จากพระคุณลักษณะของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ทรงโปรดการเรียนรู้ ทดลอง และพิสูจน์ สู่ความสนพระทัยศึกษาอย่างจริงจังทาง “ไสยศาสตร์” จนเกิดเป็นเรื่องเล่าน่าอัศจรรย์ สร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่คนรุ่นหลัง แต่อะไรคือ “หัวใจ” ของการศึกษาไสยศาสตร์ในแบบฉบับกรมหลวงชุมพรฯ

Writer : ฑิตยา ชีชนะ

31 October 2020

“หัวใจ” แห่ง “ไสยศาสตร์” ในแบบฉบับกรมหลวงชุมพรฯ

กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระสถานะหลากหลาย แตกต่างกันไปตามบริบทในแต่ละห้วงเวลา ทั้งพระสถานะที่ทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเรียนอังกฤษ นายทหารเรือ หมอ จิตรกร นักธรรมชาติวิทยา ผู้อุปถัมภ์วงดนตรี นักแต่งเพลง เจ้าสำนักมวยไทย ฯลฯ

แม้พระองค์จะทรงมีพื้นฐานการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ควบคู่การปลูกฝังค่านิยมแบบเด็กชายชาวอังกฤษ เมื่อครั้งเสด็จทรงไปศึกษาวิชาวิชาพื้นฐานและการทหารเรือที่อังกฤษตั้งแต่พระชันษาเพียง 13 ปี แต่ข้อเขียนจากความทรงจำของบุคคลต่าง ๆ กลับบันทึกถึงความสนพระทัยในด้าน “ไสยศาสตร์” ไว้หลายฉบับ

หากมองจากมุมของคนในยุคปัจจุบัน การที่พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาศาสตร์ลี้ลับนั้นอาจดูเป็นเรื่องแปลก จากพื้นฐานการศึกษาและค่านิยมดังกล่าวข้างต้น แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต ณ บริบทสยามในยุคสมัยก่อนพระองค์ไม่นาน จะเห็นได้ว่า “วิชาไสยศาสตร์” เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมในหมู่ชายไทยที่มีการศึกษาตั้งแต่สามัญชนจนถึงเจ้านาย ดังปรากฏในพระนิพนธ์ “ความทรงจำ” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งทรงสนพระทัยศึกษาวิชาไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน

“… ส่วนตัวฉันเอง จะเป็นใครแนะนำก็จำไม่ได้เสียแล้ว เกิดอยากเรียนวิชาอาคม คือวิชาที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรีด้วยเวทมนตร์ และเครื่องรางต่าง ๆ มีผู้พาอาจารย์มาให้รู้จักหลายคน ที่เป็นตัวสำคัญนั้นคือนักองวัตถา น้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา … การศึกษาวิทยาคมในครั้งนั้น เชื่อถือเป็นการจับใจมาก โดยเฉพาะเด็กกำลังรุ่นหนุ่มเช่นตัวฉัน ด้วยได้ฟังเขาเล่าเรื่องและบางทีทดลองให้เห็นอิทธิฤทธิ์ …”

หรือแม้กระทั่ง “เทียนวรรณ” ปัญญาชนชาวสยาม ผู้เป็นนักคิดนักเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4-6 ก็มีความสนใจและศึกษาในวิชาไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน

“… ครั้นเติบโตขึ้น ได้เล่าเรียนไสยสาตร์ มนตราอาถันต์ แลฟังคำท่านบิดาเลี้ยง แสดงคุณแห่งพระรัตนไตรยว่า ผู้ถึงสระณาคมอาจป้องกันผีสางปรางควาน แลสรรพภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ จิตร์ใจก็เชื่อมั่นในคุณแห่งพระรัตนไตรย แลเชื่อวิทยาอาคม … จึ่งกระทำให้ดวงจิตร์หายความหวาดหวั่น หายกลัวผีสางไปได้ โดยที่เชื่อคุณพระรัตนไตรย แลเชื่อวิทยาอาคม เวทมนตร์ ต่าง ๆ …”

บทความทางวิชาการเรื่อง “ตำราไสยศาสตร์ในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์” โดย พสิษฐ์ อิทธิปรัชญาบุญ ได้กล่าวถึงคุณค่าและความหมายของวิชาไสยศาสตร์ในสังคมสยามไว้ว่า

“… เหตุที่การศึกษาวิชาไสยศาสตร์หรือคาถาอาคม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับสังคมไทยสมัยโบราณ ประการแรกคือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่พึ่งยึดเหนี่ยว บำบัดความหวาดหวั่นในภัยอันตราย ประการต่อมาคือการใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับปัญหาที่ยังไม่สามารถหาความรู้หรือวิทยาการอื่นที่ดีกว่ามาแทนที่ได้ในยุคสมัยนั้น นอกจากนี้ยังเชื่อว่าไสยศาสตร์สามารถอำนวยผลสัมฤทธิในทางโลก อันเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงปรารถนา ดังมีคำพังเพยว่า ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา

… วิชาไสยศาสตร์เป็นความรู้และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจเร้นลับเหนือธรรมชาติ คนไทยโบราณเชื่อว่า ที่มาของความศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจพิเศษดังกล่าว มีที่มาจาก 2 ทาง ได้แก่ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ … คือการยอมรับว่ามีบางสิ่งอยู่พ้นไปจากความสามารถที่จะรับรู้ได้โดยประสาทสัมผัส … นอกจากความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว วิชาไสยศาสตร์ยังเป็นความรู้ว่าด้วยวิธีการสร้างฤทธิ์อำนาจขึ้นในตน โดยเชื่อว่าบุคคลสามัญอาจใช้ “ความรู้” จากการศึกษา หรือการฝึกฝนอบรมจิตให้แก่กล้า จนสามารถควบคุมและใช้อำนาจจิตพิเศษนั้นให้เป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งอำนาจจิตทางไสยศาสตร์นี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการฝึกสมถกรรมฐาน ในอดีตชายไทยที่บวชเรียนตามประเพณีมักได้ความรู้ชนิดนี้ติดตัวไป …”

ในพระนิพนธ์ฉบับเดียวกับที่อ้างถึงข้างต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถ่ายทอดถึงธรรมเนียมการ “บวชเรียน” ของเจ้านายแต่โบราณไว้ว่า

“… เจ้านายที่ทรงผนวชแต่พรรษาเดียว ไม่มีเวลาพอจะเรียนคันถธุระ จึงมักเรียนวิปัสสนาธุระอันเป็นการภาวนา … และนับถืออีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรียนวิปัสสนาธุระชำนาญแล้ว อาจจะทรงคุณวิเศษในทางวิทยาคม เป็นประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนวิชาพิชัยสงคราม …”

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เจ้านายรุ่นพระราชโอรสแทบทุกพระองค์เสด็จไปทรงศึกษายังต่างประเทศ ด้วยจุดประสงค์ที่จะนำความรู้ที่ทันสมัยกลับมาพัฒนาสยาม จึงย่อมไม่ทรงมีโอกาสทรงศึกษาไสยศาสตร์ อันเป็นวิชาที่มีประโยชน์ด้านการอุ้มชูจิตใจและแก้ไขปัญหาบางอย่างที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบได้ นอกจากนั้น บริบท “การเปลี่ยนเป็นตะวันตก” ของยุคสมัย ก็ย่อมทำให้การศึกษาวิชาอาคมค่อย ๆ เริ่มเสื่อมความนิยมลง

ในบรรดาพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ดูเหมือนจะมีกรมหลวงชุมพรฯ เพียงพระองค์เดียวที่ทรงเป็นข้อยกเว้น

พระคุณลักษณะที่ทรงโปรดการศึกษา เรียนรู้ ทดลอง และพิสูจน์อย่างจริงจัง อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลพระทัยสำคัญให้กรมหลวงชุมพรฯ ทรงศึกษาด้านไสยศาสตร์หลากแขนง จนเป็นที่ประจักษ์ของบุคคลรอบข้าง ดังความตอนหนึ่งจากพระนิพนธ์ใน ม.จ. เริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา ความว่า

“… ทรงสักยันต์ทั้งองค์ตั้งแต่หนุ่ม ๆ เช่น สักหนุมาน สักลิงลมที่พระชงฆ์สำหรับเดินเร็ว ใครตามแทบไม่ทัน … นอกจากนี้ ยังมีกระดูกหน้าผากแม่นาคพระโขนง คาดไว้ที่บั้นพระองค์ ไม่ทราบว่าใครนำมาถวาย …”

นอกจากนั้น ในพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ มักจะปรากฏชื่อของพระเถราจารย์ 2 รูปที่พระองค์ทรงนับถือและไปมาหาสู่อย่างสม่ำเสมอ คือ พระครูวิมลคุณากร หรือหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และพระครูประศาสน์สิกขกิจ หรือหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ ซึ่งล้วนเป็นพระเถราจารย์ผู้มีชื่อเสียงในด้านมนตราและไสยเวทย์

แม้พระปรีชาทางด้านไสยศาสตร์ของกรมหลวงชุมพรฯ นั้น จะถูกบอกเล่าผ่านเหตุการณ์ในทำนอง “เหนือธรรมชาติ” เป็นส่วนใหญ่ โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ผู้เล่าแต่ละท่านจะถ่ายทอดไว้ แต่หากพินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เรื่องเล่าทุกสำนวนล้วนมีสาระสำคัญร่วมกันประการหนึ่ง นั่นก็คือ พระองค์ทรงศึกษาวิชาอาคม บนพื้นฐานที่ทรงศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดังที่ไม่เคยปรากฏหลักฐานหรือคำบอกเล่าใด ๆ ในทำนองว่า ทรงใช้วิชาไสยศาสตร์ในทางที่สร้างผลร้ายต่อผู้อื่น อันเป็นการสร้างบาปให้แก่ตัวผู้กระทำ

อีกทั้งยังทรงสั่งสอนเน้นย้ำให้พระโอรสธิดาดำรงพระองค์อยู่ในศีลธรรมอันดี ดังที่พระองค์ทรงสอน ม.จ.เริงจิตรแจรง ถึงวิธีที่จะทำให้ร่ำรวยไว้ว่า

“… ให้รู้จักหา รู้จักใช้ และรู้จักเก็บ และอย่าไปเอาของจากใครโดยได้จากน้ำตาของเขา (คือเอาสิ่งของที่เขาหวงแหน) เพราะเราต้องชดใช้กรรมที่ทำเขาเสียใจ …”

หรือการให้พระโอรสบรรพชาเป็นสามเณรรักษาทศศีลอย่างจริงจัง กับหลวงพ่อพริ้งและหลวงปู่ศุข

กระทั่งการทรงพาพระโอรสและพระธิดาไปศึกษาให้ตระหนักรู้ถึงความไม่เที่ยงของกายสังขาร โดยการพิจารณาอสุภะ ตามคำบอกเล่าของ ม.จ.เริงจิตรแจรง ที่ว่า

“… เสด็จพ่อพาลูก ๆ ไปปลงศพ (เปิดฝาโลงดู) เมื่อมีคนตายตั้งแต่วันแรก ทรงสอนให้พิจารณาปลงอนิจจัง ท่านบอกว่าดูไว้นะว่าคนตายวันแรกแล้วเป็นอย่างนี้ พออีกวันก็เปลี่ยนไป ท่านให้ดูถึง 3 วัน แต่ละวันท่านถามว่าเป็นอย่างไร หน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร พวกพี่น้องผู้ชายตอบไม่ค่อยได้ ข้าพเจ้าเป็นคนตอบท่าน เสด็จพ่อบอกว่าพาไปดูเพื่อให้รู้จักปลง วันที่ 3 ทนไม่ไหวชักมีกลิ่นจึงพร้อมใจกันขอประทานเลิกดู …”

ไม่เพียงจากคำบอกเล่าของพระธิดาเท่านั้น “เขตร ศรียาภัย” อดีตนักมวยในพระอุปถัมภ์ของพระองค์ก็ได้เคยเล่าถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่ควบคู่กับการศึกษาวิชาอาคมของพระองค์ไว้เช่นเดียวกัน โดย ม.ร.ว.อดิศรเดช สุขสวัสดิ์ ผู้เป็นศิษย์วิชามวยของครูเขตร ได้ถ่ายทอดความทรงจำไว้ว่า

“… ที่คุณครูเขตรกล่าวถึงเป็นพิเศษนี่ คือท่านบอกว่าสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องมันตราของพระองค์ท่านนั้น คือเรื่องของ container ครับ … คุณครูเขตรบอกว่าพระองค์ท่านนี่ คนไปพูดถึงมันตราของท่านว่า ท่านเก่งอย่างนั้นอย่างนี้แต่คุณรู้ไหมว่าท่านปฏิบัติธรรม แล้วธรรมะที่ท่านเน้น ที่คุณครูเขตรพูดถึงก็มีอยู่ 2 ประการ ที่ผมจำได้นะครับ คือท่านพูดเรื่องสัจจะ พระองค์ท่านนี่ถือเรื่องสัจจะ แล้วท่านเน้นอีกอย่างคือความกตัญญู ท่านบอกว่าเป็นคนต้องเน้นเรื่องความกตัญญู ถ้าไม่มีคุณธรรมอย่างน้อยที่สุด 2 ประการนี้ ถึงจะมีมันตราก็ไม่อาจจะรักษาเอาไว้ได้ คือคุณครูพูดในเรื่องของ container ซึ่งคนมักพูดถึงพระองค์ท่านในความสามารถทางมันตรา แต่ไม่ค่อยได้กล่าวขวัญถึงสิ่งที่จะโอบอุ้มให้มันตราอยู่กับเรา คุณครูเขตรก็เล่าเสริมว่า ดังนั้นนักมวยที่มาอยู่กับท่านนี่ จะเป็นครูมวยเก่งมาจากที่ไหน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถ uphold คุณค่ามันตรานี้ไว้ได้ ถ้าไม่มี container ที่ดี ก็เก็บไว้ไม่อยู่ …”

รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ คงจะสะท้อนให้เห็นถึงอีกแง่มุมในพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ในพระสถานะของผู้ที่เลื่อมใสและศรัทธาในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งทรงเชื่อในผลของ “กรรม” อันเป็น “หัวใจ” สำคัญที่ทำให้เกิดผลไม่ว่าจะในทางกุศลหรืออกุศล

การศึกษาไสยศาสตร์บนพื้นฐานความศรัทธาในหลักคำสอนทางพุทธศาสนานั้น อาจจะเป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็น “เจ้านาย” ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเถราจารย์มากมายหลายรูป ซึ่งล้วนเป็นที่สักการะอย่างสูงในยุคสมัยนั้น

คุณวิเศษของไสยศาสตร์กฤตยาคมนั้นขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ” และ “ประสบการณ์” เฉพาะบุคคล จึงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ยาก แต่บุคคลรอบข้างที่ถ่ายทอดความทรงจำไว้ ล้วนยืนยันสอดคล้องกันว่า “การศึกษาและทดลอง” ของกรมหลวงชุมพรฯ นั้น มีผลลัพธ์ที่พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า “เป็นจริง”

กรมหลวงชุมพรฯ ทรงประสบความสำเร็จในการทรงศึกษาวิชาไสยศาสตร์ จนทรงสามารถ ”สร้างฤทธิ์อำนาจขึ้นในตน” ขึ้นได้จริงในสายตาบุคคลรอบข้าง แต่ก็ไม่ปรากฏเลยว่า ทรงเคยใช้พระปรีชาในศาสตร์แขนงนี้เพื่อ “อำนวยผลสัมฤทธิในทางโลก” หรือดำเนิน “เล่ห์กล” ต่อผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช