หากมองอย่างผิวเผิน การที่นายเรือโท พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 ก็อาจจะไม่มีแง่มุมใด ๆ ที่น่ากล่าวถึงมากนัก แต่หากพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ เหตุการณ์นี้มีแง่มุมน่าไตร่ตรองอยู่หลายด้าน ซึ่งจะเข้าใจได้ เราควรต้องมองย้อนกลับไปที่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นถึง 18 ปี คือใน พ.ศ. 2425 อันเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี
มีวันสำคัญอยู่ 2 วัน ที่เกี่ยวข้องกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วันหนึ่งเป็นวันที่เราในปัจจุบันคุ้นเคยกันดี คือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
อีกวันหนึ่ง คือวันที่ 21 เมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วขึ้นในคราวเดียวกัน
เมื่อผ่านไปหนึ่งศตวรรษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดถือเอาวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 เป็นวันที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี โดยให้จัดงานสมโภชพระนครครบรอบศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่
การฉลองสมโภชพระนคร มีทั้งกิจกรรมตามแบบประเพณี เช่น การบูรณปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เริ่มทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา กลับมาสวยงามดังเดิม รวมทั้งสร้างเติมอย่างวิจิตรตระการตา จากนั้นในวันที่ 21 เมษายน ก็อัญเชิญพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท แล้วเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งในพระบรมมหาราชวัง และรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1,624 รูป จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตรา ประทับพลับพลาจตุรมุข ณ ท้องสนามหลวง ทรงก่อพระฤกษ์ศาลหลวง และในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินออกทรงโปรยทาน และทอดพระเนตรจุดดอกไม้เพลิง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ รวมทั้งมีมหรสพฉลองทั้งในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
ในโอกาสเดียวกันนั้น ก็มีกิจกรรมตามแบบธรรมเนียมของโลกตะวันตก อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าแห่งชาติขึ้น ณ ท้องสนามหลวง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เรียกว่า “แนชันนาลเอกษฮีบิชัน” รวมทั้งการจัดทำเหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานให้แก่ผู้ที่นำสินค้าแปลก ๆ มาจัดแสดง กับเหรียญที่ระลึกอีกแบบ พระราชทานแก่ผู้มีส่วนร่วมในการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในปีนั้น พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 2 พรรษา เพราะพระองค์ประสูติใน พ.ศ. 2423

นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นสุดไปในปีมหามงคลสมัยนั้นแล้ว บางสิ่งที่กำเนิดขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนากรุงเทพมหานคร ก็มีอายุยืนยาวต่อมาหลังจากนั้นอีกนาน อาทิ “เครื่องราชอิสริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในมงคลสมัยเดียวกัน สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นพระบรมราชานุสรณ์ในการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชดำริว่า ข้าราชการที่ได้รับราชการมาด้วยดี มีความสามารถ ทำคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่บ้านเมืองนั้น ควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศด้วย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญ “ดุษฎีมาลา” ขึ้น เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก เป็นบำเหน็จความชอบในราชการ
เหรียญดุษฎีมาลานี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบขึ้นอย่างวิจิตร โดยทรงผสมผสานคตินิยมแบบไทยกับรูปแบบศิลปะตะวันตก ทั้งทรงแฝงความหมายต่าง ๆ ไว้มากมาย

ด้านหน้าเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วงขอบเหรียญจารึกพระปรมาภิไธยเป็นภาษามคธอักษรไทยว่า “จุฬาลังกรณว์หัส์ส ปรมราชาธิราชิโน” ขอบล่างเป็นช่อชัยพฤกษ์ไขว้
ส่วนด้านหลังเหรียญ เป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ ประทับยืนแท่นพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัย เว้นพื้นที่ไว้สำหรับจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน ใต้แท่นมีเลข 1244 บอกจุลศักราชที่สร้าง และมีอักษรรอบขอบเหรียญเป็นภาษามคธอักษรไทยว่า “สยามิน์ทปรมราช ตุฏธิป์ปเวทนํอิทํ” แปลว่า “เหรียญนี้เป็นเครื่องแสดงความยินดีของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ คือพระเจ้ากรุงสยาม”

นอกจากนั้น ที่ขอบสันของเหรียญก็จารึกข้อความไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นภาษามคธอักษรไทย ว่า “สัพ์เพสํสํฆภูตานํ สามัค์คี วุฑ์ฒิสาธิกา” แปลว่า “ความสามัคคีของบุคคลผู้รวมกันเป็นหมู่คณะ ย่อมเป็นเครื่องยังความเจริญให้สำเร็จ”

เบื้องบนของเหรียญด้านหน้า มีพระขรรค์ไชยศรีกับธารพระกรไขว้รองรับแผ่นโลหะ จารึกข้อความว่า “ทรงยินดี” ห้อยกับแพรแถบ ซึ่งบนแพรแถบนั้นกลัดเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้งสองข้าง จารึกอักษรแสดงคุณพิเศษตามความชอบของผู้ที่ได้รับพระราชทาน โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน คือ
- เข็มราชการในพระองค์ อักษรย่อ ร.ด.ม. (พ)
- เข็มศิลปวิทยา อักษรย่อ ร.ด.ม. (ศ)
- เข็มราชการแผ่นดิน อักษรย่อ ร.ด.ม. (ผ)
- เข็มกรุณา อักษรย่อ ร.ด.ม. (ก)
- เข็มกล้าหาญ อักษรย่อ ร.ด.ม. (ห)
สำหรับเหรียญดุษฎีมาลาที่นายเรือโท พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ได้รับพระราชทานเหรียญนั้น คือเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
ความพิเศษของเข็มศิลปวิทยานั้น ปรากฏให้เห็นได้ตั้งแต่แรกสร้างเหรียญดุษฎีมาลาขึ้นแล้ว จากข้อกำหนดเกณฑ์การพระราชทานซึ่งมีหลักอันเข้มงวด ต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น ๆ คือจะพระราชทานเข็มศิลปวิทยาเฉพาะ “ผู้มีฝีมืออย่างเอกอุ” อันเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินชนิดที่ “ไม่มีผู้ใดทำได้เสมอหรือดีกว่า” จึงนับเป็นครั้งแรกที่ผู้มีความสามารถในทางศิลปวิทยาแขนงต่าง ๆ จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติยศเช่นนี้ ดังความในพระราชบัญญัติเครื่องอิสริยยศสำหรับความดีความชอบเหรียญดุษฎีมาลา จุลศักราช 1244 พุทธศักราช 2425 ที่ว่า
เข็มที่จาฤกว่าศิลปวิทธยานั้น ไว้สำหรับพระราชทานนักปราชราชกระวี นายช่างแลฝีมือช่างพิเศศต่าง ๆ ที่ได้คิดอย่างสิ่งของที่จะเปนประโยชนทั่วกัน ครั้งแรกคราวแรกฤๅชักนำสิ่งของใด ๆ เข้ามาทำมาสร้างขึ้นในแผ่นดิน เปนผลประโยชนต่อบ้านเมืองแลราชการ ฤๅผู้ที่แต่ง หนังสือตำราวิทธยการต่าง ๆ ที่เปนของเก่าของใหม่ก็ดี ที่เปนคุณต่อแผ่นดิน เปนประโยชนแก่ราชการ เปนผลแก่การค้าขาย ฤๅผู้เปนช่างอย่างฝีมือเอก ที่ได้คิดก็ดี ทำเองก็ดี ปรากฏว่าไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งทำได้เสมอดีกว่า แล้วผู้ทำคุณประโยชนดังกล่าวมานี้ ก็จะทรงพระราชดำริหวินิจฉัย พระราชทานเข็มชนิดนี้ให้ตามฐานานุรูป
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการให้คำอธิบายถึงเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ว่าคือ “บำเหน็จของผู้กล้าหาญทางปัญญาความรู้ให้เป็นคุณแก่แผ่นดิน”
การกำเนิดขึ้นของเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สำหรับ “พระราชทานนักปราชญ์ราชกวี … ที่เป็นคุณต่อแผ่นดิน” ตามความในพระราชบัญญัติ เป็นภาพสะท้อนถึงบริบทของยุคสมัยในการพัฒนาบ้านเมืองด้วยสรรพวิชาความรู้ ทั้งยังแสดงให้เห็นพระบรมราโชบายในการทรงยกย่องเชิดชูผู้ถึงพร้อมด้วยความเป็นเลิศในศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ
ล่วงมาเพียงรัชกาลเดียว ความพิเศษของเข็มศิลปวิทยาก็ยิ่งปรากฏชัด กล่าวคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญพระราชทานอื่น ๆ ขึ้นแทนเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์ เข็มราชการแผ่นดิน เข็มความกรุณา และเข็มกล้าหาญ จึงเป็นการยกเลิกเข็มทั้ง 4 ด้านไปทั้งหมดโดยบริยาย คงเหลือแต่เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เท่านั้นที่ยังคงอยู่ โดยยังคงมีการพระราชทานสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ถึงแม้เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จะยังไม่พ้นสมัยแห่งการพระราชทาน แต่ในปีหนึ่ง ๆ ก็มีผู้ได้รับพระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นจำนวนน้อย หรือบางปีก็ไม่มีผู้ได้รับพระราชทานเลย จากหลักเกณฑ์พิจารณาอันเข้มงวดดังกล่าวข้างต้น

เมื่อตอนที่นายเรือโท พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา นั้น เหรียญและเข็มนี้เกิดขึ้นมาได้แล้ว 18 ปี มีผู้ได้รับพระราชทานไปแล้วเพียง 40 ท่าน
ตามที่ปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา คนแรกสุดคือ “แขกอะบูรามซามี” ชาติเชื้อพราหมณ์ เกิดเมืองปีนัง เหตุแห่งการพระราชทานคือความชอบที่ได้เป็นครูถวายการสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์
ผู้ได้รับพระราชทานท่านอื่น ๆ หลังจากนั้น หลายท่านเป็นผู้มีความรู้ในศาสตร์หรือวิทยาการสมัยใหม่ เช่น สำเร็จวิชาเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ สำเร็จวิชาแพทย์จากยุโรป เป็นผู้ชำนาญการในกรมรถไฟ กรมโทรเลข กรมไปรษณีย์ หรือเป็นช่างถ่ายรูป
ส่วนอีกบางท่าน คือผู้เป็นเลิศในศิลปะแต่ละแขนง เช่น ชำนาญในการโน้ตแตร เป็นช่างเงินช่างทอง ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างแกะ หรือเป็นนักแต่งหนังสือ
พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ที่เราคุ้นกับพระนาม ทรงได้รับพระราชทานจากพระปรีชาต่าง ๆ กันไป เช่น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วะโรประการ ได้รับพระราชทานจากที่ทรงเชี่ยวชาญวิชาเลข พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ จากวิชาช่าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จากการทรงแต่งตำราเรียน และพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ จากวิชาช่างเขียน
บุคคลผู้มีคุณลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าวนี้รวมจำนวน 40 ท่าน ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ก่อนพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจดูพระยศหรือบรรดาศักดิ์ของผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ทั้ง 40 ท่านตลอด 18 ปีแรกนั้น เราจะพบว่ามีบุคคลที่เป็น “ทหารอาชีพ” อยู่เพียงท่านเดียว คือพลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพรหมรักษา ปลัดกรมช่างทหาร
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต บันทึกพระประวัติเจ้าฟ้าบริพัตรฯ เมื่อทรงเริ่มเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ มีความตอนหนึ่งบอกเล่าถึงพระยาราชสงครามไว้ว่า คือหนึ่งในกลุ่มนายทหารเรือ “หัวเก่า” ซึ่งมีแนวปฏิบัติราชการไม่สอดคล้องราบรื่นนักกับนายทหาร “หัวใหม่” อันพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเป็นองค์นำสำคัญ
แม้จะเป็นทหารอาชีพ ทั้งเป็นนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ แต่พระยาราชสงครามก็ไม่ได้เป็นทหารนักรบผู้เชี่ยวชาญทางยุทธการหรือเสนาธิการ หากเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานช่าง คือเป็น “ทหารช่าง” ตลอดชีวิตราชการ โดยหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของท่านก็คือ การเป็นนายช่างผู้ควบคุมการสร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์องค์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นเรือพระที่นั่งที่เริ่มต่อขึ้นในปลายรัชกาลที่ 5 แทนองค์เดิมที่ชำรุดทรุดโทรม มาแล้วเสร็จบริบูรณ์ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6
จึงนับได้ว่า ต้องใช้เวลายาวนานถึง 18 ปี กว่าจะมี “ทหารขนานแท้” ผู้มีผลงานที่เหมาะสมสำหรับจะได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
ข้อสังเกตอีกประการที่น่าสนใจก็คือ ในขณะนั้น พระองค์เพิ่งจะทรงรับราชการมาได้เพียง 1 เดือนบริบูรณ์ นับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก สำหรับการสั่งสมผลงาน

ในปัจจุบัน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้อธิบายถึงการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ว่าผู้เสนอขอพระราชทานจะต้องมีผลงานประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- คิดค้นความรู้ ระบบ กรรมวิธี หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ
- ปรับปรุงความรู้ ระบบ กรรมวิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก
- ได้แสดงให้เป็นที่ปรากฎว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา

สำหรับเมื่อ 120 ปีก่อน เรายังไม่พบหลักฐานที่อธิบายในรายละเอียดชัดเจนว่า การทรงได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดระยะเวลา 18 ปีดังกล่าวข้างต้นนั้น มีที่มาจากเกณฑ์การพิจารณาพระราชทานอย่างไร แต่จากพระประวัติ เราย่อมเห็นได้ถึงแง่มุมสำคัญ 3 ประการ อันเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นมูลเหตุของการพระราชทานนี้
ประการแรกคือ ทรงเป็นชาวสยาม ที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือจากอังกฤษ โดยทรงผ่านการฝึกหัดศึกษาในเรือรบราชนาวีอังกฤษอย่างยาวนาน เพียงพระองค์แรกพระองค์เดียว โดยก่อนหน้านั้น เคยมีชาวสยามที่ผ่านการศึกษาวิชาทหารเรือจากอังกฤษมาก่อนพระองค์แล้ว คือนายฉ่าง แสงชูโต (ต่อมาเป็น นายพลเรือ พระยามหาโยธา) แต่นายฉ่างไม่ได้ผ่านการฝึกหัดศึกษาในเรือรบอังกฤษ
ประการที่สอง รายงานการตรวจการป้องกันลำน้ำเจ้าพระยา อันอาจนับได้ว่าเป็นผลงานเชิงวิชาการชิ้นแรกของพระองค์ ซึ่งทรงสะท้อนพระดำริลึกซึ้งและสายพระเนตรเฉียบแหลมเป็นแบบฉบับของพระองค์เอง แตกต่างไปจากนายทหารเรือสยามทั้งชาวตะวันตกและชาวไทยยุคก่อนหน้านั้น
และประการที่สาม คือการทรงวางระบบทัศนสัญญาณในภาษาไทย ทั้งทรงฝึกสอนพลทัศนสัญญาณขึ้นเป็นครั้งแรกในราชนาวีสยาม อันเป็นการ “คิดค้นความรู้ ระบบ กรรมวิธี หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ” อย่างชัดเจน
เพียง 1 เดือนหลังทรงรับพระราชทานสัญญาบัตรยศ ซึ่งคือเพียงไม่ถึง 2 เดือนหลังนิวัตมาตุภูมิ พระปรีชาแห่งพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ในด้านวิทยาการความรู้ ก็ได้เป็นที่ประจักษ์และยกย่องเชิดชู