าง ๆ กับบรรดาทหารอย่างไม่ถือสูงต่ำ ใหญ่น้อย หรือเหน็ดเหนื่อยเปรอะเปื้อน โดยไม่ถือพระองค์ว่าทรงเป็นเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชา ดังความทรงจำของนาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า
“… เกิดเรือรั่วขึ้น เจ้าพ่อ (กรมหลวงชุมพรฯ) สั่งให้เอาข้าวสารที่ใส่กระสอบไว้ ไปอุดที่รูรั่ว3-4 กระสอบ เมื่ออุดแล้วก็ยังรั่วอยู่ แต่เบาลงครึ่งหนึ่ง เจ้าพ่อสั่งให้เอาถังสังกะสีประมาณ 10 ใบมา สั่งให้เรียงแถววิดน้ำเรือหมดคน ฉันด้วย (ฉันด้วย คือพระองค์ท่านด้วย) …”
“… เจ้าพ่อสั่งให้ช่วยกันขนของที่ค้างอยู่ มีปืนเล็ก ปืนใหญ่ และของอื่น ๆ เอาไปไว้ที่โรงทหาร สั่งว่า ให้ขนของหมดคน ฉันด้วย …”
“… อาหารมีข้าว 1 หม้อ แกง 1 ถ้วย ใส่ฝาหม้อ ปลาเค็ม 1 ชิ้นวางบนข้าวมี 3 อย่างเท่านั้น รับเหมือนกันหมดตลอดถึงพลทหาร และเจ้าพ่อก็เสวยอย่างเดียวกัน …”

ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงสร้างความนิยมและความศรัทธาแก่วิชาชีพทหารเรือ ให้เกิดขึ้นกับสังคมวงกว้างควบคู่ไปด้วย หนึ่งในพระกรณียกิจเหล่านั้นก็คือการทรงจัดตั้ง “กองดับเพลิง” ขึ้นในโรงเรียนนายเรือ เพื่อให้นักเรียนออกให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านเมื่อยามเกิดเหตุอัคคีภัย ส่งผลให้ทหารเรือกลายเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตามที่พระยาหาญกลางสมุทร ได้เล่าเป็นข้อเขียนเผยแพร่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของตัวท่านเองไว้ว่า
“… การดับเพลิงนี้ เป็นที่ชอบใจและวางใจของราษฎรมาก เพราะนักเรียนตัวเล็ก ๆ แคล่วคล่องว่องไว มีมารยาทและวัฒนธรรมดี จึงไม่เป็นที่รังเกียจในการช่วยเหลือผู้คน และช่วยขนย้ายเข้าของ …”
ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการที่ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ทรงกระทำ ควบคู่ไปกับการทรงสร้าง “องค์บุคคล” ให้มีความรู้ความสามารถในการที่จะเป็น “นายเรือ” อย่างแท้จริง สามารถบังคับบัญชาคนไทยด้วยกันได้เอง เพื่อนำเรือเดินทางสู่น่านน้ำต่างประเทศได้จริง ด้วยสรรพกำลังและองค์ความรู้ของตนเอง เป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งสายตาของชาวสยามและชาวต่างชาติ
ดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2461 ความว่า
“… เมื่อ 10 ปี ล่วงมานี้แล้ว ทหารเรือเกือบจะเป็นทหารแต่ชื่อเท่านั้น แท้จริงเป็นเพียงกุลีลูกเรือ หรือคนแจวเรือเลว ๆ มาบัดนี้มีกิริยาอาการ และวินัยเป็นทหารและใจก็เป็นทหาร ซึ่งเป็นพยานปรากฏว่า ในทางรักษาวินัย และปกครองดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก เช่นนี้จะว่าไม่ได้เจริญขึ้นละหรือ ?…”
“… เมื่อ 10 ปีมาแล้ว บรรดาผู้บังคับการเรือหลวงเป็นชาวต่างประเทศโดยมาก, แต่มาบัดนี้ผู้บังคับการเป็นคนไทยทุกลำ และบางนายก็ได้เคยนำเรือไปในท้องทะเลไกล ๆ ได้ชื่อเสียงแล้วก็มี ส่วนในราชการสงคราม ทหารเรือก็ได้สำแดงปรากฏแล้วว่าสามารถทำการได้อย่างพรักพร้อม เรียบร้อยดีเป็นที่น่ายินดีและภูมิใจยิ่งนัก ดังนี้ข้าพเจ้าเห็นควรกล่าวได้ว่า ราชนาวีได้เจริญขึ้นเป็นลำดับโดยแท้ …”
จึงอาจกล่าวได้ว่า พระจริยวัตรและพระปรีชาสามารถของพระองค์มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างให้ทหารเรือในยุคนั้น เป็นทหารเรือที่มีความรู้ ความสามารถ และมีเกียรติมีศักดิ์ศรี สมกับการเป็นกำลังพลแห่งราชนาวีไทย ทั้งยังเป็นที่รักใคร่ของประชาชน เกิดความเป็นเอกภาพ มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สมดังสัญลักษณ์ “ดอกประดู” ที่บานพร้อมกันและโรยไปด้วยกัน ตามที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้ในบทเพลงที่ทหารเรือต่างขับร้องร่วมกันมาจนถึงทุกวันนี้
