วันศุกร์ที่ 14 เมษายน อันเป็นต้นปีพุทธศักราช 2454 นั้น คือวันที่ผู้สนใจศึกษาพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ต่างทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ … ให้นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากหน้าที่ราชการ …
จากนั้นอีก 6 ปีเศษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ในตำแหน่งจเรทหารเรือ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2460
ในหนังสือพระนิพนธ์ “เจ้าชีวิต” โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมยุคสมัยคาบเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ มีความกล่าวโดยสังเขปถึงพระชนมชีพระหว่างช่วงเวลานั้นไว้ว่า
… เสด็จในกรมชุมพรฯ ตั้งแต่ทรงออกจากราชการ ทรงดำเนินชีวิตอย่างโลดโผนผจญภัย บางทีก็เป็นหมอโดยไม่มีประกาศนียบัตร บางทีก็โปรดเลี้ยงดูนักมวยบ้าง …
ทั้งพระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และหลักฐานประวัติศาสตร์อื่น ๆ ล้วนสะท้อนว่า พระกรณียกิจที่พลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงได้กระทำระหว่างทรงออกจากราชการนั้นมีอยู่หลายด้าน แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดในปัจจุบันว่า พระกรณียกิจอันเป็นที่กล่าวขานยาวนานว่าได้สร้างคุณูปการแก่ผู้คนทุกชนชั้นอย่างกว้างขวาง ก็คือการทรงศึกษาวิชาแพทย์กระทั่งทรงสามารถปรุงยา และทรงรักษาผู้ป่วยเจ็บเป็นจำนวนมากมาย ในพระนาม “หมอพร”

พระนิพนธ์ของ ม.จ. หญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาในกรมหลวงชุมพรฯ ฉายภาพการทรงงานของ “หมอพร” ในความทรงจำของท่านไว้อย่างแจ่มชัด
… เมื่อทรงเป็นหมอ เสด็จรักษาไม่เลือก จะยากดีมีจน แม้แต่คนในสำเพ็งบ้านกระจอกงอกง่อยก็ไปรักษา เมื่อตอนพวกข้าพเจ้า 4 คนเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญแล้ว ท่านขับรถไปรับเองตอนเย็น เลยเสด็จแวะเยี่ยมไข้ พวกเราช่วยกันถือของตาม มีล่วมยาและเครื่องมือหลายอย่าง ข้าพเจ้าแบกร่ม … การรักษาแบ่งเป็น 4 แผนก แผนกคนแก่ แผนกเด็ก แผนกโรควัยกลางคนเกี่ยวกับระดูและประสาท และแผนกไข้ต่าง ๆ ทุกชนิด จะมีคนมาตามไปรักษาเสมอ และไม่เคยคิดค่ารักษา …
… ในตอนแรกคนที่ตามมารักษาไม่รู้จักว่าเสด็จในกรมฯ เป็นใคร วันหนึ่งคนไข้อยากรู้ชื่อ ถามหมอ ‘หมอชื่ออะไร’ ทรงคิดอยู่นาน ไม่อยากดัง ก็รับสั่งว่าเรียกหมอพรก็แล้วกัน คนจึงเรียกกันว่า หมอพร …
เล่าสืบต่อกันมาว่า การศึกษาวิชาแพทย์และรักษาผู้คน ซึ่งราวกับเป็นสิ่งที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงปฏิบัติเป็นงานอดิเรกระหว่างที่ทรงว่างจากพระภารกิจในราชการนั้น เป็นที่นิยมเลื่อมใสในวงกว้าง เมื่อประกอบกับพระจริยาวัตรอันเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ก็ทำให้ “หมอพร” เป็นที่เลื่องลือทั้งในแง่ความสามารถและความเอื้ออารีต่อผู้คนอย่างไม่เลือกฐานะหรือถิ่นฐาน จนบางคนถึงกับถวายพระสมัญญาว่า “หมอเทวดา”
แง่มุมพระกรณียกิจของ “หมอพร” แทบไม่มีการกล่าวถึงไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การแพทย์สยามฉบับใด ๆ ยกเว้นในเรื่องราวพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ เอง บทความนี้จึงมีเป้าหมายที่จะทำหน้าที่พินิจเรื่องราวของ “หมอพร หมอเทวดา” ท่ามกลางหน้าประวัติศาสตร์การแพทย์สยาม
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้จากโลกตะวันตกเพื่อนำมาใช้พัฒนาสยาม แม้แต่การทรงมอบหมายให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเดินทางไปศึกษาวิชาทหารเรือที่อังกฤษนั้น ก็เป็นไปตามพระบรมราโชบายนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้คนไม่น้อยอาจไม่เคยทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยและทรงตระหนักในคุณค่าศาสตร์การแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ต้นรัชกาล
ในพุทธศักราช 2413 หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเพียง 2 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมคณะแพทย์หลวง เพื่อรวบรวมเสาะหาคัมภีร์แพทย์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามสำนักวิชาและวัดวาอารามต่าง ๆ นำมาตรวจสอบชำระอย่างพิถีพิถันให้มั่นใจในความถูกต้อง ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าคัมภีร์แพทย์ของไทยที่ได้บันทึกความรู้อันมีคุณค่า ใช้ศึกษาสืบทอดต่อกันมายาวนานนั้น เริ่มสูญหายและมีเนื้อหาคลาดเคลื่อนมากแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์ เป็นแม่กองจัดหารวบรวม ชำระสอบสวนตำรับคัมภีร์แพทย์ที่่ใช้กันอยู่ให้ถูกต้องแม่นยำ แล้วส่งมอบให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จางวางกรมอาลักษณ์ กรมอักษรพิมพการ จัดสร้างขึ้นใหม่เป็นคัมภีร์แพทย์สำหรับแผ่นดินสืบต่อมา เรียกว่า “เวชศาสตร์ฉบับหลวง”

ภาพจาก “รายงานการสาธารณสุขไทย 2552 – 2553 ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก” จัดทำโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ขณะนั้น เป็นเวลาถึง 10 ปี ก่อนการประสูติของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423
เราสันนิษฐานได้ว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเจริญพระชนม์ขึ้นมาในบรรยากาศที่การแพทย์แผนตะวันตก ค่อย ๆ ทวีความสำคัญกระทั่งทัดเทียมการแพทย์แผนไทย ภาวะนี้เห็นได้ชัดเจนในยุคเริ่มต้นของศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลแห่งแรกอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิรูปการสาธารณสุขของสยามตามแบบตะวันตก ซึ่งสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2431 กล่าวคือ การให้บริการของโรงพยาบาลศิริราชในช่วงปีแรก ยังคงมีแต่หมอฝ่ายไทยเท่านั้น โดยพระประสิทธิ์วิทยา (หมอหนู ต่อมาเป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง) เป็นแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาล ส่วนแพทย์รองนั้นเป็นศิษย์ของพระประสิทธิ์วิทยา ชื่อว่า หมอคงและหมอนิ่ม ปีต่อมาจึงมีแพทย์ใหญ่ฝ่ายฝรั่ง คือหมอ ที. เอช. เฮาส์ โดยมีหมอปีเตอร์ กาแวน ซึ่งเป็นแพทย์ประจำราชสำนักวังหลวงเป็นที่ปรึกษา สำหรับการให้บริการรักษาพยาบาล ก็ให้ผู้ป่วยเลือกได้ตามใจชอบว่าจะใช้หมอไทยหรือหมอฝรั่ง เช่นเดียวกับยาที่ใช้ ก็มีทั้งยาไทยและยาฝรั่งเช่นเดียวกัน
การจัดหาแพทย์ประจำศิริราชพยาบาลนั้น ไม่ได้ดำเนินไปโดยง่าย สะท้อนถึงบริบทของบริการทางการแพทย์ในยุคนั้น กล่าวคือ เมื่อแรกก่อตั้งโรงพยาบาล โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นอธิบดีกรมพยาบาล รับผิดชอบการบริหารจัดการทั้งปวงเกี่ยวกับโรงพยาบาล ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) ทรงรับผิดชอบด้านการก่อสร้าง ต่อมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” บอกเล่าบรรยากาศในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ทรงเสาะหาแพทย์มาประจำโรงพยาบาล ความตอนหนึ่งว่า
… พระองค์ได้เที่ยวตรัสชวนหมอหลวง ปรากฏว่า เธอว่าหมอถือตัวกันเป็นต่างพวก ใช้วิธีรักษาและยาที่รักษาโรคร่วมกันแต่ในพวกของตน ซึ่งมักเป็นลูกตัว หรือลูกเขย หรือเป็นศิษย์ของหมอที่เป็นตัวครู ต่างพวกต่างรังเกียจกัน ดูราวกับเป็นพวกอื่นว่าไม่เป็นหมอไปเสียทั้งนั้น ฉันเคยทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้น เอาตำราหมอของหลวงใช้เป็นหลักสำหรับโรงพยาบาลไม่ได้หรือ เธอตรัสว่า ได้ลองถามดูแล้วต่างคนต่างก็บอกว่าตำราหลวงใช้เป็นหลักไม่ได้จริง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ประชุมหมอหลวงแต่งตำราที่จารึก ณ วัดพระเชตุพนฯหมอหลวงต่างคนก็ปิดพรางตำรายาดีของตนเสีย ไม่ได้ไปลงในตำราหลวง คงมีแต่ตำราที่แต่งไว้แต่ยาอย่างบรมโบราณ อันใคร ๆ ก็รู้ด้วยกันหมด แต่วิธีรักษาและยาดีที่ใช้ในปัจจุบันหามีไม่ …
ท่ามกลางบรรยากาศความไม่ลงรอยกันของครูแพทย์แผนไทย ในยุคสมัยแห่งการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขของสยามนั้น ศาสตร์การแพทย์แผนตะวันตกค่อย ๆ ทวีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทย สร้างความไม่สบายใจแก่คนรุ่นหนึ่ง ขณะที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในคนอีกรุ่น บรรยากาศนี้เห็นได้ชัดเจนจากความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 ซึ่งคือปีที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์มีพระชนมายุ 10 พรรษา
… แต่จะเตือนว่าหมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่จะควรให้ยาไทยสูญหฤาไม่ หมอไทยจะควรไม่ให้มีต่อไปภายน่า หฤๅควรจะมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเองยังสมัคกินยาไทย แลยังวางใจหฤๅอุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาอย่างฝรั่งหมด ดูเยือกเยนเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระเหนสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันก็อายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่จนหมอไทยหมดดอก คนภายน่าจะพอใจอย่างฝรั่งทั่วกันไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เปนแต่ต้องเตือนดู ตามหัวเก่าๆ ทีหนึ่งเท่านั้น …
กล่าวกันว่าพระราชหัตถเลขานี้ ส่งผลต่อการเพิ่มเนื้อหาวิชาแพทย์แผนไทยในโรงเรียนฝึกหัดแพทย์ซึ่งต่อมาเรียกว่า “โรงเรียนแพทยากร” อันเป็นโรงเรียนหลักสูตร 3 ปี ตั้งขึ้นเพื่อผลิตแพทย์เข้าทำงานในโรงพยาบาล เริ่มเปิดสอนรุ่นแรกในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 โดยในชั้นปีที่ 1 และ 2 มีเฉพาะวิชาการแพทย์แผนตะวันตก พอถึงชั้นปีที่ 3 (พ.ศ. 2435) จึงเพิ่มวิชาการแพทย์ไทยเข้าไปด้วย ดังจดหมายกราบบังคมทูลของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า
… จะให้ฝึกสอนทั้งวิธีฝรั่งและยาไทย เลือกแต่ที่ดีทั้ง 2 ฝ่าย มาประสมกัน คือ การฝึกสอนให้นักเรียนรู้ลักษณะร่างกาย การฝึกสอนรักษาผ่าตัดและเย็บบาดแผล วิธีผดุงครรภ์ และการแยกธาตุตรวจสรรพยา โดยวิชาเคมมิศตรีเป็นต้น วิชาฝรั่งเหล่านี้คิดด้วยเกล้าว่าฯ จะฝึกสอน ส่วนวิธีไทย คือสรรพยาและวิธีพยาบาล เป็นต้น ก็จะฝึกสอน และคิดบำรุงให้เจริญขึ้นเต็มกำลัง …

โรงเรียนแพทยากรนี้ ก่อตั้งและจัดการเรียนการสอนอยู่ที่ศิริราชพยาบาลเรื่อยมา กระทั่งโรงเรียนได้รับพระราชทานที่ดินโรงต้มฝิ่นของหลวงที่คลองบางกอกน้อย เพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนแพทย์ขึ้นในที่แห่งใหม่ เมื่อก่อสร้างโรงเรียนเสร็จใน พ.ศ. 2443 ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย”
ปีเดียวกันนั้น คือปีที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ เสด็จกลับสยาม และทรงเริ่มรับราชการในกรมทหารเรือ
เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ได้มีการเรียบเรียงจัดพิมพ์ตำรา “แพทยศาสตร์สงเคราะห์” สำหรับใช้ในโรงเรียนแพทย์ขึ้น โดยเนื้อหาของตำรามีทั้งการแพทย์แผนไทยและแผนตะวันตกควบคู่กัน ผู้ร่วมเรียบเรียงท่านหนึ่งคือ “หมอคง” หนึ่งในสองแพทย์รองของศิริราชพยาบาลเมื่อแรกตั้ง ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนประสารเวชสิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นหมอหลวง และรับรักษาคนไข้ทั่วไปด้วย ต่อมาใน พ.ศ. 2448 ท่านได้เป็นผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ซึ่งเปิดสอนวิชาแพทย์แผนไทย จากนั้นใน พ.ศ. 2450 ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเป็นพระยาพิษณุประสาทเวช เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านมีหน้าที่ราชการเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ และจะเป็นผู้หนึ่งที่ถ่ายทอดวิชาแพทย์ถวาย “หมอพร” หลังทรงออกจากราชการ
จากข้อมูลข้างต้น เราอาจสันนิษฐานได้ว่ากรมหลวงชุมพรฯ ทรงเติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศที่ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและตะวันตกมีบทบาททัดเทียมกันในสังคมสยาม จากนั้นแม้ว่าจะทรงเดินทางไปประทับและทรงศึกษาวิชาการสมัยใหม่ในโลกตะวันตกนานปี แต่เมื่อเสด็จกลับมาทรงรับราชการนั้น ศาสตร์การแพทย์แผนไทยก็ยังไม่ถูกศาสตร์แผนตะวันตกเข้ามามีบทบาทแทนที่ ผู้รู้วิชาแพทย์แผนไทยยังมีที่ยืนในสังคมอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

สถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินต่อมา กระทั่งไม่นานหลังสยามผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2453
จากยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งหลังจากกำเนิดศิริราชพยาบาล ได้มีการตั้งโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในกรุงเทพอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลคนเสียจริต โรงพยาบาลหลังวัดพลับพลาชัย โรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย โรงพยาบาลกรมพลตระเวน โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลเทพศิรินทราวาส โรงพยาบาลเลี้ยงเด็ก โรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง สู่ยุครัชกาลที่ 6 ที่มีการตั้ง “ปาสตุรสภา” หรือสถานปาสเตอร์เพื่อบำบัดโรคกลัวน้ำ และวชิรพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2455 รวมทั้งสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2457 รายชื่อโรงพยาบาลเหล่านี้แม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่แทบทั้งหมดก็ยังเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก รองรับผู้ป่วยได้แห่งละเพียงไม่กี่สิบราย จึงยังไม่สมดุลกับจำนวนประชากรทั่วทั้งกรุงเทพ
มีข้อมูลว่าในปีแรกของรัชกาลที่ 6 กรุงเทพมีประชากรประมาณ 3 แสน 6 หมื่นคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่ยังยากจน ทำมาหากินและอยู่อาศัยกันอย่างแออัดในย่านการค้าใกล้แม่น้ำ ที่ชื่อว่าย่าน “สำเพ็ง”

ชุมชนกรุงเทพค่อย ๆ ขยายตัวไปตามแนวถนนสายใหม่ ๆ และความเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ต่อเนื่องมาจากรัชกาลก่อน ขณะที่บริการทางการแพทย์ของรัฐ ดูจะไม่สามารถขยายตัวเท่าทันการเติบโตของเมืองและความต้องการของประชาชนได้มากนัก
ดังนั้น พระกรณียกิจของ “หมอพร” ที่ทรงรักษาผู้เจ็บป่วยอย่างไม่ทรงเลือกชนชั้นวรรณะ ไม่ทรงเรียกร้องสินจ้างรางวัล ทั้งยังทรงออกตระเวนตรวจรักษาผู้คนตามย่านแออัดเช่นสำเพ็งอย่างสม่ำเสมอ จึงย่อมก่อคุณูปการอย่างยิ่งต่อผู้คนจำนวนมาก ท่ามกลางบริบทเช่นนี้
หลังจากกรมหมื่นชุมพรฯ ทรงต้องออกจากราชการเมื่อต้น พ.ศ. 2454 แล้ว เราในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนว่า ทรงเริ่มสนพระทัยศึกษาวิชาแพทย์ในปีใด ทรงเชี่ยวชาญขนาดเริ่มตรวจวินิจฉัยโรคและปรุงยารักษาผู้ป่วยเจ็บอยู่นานเพียงไหน ก่อนจะทรงกลับเข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้งในต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2460
เราสันนิษฐานได้เพียงว่า พระองค์น่าจะทรงเริ่มศึกษาวิชาแพทย์ก่อน พ.ศ. 2457 เพราะหมอคง หรือพระยาพิษณุประสาทเวช ผู้ถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนไทยสู่หมอพร ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ตำแหน่งสุดท้ายในราชการของท่านคืออำมาตย์โท สังกัดกระทรวงมหาดไทย
อาจนับได้ว่าเป็นโชคดีของพระยาพิษณุประสาทเวช ที่ท่านไม่ได้มีชีวิตยืนยาวต่อมาอีก 1 ปี ท่านจึงไม่ต้องพบกับความจริงที่ว่า ใน พ.ศ. 2458 มีการยกเลิกการสอนวิชาแพทย์แผนไทยในโรงเรียนราชแพทยาลัย และยุติการจ่ายยาไทยแก่ผู้ป่วยในศิริราชพยาบาล เท่ากับเป็นการยุติบทบาทในสังคมของศาสตร์การแพทย์แผนไทยไปโดยปริยาย ก่อนที่อีกหลายปีต่อมา จะมีการตราพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2466 ซึ่งมีผลโดยตรงให้ยุบเลิกกรมแพทย์หลวงซึ่งอยู่บนรากฐานการแพทย์แผนไทย ทั้งทำให้บรรดาแพทย์แผนไทยแทบจะกลายเป็นหมอนอกระบบ ปราศจากที่ยืนในสังคมตามกฎหมาย
ดังนั้น พระดำริของ “หมอพร” ที่ทรงศึกษาศาสตร์การแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนตะวันตก ทั้งทรงผสมผสานเลือกใช้ศาสตร์ทั้งสองอย่างเกื้อหนุนกัน โดยไม่ทรงยึดติดถือมั่นในแผนใดแผนหนึ่งเพียงด้านเดียว จึงนอกจากจะสะท้อนถึงพระปรีชาในการเรียนรู้และบูรณาการความรู้แล้ว ยังน่าจะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรการแพทย์แผนไทยที่ทราบข่าว ด้วยความสนพระทัยของพระองค์เป็นสิ่งช่วยยืนยันถึงคุณค่าของศาสตร์แขนงนี้ ที่ไม่ได้ด้อยลงไปตามกาลเวลาในยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลง สะท้อนถึงน้ำพระทัยระลึกรู้ในคุณค่าภูมิปัญญาบรรพชนสยาม เช่นเดียวกับพระบรมราโชบายในพระบิดา คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า
… ถ้าจะแต่งอนาคตวงษ์ของเมืองไทยแล้ว วิชาหมอจะสูญก่อน ทั้งหมอนวดหมอยา เดี๋ยวนี้ก็ผ้าเหลืองห้อยหูแล้ว ทั้งสองอย่างจะเต็มไปด้วยเสมียน จนต้องกินกระดาษแทนข้าว ถ้ารัฐบาลไม่อุดหนุนเรื่องหมอนี้แล้ว ใน 10 ปี คำที่เรียกว่าหมอไทยนี้ ไม่มีเปนอันขาด …
หลายปีหลังจากนั้น “หมอพร” ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
… อย่าเข้าใจว่าวิชาหมอและยาของเรา สู้วิชาหมอและยาต่างประเทศไม่ได้ หรือวิชาหมอและยาต่างประเทศสู้ของเราไม่ได้ นี่เปนความเข้าใจผิด ที่จริงวิชาหมอและยาเปนของดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่รักษาให้หายและไม่หายนั้น เปนด้วยความชำนาญตรวจโรคกับยาให้ตรงกันและไม่ตรงกันต่างหาก ถ้าผู้ที่มีปัญญาฉลาดสามารถจะนำเอาความรู้หลายๆ อย่างมาเทียบเคียงกัน และใช้ให้ปนคละกันให้ถูกต้องแล้ว อาจจะเปนการดีมากขึ้นด้วย …
ความสนพระทัยและพระปรีชาของ “หมอพร” ในศาสตร์การแพทย์ทั้งแผนตะวันตกและแผนไทย ยังคงเป็นแง่คิดและแรงบันดาลใจแก่คนจำนวนมาก จนถึงทุกวันนี้
