จากบทเพลงปลุกใจที่ขับร้องกันทั้งทหารเรือและพลเรือน พระปรีชาทางด้านดนตรีของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการทรงนิพนธ์บทเพลงเท่านั้น แต่ยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังอีกมาก ที่เราอยากจะชวนท่านทั้งหลายมาร่วมรับรู้ไปพร้อม ๆ กัน

Writer : ฑิตยา ชีชนะ

7 August 2020

ถอดรหัสบทเพลงราชนาวีสยาม สู่พระปรีชาหลากแขนงแห่งคีตศิลป์

หากเอ่ยถึงบทเพลงพระนิพนธ์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ แล้ว เชื่อว่าหลายท่านทั้งที่เป็นทหารเรือก็ดี หรือแม้กระทั่งเป็นพลเรือนก็ตาม สามารถขับร้องกันได้อย่างกว้างขวาง อาจจะเป็นเพราะท่วงทำนองที่ซึ้งกินใจ และเนื้อเพลงที่ใช้คำสั้น กระชับ ทำให้จดจำได้ง่าย อีกทั้งยังให้แง่คิดในการดำเนินชีวิต

แต่หากมองให้ลึกลงไป พระปรีชาด้านการดนตรีของพระองค์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การทรงดนตรี หรือทรงนิพนธ์บทเพลงเท่านั้น หากยังมีอีกหลากแง่หลายมุมที่หลายท่านอาจจะยังไม่เคยทราบ

ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่  3 ขึ้น ภายใต้โครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “เสด็จเตี่ยและการดนตรี สู่บทเพลงราชนาวีสยาม”

โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในบทเพลงพระนิพนธ์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ คือ ผศ.ดร.รังสิพันธุ์ แข็งขัน อาจารย์สาขาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาบทเพลงทหารเรือในพระนิพนธ์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” และ นาวาเอก ศุภกร แตงน้อย นายทหารฝ่ายเทคนิคการดนตรี กองดุริยางค์ทหารเรือ กองทัพเรือ ผู้ฝึกฝน ศึกษา และถ่ายทอดบทเพลงพระนิพนธ์สู่ทหารเรือและสาธารณชนมายาวนาน มาเป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ค้นคว้าข้อมูลเอกสารชั้นต้นทั้งในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือพระประวัติฉบับมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในคราวนี้

ในมุมของพลเรือนที่ทำการศึกษาและวิจัยถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ผศ.ดร.รังสิพันธุ์ ได้ชักชวนให้เรามองให้ลึกลงไปถึงอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของเพลงพระนิพนธ์

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์ : “…บทเพลงพระนิพนธ์ของเสด็จเตี่ยเป็นงานที่มีคุณค่า พิสูจน์แล้วจากกาลเวลาที่ผ่านมาแล้วกว่า 100 ปี แต่ที่ทรงคุณค่าไม่ใช่ว่าเพราะเป็นบทพระนิพนธ์ แต่ทรงคุณค่าเพราะเป็นเรื่องของคุณค่าที่อยู่ในตัวบทเพลง ทั้งในเชิงที่เป็นศิลปะ และในเชิงความหมาย … สิ่งโดดเด่นของเพลงพระนิพนธ์คือ มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน นั่นคือพระองค์ทรงใช้คำศัพท์เฉพาะ เพลงขึ้นต้นมาแล้วก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลงทหารเรือ…แล้วที่น่าสนใจคือ บทพระนิพนธ์เป็นเพลงที่มีความหมายตรงและความหมายโดยนัยยะ ความหมายตรงคือ เราก็เข้าใจไปตามถ้อยคำในเนื้อเพลง แต่ความนัยยะหมายความว่า เพลงแต่ละเพลงที่พระองค์ทรงนิพนธ์ขึ้นมา บางเพลงมันมีเบื้องลึกเบื้องหลังของประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ เข้าใจบริบทที่มาของเพลง เราก็จะเข้าใจเพลงนั้นในอีกระดับหนึ่ง…”

สำหรับนาวาเอก ศุภกร ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงพระนิพนธ์สู่ทหารเรือและสาธารณชนโดยตรงนั้น
บทเพลงพระนิพนธ์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ล้วนมีความหมายและเป็นเครื่องสอนใจแก่เหล่าลูกประดู่มาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นาวาเอก ศุภกร: “…ทหารเรือเราเรียกพระองค์ท่านว่า “เสด็จเตี่ย” เพลงของท่านก็เหมือนกับการสอนลูกสอนหลานให้เป็นคนดี รักพี่รักน้อง อ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็ซื่อสัตย์ พร้อมพิทักษ์ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และแผ่นดิน…”

การที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ สามารถนำท่วงทำนองเพลงพื้นบ้านของชาวสกอตที่ให้อารมณ์รักสะเทือนใจ มาดัดแปลงเป็นให้เป็นเพลงที่มีจังหวะปลุกใจทหารเรืออย่างเพลง “ดอกประดู่” ได้นั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้และความเชี่ยวชาญของพระองค์ในการดนตรี

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์: “…พระองค์ทรงเอามาแต่ทำนองแล้วทรงนิพนธ์บทร้องที่เป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับโน้ตบางตัวเพื่อให้เข้ากับภาษาไทย สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากการปรับจังหวะแล้ว พระองค์ทรงต้องหาคำให้ลงกับโน้ต…ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย….พระองค์ทรงมีพระปรีชาทางด้านภาษาสูงมาก …”

นอกเหนือไปจากการหาคำให้เข้ากับโน้ตแล้ว เพลงดอกประดู่ยังแฝงไปด้วยข้อคิดเพื่อเตือนสติ อันสามารถสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาทางด้านวรรณศิลป์ได้เป็นอย่างดี

นาวาเอก ศุภกร : …คำว่า ลับดาบไว้พลาง ในมุมมองของผม ก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ให้ฝึกซ้อมเอาไว้ให้พร้อม อย่างประมาท…ทุกประวัติศาสตร์ล้วนมีบทเรียน จากบทเรียนนั้นเราก็ต้องทำให้เกิดความพร้อมเพรียงด้วยการฝึกซ้อม เพื่อเวลาเราเกิดเหตุ เราจะได้สูญเสียให้น้อยที่สุดหรือลดความกลัวในการปฏิบัติงาน นั่นก็คือเราซ้อมให้เยอะ …”

ในอีกแง่หนึ่ง เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ยังมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในดนตรีและบทเพลงไทยเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน เห็นได้จากบทเพลง “เดินหน้า” ที่มีการถอดทำนองมาจากเพลงไทยเดิมที่ชื่อว่า “คุณลุงคุณป้า” ซึ่งเป็นบทเพลงโบราณ อันไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์: “…ลักษณะของเพลงไทยอย่างหนึ่งคือ มีโน้ตเยอะ โน้ตถี่ เยอะมาก แต่พระองค์ทรงสามารถถอดเอาโครงหลักมาใช้…ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้ดนตรีดีพอ จะแยกไม่ออกว่าตรงไหนคือโครงหลัก ตรงไหนคือส่วนประกอบ ตรงไหนคือส่วนที่เป็นเครื่องประดับ แต่พระองค์ทรงคร่ำหวอด ต้องใช้คำว่าคร่ำหวอดอยู่ในวงการดนตรี ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็คือพระองค์ไม่ใช่นักดนตรีธรรมดา แต่พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีชั้นครู เพราะการจะถอดโครงหลักของดนตรีไทยออกมานั้น ยาก แต่นี่พระองค์ไม่ได้ทรงถอดออกมาแบบธรรมดา แต่ท่านยังทรงเอามาปรับให้เข้ากับภาษาด้วย…”

อีกหนึ่งเครื่องสะท้อนถึงความรอบรู้และพระปรีชาทางด้านการดนตรีของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ นั้นก็คือการที่พระองค์ทรงได้รับมอบหมายให้บรรจุเพลงให้กับละครที่ยาวขนาดแสดง 2 คืนจบ ของคณะ “ละครปรีดาลัย” ซึ่งคือคณะละครในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์: “…ละครคือแหล่งที่รวมของสรรพศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี นาฏศิลป์ ฯลฯ ล้วนอยู่ในละครทั้งสิ้น…คนที่จะบรรจุเพลงได้นั้นต้องรู้จักเพลงเยอะ จึงจะสามารถเลือกเพลงให้เข้ากับลีลาและอารมณ์ของบท…รู้จักเพลงมากอย่างเดียวไม่พอยังต้องมีความหลากหลาย คือละครหนึ่งเรื่องเล่นวันเดียวจบก็ใช้เพลงจำนวนมากแล้ว แล้วถ้ายิ่งเล่นสองคืน เพลงก็ต้องไม่ซ้ำ เพราะถ้าเพลงซ้ำ คนเบื่อ…”

ไม่เพียงแต่การเป็นผู้ทรงดนตรีเท่านั้น แต่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ยังเป็นผู้ทรงอุปถัมภ์การดนตรี ทรงมีคุณูปการทั้งในการทรงเมตตาชุบเลี้ยงตัวบุคคล และในด้านการสืบสานต่อยอดศิลปะดนตรีไทย

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์: “…ชีวิตความเป็นอยู่ของนักดนตรีวังนางเลิ้งแตกต่างจากนักดนตรีวังอื่นคือ อยู่ประจำไม่ได้ไปกลับ กินนอนอยู่ในวัง พระองค์ทรงดูแลเลี้ยงอาหาร…ครูสิน สินธุนาคร เป็นครูที่พระองค์ท่านทรงโปรดมาก ในฐานะที่เป็นครูที่มีความสามารถแล้วท่านก็มีอายุมากแล้ว…พระองค์ทรงจัดห้องพักให้ครูสินใกล้กับที่ประทับ เพราะครูเป็นครูผู้ใหญ่ เผื่อมีเจ็บป่วยอะไรขึ้นมา แล้วเวลาครูสินป่วย พระองค์ทรงดูแลด้วยพระองค์เอง…”

(คลิ๊กเพื่ออ่าน ประวัติครูสิน สินธุนาคร)

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์: “…จุดประสงค์ของการประชันวงดนตรีก็คือ การพัฒนาดนตรี…แต่สิ่งที่ยากมากในการประชันในสมัยนั้นคือ มีการตั้งโจทย์เพลงขึ้นมาแล้วให้นักดนตรีเอาเพลงนั้นมาพัฒนาและขยายต่อจนเป็นเพลงที่ยาวขึ้นและให้เล่นในเวลาที่กำหนด…แล้วกรมหลวงชุมพรฯ เป็นผู้ตั้งโจทย์…จนเป็นที่กล่าวขานกันว่าพระองค์ทรงไปเอาเพลงมาจากไหน ทำไมนักดนตรีสมัยนั้นไม่มีใครรู้จักเพลงนี้ ก็แปลได้ว่าพระองค์ทรงมีคลังเพลงเยอะมาก…

… พระองค์ทรงเอาเพลงคุณลุงคุณป้ามาเป็นโจทย์ตั้งให้นักดนตรีทุกวงขยายต่อ…นักดนตรีก็ใช้ความสามารถกันอย่างเต็มที่…หลวงประดิษฐ์ไพเราะซึ่งในสมัยนั้นเป็นหัวหน้าวงวังบูรพาภิรมย์ก็สามารถทำได้สำเร็จ…หลังจากนั้นหลวงประดิษฐ์ก็เอาเพลงนี้ไปพัฒนาต่อจนกลายเป็นบทเพลงไทยที่ใช้ขับร้องมาจนถึงทุกวันนี้ที่ชื่อว่า “อะแซหวุ่นกี้ เถา”…ส่วนเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ก็ทรงนำเพลงคุณลุงคุณป้าเพลงเดียวกันนี้แหละ มาพัฒนาเป็นเพลง “เดินหน้า” ที่เป็นเพลงของทหารเรือในปัจจุบัน…”

แม้ช่วงเวลาที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงประกอบพระกรณียกิจในราชการทหารเรือจะมีระยะเวลารวมแล้วเพียง 14 ปีเท่านั้น แต่คุณค่าในท่วงทำนองและบทเพลงทหารเรือที่ทรงพระนิพนธ์นั้น ยังคงได้รับการสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในหมู่ทหารเรือและพลเรือนทั่วไป

นาวาเอก ศุภกร: “…เพลงของพระองค์ท่าน ทำให้ทหารเรือที่มาจากหลากหลายที่ หรือมีวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน พอมาร่วมร้องเพลงของพระองค์ที่มีความหมายที่ลึกซึ้ง มันก็ทำให้เรารักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนเป็นเป้าหล่อมให้แก่ทหารเรือทุกคน…”

ผศ.ดร.รังสิพันธุ์: “…คุณค่าของบทพระนิพนธ์นั้น สิ่งที่จะวัดคุณค่าได้ดีที่สุดคือเวลา อะไรที่มันไม่ตายไปกับเวลานั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมาย ซึ่งบทพระนิพนธ์นั้นก็เห็นได้ชัดเจนนะครับว่า ผ่านการพิสูจน์ด้วยระยะเวลามากว่า 100 ปี สำหรับทหารเรือแล้ว บทเพลงพระนิพนธ์นั้นมีความหมายพิเศษ เพราะพระองค์ทรงนิพนธ์บ่งบอกความเป็นทหารเรือไว้อย่างชัดเจน และสำหรับคนทั่วไป ตรงนี้น่าสนใจมาก คือเพลงพระนิพนธ์ของพระองค์ไม่ได้ฟังกันเฉพาะทหารเรือ คนทั่วไปก็ฟัง ร้องได้ด้วย เพราะเนื้อหาของพระนิพนธ์ฟังแล้วชวนคิด พินิจพิเคราะห์ ซึ่งบางครั้งเราอาจจะดึงเอาประสบการณ์ของเราเข้าไปเทียบ หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตได้ ฉะนั้นบทเพลงพระนิพนธ์เป็นเครื่องกระตุ้นทั้งอารมณ์และปัญญา ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ในทหารเรือเท่านั้น…”

พระปรีชาสามารถทางการดนตรีของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ที่ทรงแสดงให้เห็นทั้งในเบื้องหน้าและเบื้องหลังของสรรพศิลป์แห่งสำเนียงดนตรี ตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมา คงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า พระองค์ทรง “รอบรู้” และเชี่ยวชาญในสรรพวิทยาการดนตรีอย่างแท้จริง

นาวาเอก ศุภกร: …พระปรีชาทางด้านการดนตรีของพระองค์นั้น ผมว่าอยู่สูงกว่าคำว่า Musician มาก คืออย่างน้อยที่สุด พระองค์ก็คงอยู่ในระดับ Maestro คือทรงมีลักษณะที่สามารถรู้ได้ว่า ใครทำอะไรได้ในทางดนตรี และรู้ภาพรวมของกิจกรรมดนตรีนั้น ๆ…สำหรับผม พระปรีชาของพระองค์คงเทียบได้กับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ …”

——————————————————————

ติดตามการเสวนาพระประวัติครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ในหัวข้อ “เสด็จเตี่ย : ครูผู้สร้างของทหารเรือ” พร้อมทั้งติดตามเรื่องราวการเสวนาในหัวข้ออื่น ๆ ซึ่งจะจัดขึ้นในทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม พ.ศ. 2563

สามารถรับชมย้อนหลัง การเสวนาพระประวัติฉบับเต็มรายการได้ ที่ : https://www.facebook.com/watch/live/?v=875359432987924&ref=watch_permalink

หรือติดตามคลิปสรุปไฮไลต์จากการเสวนาได้ที่ YouTube ช่อง กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม โดย subscribe เพื่อให้ทราบข่าวสารคลิปใหม่ก่อนใคร ที่ : https://www.youtube.com/channel/UCXEWy9WMYORvYepGgOwlrBg

รวมทั้งติดตามและกด see first ที่ Facebook Page กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกร็ดพระประวัติ ร่วมทั้งข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ จากโครงการ ที่ : https://www.facebook.com/hrh.abhakara.120anv.homecoming/

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช