จากความสนพระทัย และการทรงเรียนรู้ สู่พระกรณียกิจของกรมหลวงชุมพรฯ ในพระนาม “หมอพร” เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว องค์ความรู้ในพระองค์อันเป็นมรดกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน อาจสร้างคุณประโยชน์อย่างไรบ้างต่อสังคมไทย

Writer : ฑิตยา ชีชนะ

15 October 2020

มรดกจากหมอพร หมอเทวดาของประชาชน

หากเอ่ยถึงพระกรณียกิจสำคัญในพระชนม์ชีพของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์แล้ว “หมอพร” ก็คงจะเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจที่ผู้คนยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อยนึกถึง ไม่ว่าจะในแง่พระปรีชาจากการทรงศึกษาด้านศาสตร์การแพทย์ หรือในด้านน้ำพระทัยที่กว้างขวางของพระองค์ ที่ทรงรักษาคนเจ็บโดยไม่เลือกชนชั้น จนได้รับการขนานนามว่า “หมอพร หมอเทวดาของประชาชน”

แต่รู้หรือไม่ ? ณ ปัจจุบันสมัย มรดกขององค์ความรู้ที่หมอพรทรงศึกษา รวมทั้งแนวพระดำริต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ยังคงมีประโยชน์ในหลากแง่หลายมุม ทั้งในด้านศาสตร์การแพทย์ก็ดี หรือในด้านการเป็นแบบอย่างของผู้อยู่ในวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขก็ดี คุณประโยชน์เหล่านี้ซุกซ่อนอยู่ในรายละเอียดแห่งพระประวัติของหมอพร อย่างที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยทราบ หรือนึกไปไม่ถึง

ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่ 5 ขึ้น ภายใต้โครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “หมอพร หมอเทวดาของประชาชน”

ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ทั้ง 2 ท่านล้วนเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการแพทย์และสมุนไพรไทย คือ เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชกรรมการผลิต) ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ พลเรือเอกชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย ซึ่งได้มาร่วมกันถ่ายทอดทัศนะมุมมอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาพระประวัติและตำรายาของหมอพร โดยมี คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ค้นคว้าข้อมูลเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับพระประวัติทั้งในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือพระประวัติฉบับมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

เมื่อมองย้อนกลับไปยังยุคสมัยที่หมอพรทรงออกตรวจรักษาผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น บริบทของยุคสมัยดังกล่าวคือการเป็นช่วงเวลาที่แพทย์แผนไทยถูกลดคุณค่าและความน่าเชื่อถือลง คู่ขนานไปกับการทวีบทบาทความนิยมในศาสตร์การแพทย์แบบตะวันตก การที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงศึกษาศาสตร์การแพทย์ทั้งสองแขนง และใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแบบตะวันตกในการรักษาผู้คน จึงเป็นเรื่องที่นับว่าแปลก แตกต่าง และสันนิษฐานได้ว่าย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างยิ่ง

พลเรือเอกชาญชัย: … การที่ท่านศึกษาเรื่องนี้ ผมมองสองอย่าง…คือความน่าเชื่อถือว่าแพทย์แผนไทยก็ยังได้ถูกนำไปใช้ในราชสำนัก มีพระบรมวงศานุวงศ์มาทรงศึกษา และทรงนำไปใช้ … ท่านกระจายสู่ประชาชน ในแง่นามธรรมก็คือการเป็นขวัญกำลังใจ … ส่วนในแง่ของรูปธรรม จะเห็นได้ว่าท่านทรงแต่งคัมภีร์เอาไว้ จะเห็นได้ว่าทั้งสองส่วนนี้ เป็นส่วนที่เสริมให้คนที่อยู่ในวงการแพทย์แผนไทยมีกำลังใจ …

ผู้สนใจพระประวัติของหมอพร ย่อมคุ้นเคยกับชื่อ “พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณะกรรมเเละปัจจุบันนะกรรม” อันเป็นตำรายาฝีพระหัตถ์ซึ่งทรงสร้างขึ้นอย่างสวยงาม ซึ่งพลเรือเอกชาญชัยได้กล่าวถึงไว้ แต่ “ตำรายาของหมอพร” ไม่ได้มีเฉพาะพระคัมภีร์ดังกล่าวนี้เพียงเล่มเดียว หากยังมีหลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันจำนวน 15 เล่มสมุดไทย

เป็นที่ทราบกันทั่วไปในสังคมว่า เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์เป็นผู้ศึกษาจนรู้รอบรู้ลึกในศาสตร์การแพทย์แผนไทยมายาวนาน แต่สิ่งที่สาธารณชนไม่ทราบกันแพร่หลายก็คือ เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์เป็นบุคคลเพียงน้อยรายที่มีโอกาสศึกษาเนื้อหาในตำรายาของหมอพรทั้ง 15 เล่มสมุดไทยดังกล่าว จึงสามารถชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างตำรับยาตามแบบฉบับของหมอพรกับตำรับยาทั่ว ๆ ไป ได้ในหลายแง่ เช่น มีการบันทึกถึงพืชสมุนไพรพื้นบ้านต่าง ๆ ของแต่ละภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ดอกไม้ในแต่ละพื้นถิ่น รวมไปถึงมีการระบุส่วนผสมที่คนไม่น้อยคงไม่คิดว่าจะเป็นองค์ประกอบในการปรุงยารักษาโรค เช่น กะปิ หรือปลาร้า อีกทั้งยังมีการกำหนดให้ลงอักขระในสมุนไพรบางชนิดก่อนนำมาปรุงยา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งแง่มุมพระชนม์ชีพของหมอพร

เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์: … ในเอกสารสมุดไทยของหมอพรทั้ง 15 ฉบับ เราก็เห็นว่ามีองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์แบบราชสำนัก มีคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนอาจจะปรากฏอยู่ในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ แล้วยังมียาเกร็ด และยาเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เรียกว่าตำราของพระองค์ท่านสะท้อนตัวตนของพระองค์ท่านเลย คือพระองค์ท่านทรงไปตั้งแต่เหนือจรดใต้ พระองค์ท่านทรงอยู่ตั้งแต่ในวังจนถึงพื้นบ้าน และพระองค์ท่านทรงเป็นผู้ที่เรียนรู้ พอได้อ่านแล้ว ก็รู้สึกว่านี่คือความเป็นพระองค์ท่าน …

… ตอนที่ดิฉันรวบรวมและวิเคราะห์ตำรายาของพระองค์ท่าน ก็ได้ไปอ่านตำรายาของหลวงปู่ศุขที่ชัยนาท … ก็เห็นความต่าง … ตำรายาทั่วไปจะไม่ลงรายละเอียดการทำ สับอย่างไร หมักอย่างไร กี่วัน … จะบอกแค่ว่าตำรับยามีอะไร แค่นี้ แล้วจบ แต่ความพิเศษของตำรับยาหมอพรคือ มีการลงรายละเอียด ซึ่งอย่างที่บอกนะคะว่า ตำรายานี้สะท้อนตัวตนของพระองค์ท่าน จะเรียกว่า “เป๊ะเว่อร์” ก็ได้ … มันพลาดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของชีวิต …

ทั้งในฐานะนายทหารเรือและในฐานะผู้ศึกษาวิชาแพทย์แผนไทย พลเรือเอกชาญชัยได้แสดงทัศนะเพิ่มเติมต่อข้อสังเกตของ เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ในแง่ที่ว่าความ “เป๊ะเว่อร์” ของพระองค์นั้น อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากพระคุณลักษณะในการเป็นทหารเรือของพระองค์ ซึ่งสามารถจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการกระทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม

พลเรือเอกชาญชัย: … ความเป็นทหารเรือก็คือตัวตนของท่าน พระองค์ทรงใส่อุปนิสัยของพระองค์ลงไปในการสอนนักเรียนนายเรือ เพราะฉะนั้น เรื่องของการใฝ่รู้ ความพยายาม สิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ท่านทรงศึกษาอะไรก็ได้ … แล้วการเป็นทหารเรือ อีกสิ่งที่เราได้รับก็คือความเป็นครู … ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนผสมที่ผสมผสานกันได้เป็นอย่างดี …

นอกเหนือไปจากความละเอียดในการจดบันทึก และส่วนผสมที่ไม่เคยเห็นในตำรับยาใดมาก่อนแล้ว เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ยังได้ชี้ให้เห็นอีกหนึ่งลักษณะการจดบันทึกในตำรับยาของหมอพร ที่ใช้ “บทกลอน” เข้ามาช่วยในการบันทึกและจดจำ อาทิ บทกลอนว่าด้วยรสของสมุนไพรต่าง ๆ ที่ใช้ในการปรับธาตุ ซึ่งเภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ได้คัดบางตัวอย่างมาอ่านให้ฟัง

เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์: … ฝาดชอบสมาน รสหวานซาบเนื้อ เมาเบื่อแก้พิษ ดีโลหิตชอบขม ร้อนลมถอยทด เอ็นชอบรสแห่งมัน หอมเย็นนั้นชื่นใจ เค็มซาบในผิวเนื้อหนัง เสมหะยังชอบส้ม บทนี้คิดว่าคงยังไม่มีใครเคยได้ยินแน่ ๆ ซึ่งเนื้อหานี้อาจจะมีการปรับมาจากของคนอื่น หรือคนอื่นเอาของพระองค์ท่านไปปรับก็ยังไม่ทราบ มีความคล้าย แต่ไม่เหมือนกันแน่นอน … มีการแต่งคัมภีร์ยาก ๆ เป็นทบกลอน เพื่อที่จะได้จำได้ง่ายขึ้น …

ลักษณะเด่นอีกประการในตำรับยาของหมอพร ในมุมมองของเภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ คือมีการบันทึกสูตรยาแปลก ๆ เอาไว้ เช่นสูตรยาตำรับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรคใด ๆ โดยตรง

เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์: … ตำรับยาชื่อว่า “สำราญอากาศ” คือเป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา แล้วก็ไม่ได้ใช้รักษาโรคอะไร … คือปรุงให้กินเพื่อให้คนมีความสุข จะเรียกว่าเป็นยานันทนาการก็ได้ ซึ่งเราไม่เคยเห็น …

หากถามถึงคุณประโยชน์ที่ได้รับ จากการศึกษาองค์ความรู้ในสมุดไทยตำรายาที่หมอพรได้ทรงทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง คำตอบที่ได้กลับมานั้น เป็นเสมือนเครื่องยืนยันถึงคุณค่าของศาสตร์การแพทย์และสมุนไพรไทยได้เป็นอย่างดี

เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์: … ในขณะที่คนไทยเริ่มจะดูถูกความเป็นไทยด้วยกัน พระองค์ทรงเลือกที่จะแสดงให้เห็นว่าการแพทย์แผนไทยนั้นมีประโยชน์ เพื่อที่ทรงจะคว้าตำราที่มีอยู่ นำไปรักษาดูแลประชาชน … การที่พระองค์ท่านตัดสินพระทัยอย่างนั้น ทำให้เรามีตำรายาของพระองค์ท่าน ซึ่งแม้ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 15 เล่ม แต่ดิฉันก็ตื่นตาตื่นใจ … และความที่พระองค์ท่านเป็นผู้กว้างขวาง เป็นที่เคารพ … การที่ตำรับยาเหล่านี้อยู่ในมือหมอพร เราก็เชื่อว่าอะไรอยู่ในนั้น มันคืออะไรที่มันใช่ มันเชื่อถือได้ …

… เรามีทรัพยากรธรรมชาติในแผ่นดินของเรา สิ่งนี้เราสามารถใช้เป็นฐานที่มั่น ที่จะทำให้ระบบการดูแลสุขภาพของเราเข้มแข็ง อย่างพระองค์ท่าน จะทรงเข้าหาหมอฝรั่งตอนไหนก็ได้ แต่พระองค์ก็เลือกที่จะใช้การแพทย์สมุนไพรไทยไปดูแลสุขภาพคนอื่น … เพราะพระองค์ท่านทรงเห็นคุณค่า และทรงเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้ …

ควบคู่กับการแพทย์แผนไทย หมอพรก็ทรงเลือกที่จะทรงศึกษาในศาสตร์การแพทย์แบบตะวันตกด้วยเช่นกัน ดังที่ปรากฏในคำบอกเล่าของท่านหญิงจารุพัตรา พระธิดา ที่ทรงเคยเล่าถึงบรรยากาศการทรงงานของหมอพรกับแพทย์ชาวอิตาลีและญี่ปุ่น ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมิได้เลื่อมใสหรือดูแคลนในศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่ง หากทรงนำคุณลักษณะของศาสตร์ทุกแขนงมาใช้ในการสร้างประโยชน์

พลเรือเอกชาญชัย: … พระองค์ท่านทรงมีวิสัยทัศน์มากเลย เพราะว่าพระองค์ท่านได้ทรงพูดหรือเขียนให้ข้อคิดแก่คนที่มีวิชาแพทย์ว่า อย่ายึดติด … โรคสมัยปัจจุบันหรือว่าโรคสมัยโบราณ หรือว่ายาต่าง ๆ นั้น เมื่อต่างยุคต่างสมัยมันก็อาจจะแตกต่างกันได้ … เป็นหน้าที่ที่หมอทุกคนจะต้องศึกษา อีกสิ่งก็คือที่ท่านทรงนิพนธ์ไว้ว่า อย่าคิดว่าหมอฝรั่งนั้นดีหรือไม่ดี แพทย์แผนไทยก็เหมือนกัน มีทั้งข้อดีและไม่ดี เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของหมอที่จะต้องบูรณาการเอาส่วนที่ดีมาใช้ผสมผสานกัน เพื่อรักษาคนไข้ … ท่านทรงเป็นคนที่เปิดกว้างมาก เพื่อรับสิ่งที่ดีที่สุดและนำมาใช้ เป็นการแพทย์บูรณาการอย่างแท้จริง …

จากมรดกของหมอพร ไม่ว่าจะในแง่คุณค่าองค์ความรู้ในตำรับยา หรือแนวทางในการศึกษาวิชาแพทย์โดยบูรณาการทั้งแผนไทยและแบบตะวันตกนั้น ผู้ร่วมเสวนาต่างมองเห็นถึงศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาต่อยอด ให้สอดคล้องกับทิศทางของทั้ง “โลก” และ “โรค” ในปัจจุบัน

เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์: … มรดกของพระองค์ท่านก็คือ การทำอะไรก็ทำจริง มีความเมตตา มีความรอบรู้ หาความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง หากทำประโยชน์อะไรได้ก็ต้องทำ และที่สำคัญคือการดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อทำประโยชน์ เหล่านี้ก็อาจจะเป็นแง่คิด ที่นำมาวางเป็นแนวทางการบริการสาธารณสุขเลยก็ได้ว่า เราควรทำให้ทุกคนเป็นหมอ คือสามารถที่จะดูแลโรคพื้นฐานของตัวเองได้ด้วยสมุนไพร หรือศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่เรามีอยู่ …

… ในอนาคต โรคระบาดใหม่จะมาอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ การปิดประเทศต่าง ๆ ที่ผลิตสารเคมีมาทำยาให้เรา เขาก็อาจจะไม่มีส่งมาก็ได้ … เราอาจจะต้องพึ่งพาตำรับตำรายาที่เรามีอยู่ก็เป็นได้ … งานของพระองค์ท่านในเรื่องสาธารณสุขนั้น ถ้ามองอย่างรอบด้านแล้วนี่ ปรับใช้นำมาวางเป็นนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ได้เลย …

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช