นับเป็นบุญตาที่ได้เห็นภาพนี้ จะเห็นได้ว่าพระวรกายเล็กและบางกว่าพระสหายมาก ทรงต้องอดทนฝ่าฟันมากเพียงใดในการฝึกทหารที่หนักหน่วงกับต่างชาติต่างภาษา ทั้งเผชิญอากาศที่หนาวเย็นอย่างยิ่งในท้องทะเล จะทรงผ่านการ “บูลลี่” มาหนักหนาสาหัสเพียงใดที่พระวรกายทรงเล็กกว่า พระพักตร์และสีผิวไม่เหมือนพระสหาย กว่าจะทรงเป็นที่ยอมรับและกลับมาถ่ายทอดศาสตร์แห่งทะเลให้แก่ทหารเรือไทยได้

Writer : พลเรือตรีหญิง ดร.อารยา อัมระปาล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ

4 December 2020

เบื้องหลังการค้นพบใหม่ พระรูปกับเหล่าพระสหาย ใน Royal Naval College

ใน พ.ศ. 2559 การค้นคว้าของคณะทำงานเกี่ยวกับเสด็จเตี่ยและชีวิตของพระองค์ขณะศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ได้นำไปสู่การค้นพบภาพหนึ่งโดยบังเอิญ ขณะที่นั่งเปิดดูนิตยสาร The Navy and Army Illustrated ช่วงปี 1898-1899 ไปเรื่อย ๆ ในห้องอ่านหนังสือของ Naval Maritime Museum ณ ประเทศอังกฤษ

สหราชอาณาจักร ในฐานะประเทศมหาอำนาจทางทะเล เก็บงำเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีอายุนานกว่า 100 ปีของตนไว้อย่างดี เมื่อทำเรื่องขอเบิกนิตยสารมาชมด้วยจุดมุ่งหมายจะเห็นสภาพการทำงานของกองทัพเรืออังกฤษ ช่วงที่พระองค์ศึกษาอยู่ สภาพหนังสือยังดีเยี่ยม ต้องรอให้บรรณารักษ์หยิบออกมาส่งในพื้นที่  ๆ กำหนด จะหยิบ จับ อ่าน ต้องระมัดระวังและอยู่ในสายตาของบรรณารักษ์ที่จับตามอง (อยู่เรื่อย ๆ) เพื่อไม่ให้ขีดเขียน หรือทำร้ายหนังสือ เขาสนับสนุนให้ทุกคนมาค้นคว้า และถ่ายรูปได้อย่างไม่จำกัด เพื่อการต่อยอดเชิงวิชาการ ทุกคนต้องลงนามชัดเจนว่าใช้ในการส่วนตัว ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ลักษณะเดียวกับหอจดหมายเหตุของเรา

The Navy and Army Illustrated คือนิตยสารที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของกองทัพบกและราชนาวีอังกฤษ เป็นบทความสั้น ๆ เน้นภาพที่น่าตื่นตาเพื่อเล่าเรื่องพัฒนาการใหม่ ๆ ความเป็นมาเป็นไป ข่าวการรบ การศึกษา บางครั้งมีเรื่องเล่าเชิงบุคคล นิตยสารก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1895 ตอนต้นออกทุกสองสัปดาห์ แต่ช่วงหลังเป็นที่นิยมเลยออกทุกสัปดาห์ โดยเลิกไปในปี 1915 คาดว่าเป็นเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อุบัติขึ้นใน ค.ศ. 1914

ในนิตยสาร The Navy and Army Illustrated, November, 11th, 1899. หน้า 207 มีภาพตามแนวนอนภาพหนึ่ง อยู่ด้านล่าง

คำบรรยายภาพคือ : A Wheeling Brigade-Sub-Lieutenants at the Naval College, Portsmouth. (กองพันจักรยาน – เรือตรีที่วิทยาลัยทัพเรือ เมืองพอร์ทสมัธ) ภาพถ่ายโดย Symonds & Co., Portsmouth

มีคำบรรยายสั้น ๆ แปลได้ว่า  “น่าจะไม่มีเรือตรีคนใดที่กำลังเรียนที่ “ปอมเปย์” ซึ่งเป็นชื่อที่ปกติทหารเรือใช้เรียก วิทยาลัยทัพเรือ (Naval College) ที่พอร์ทสมัธกัน ที่ไม่ขี่จักรยาน และภาพนี้แสดงให้เห็นว่า กีฬานี้ เป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมที่สุดเรือตรีแทบทุกคนที่วิทยาลัยทัพเรือสามารถจะอวดอ้างได้เลยว่าเป็นเจ้าของ “รถจักรยาน””

ขณะกวาดตาดูผ่าน ๆ (ฉบับรวมเล่มนิตยสารนี้มีราว 260-370 หน้า) เห็นนักเรียนยืนแถวหลังจักรยาน แต่ตรงค่อน ๆ ปลายแถวมีคนหนึ่งตัวเล็กกว่าเพื่อน เกือบผ่านเลยไปแต่เมื่อมองไปแล้วอีกที พระพักตร์เข้มอย่างนี้ พระองค์สันทัดแบบนี้ ท่ามกลางเพื่อนอังกฤษตัวใหญ่โต ทำไมจะไม่ใช่ ช่วงนั้นมีพระองค์เดียวที่ทรงศึกษาในราชนาวีอังกฤษ

คำถามว่า ทรงเรียนขี่จักรยานที่ใด มีเอกสารเป็นหนังสือกราบบังคมทูล คือจดหมายที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ส่งเข้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เขียนไว้ว่า “… สมเด็จบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในระหว่างนี้ทรงเล่าเรียน และทรงพระสำราญอยู่โดยปกติและกำลังเริ่มหัดทรงรถไบซิกล์อยู่ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโศภน ได้มีรับสั่งให้จัดซื้อถวายสำหรับทรงคันหนึ่ง ถวายพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์คันหนึ่ง …” (7 มิถุนายน 2438)

ดังนั้น คาดว่า ทรงฝึกทรง “ไบซิกล์” ในช่วงนั้น จึงสามารถเข้าร่วมกับ “กองพันจักรยาน” ที่วิทยาลัยทัพเรือได้ 

นับเป็นบุญตาที่ได้เห็นภาพนี้ จะเห็นได้ว่าพระวรกายเล็กและบางกว่าพระสหายมาก ทรงต้องอดทนฝ่าฟันมากเพียงใดในการฝึกทหารที่หนักหน่วงกับต่างชาติต่างภาษา ทั้งเผชิญอากาศที่หนาวเย็นอย่างยิ่งในท้องทะเล จะทรงผ่านการ “บูลลี่” มาหนักหนาสาหัสเพียงใดที่พระวรกายทรงเล็กกว่า พระพักตร์และสีผิวไม่เหมือนพระสหาย กว่าจะทรงเป็นที่ยอมรับและกลับมาถ่ายทอดศาสตร์แห่งทะเลให้แก่ทหารเรือไทยได้ 

ข้อนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ว่า  เหล็กที่ผ่านไฟมาแล้ว ย่อมเป็นเหล็กกล้าควรค่าการยกย่อง หรือหากไม่ผ่านความยากลำบาก ย่อมไม่รู้รสชาติแห่งความสำเร็จ

อีกข้อคำนึงก็คือ ทหารเรือนิยมถ่ายรูปในเรือและรูปหมู่ลูกเรือไว้ ทรงฝึกในเรือหลายลำ แต่จนบัดนี้ยังไม่เห็นภาพเหล่านั้นที่มีพระองค์ประทับอยู่เลย ผิดกับจอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงมีภาพการฝึกในสมรรถนะต่าง ๆ ในเยอรมนีพอสมควร อาจจะมีสักวันที่เราได้เห็นภาพพระองค์ท่านในพระอิริยาบถต่าง ๆ ในการฝึกก็เป็นได้

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช