พระกรณียกิจมากมายในการทรงรับราชการของกรมหลวงชุมพรฯ ส่งผลอย่างไรแก่ราชนาวีสยามบ้าง กระทั่งพระองค์ได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

Writer : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

11 July 2020

พระเกียรติคุณแห่งองค์บิดา ในสายตาทหารเรือไทย

น้อยคนนักที่จะไม่ทราบว่า “องค์บิดาของทหารเรือไทย” คือพระสมัญญาที่กองทัพเรือได้น้อมถวายแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มายาวนาน จากคุณูปการมากมายที่พระองค์ทรงกระทำไว้ ในการทรงวางรากฐานการทหารเรือยุคใหม่ในสยาม

อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าทรงกระทำสิ่งใดไว้แก่ราชนาวีสยามบ้าง ก็อาจมีน้อยคนเช่นกัน ที่จะตอบได้อย่างกระชับและแจ่มชัด

บุคคลที่ไม่ใช่ทหารเรือ แม้มีความเคารพศรัทธาหรือสนใจในพระประวัติของพระองค์ แต่เมื่อไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือมีประสบการณ์ตรงในวิชาชีพทหารเรือ จึงย่อมอาจจะมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนักว่า “เสด็จเตี่ย” ทรงคิด ทรงทำ และทรงสร้างอะไร? ไว้ในกิจการทหารเรือสยาม

ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่ 2 ในโครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

เมื่อการเสวนามีหัวข้อเช่นนี้ ผู้ร่วมเสวนาในกิจกรรม จึงย่อมจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากนายทหารเรือมืออาชีพ

มูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ได้เชิญ พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือและโฆษกกองทัพเรือ อดีตผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส นายทหารเรือสายเสนาธิการ และ พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย และอดีตผู้บัญชาการหน่วยซีล ชุดปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่าถ้ำหลวง นายทหารสายยุทธการ มาถ่ายทอดมุมมองและให้ความกระจ่างถึงพระปรีชาสามารถ และพระกรณียกิจในกิจการทหารเรือของกรมหลวงชุมพรฯ โดยมี คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ค้นคว้าข้อมูลเอกสารชั้นต้นทั้งในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือพระประวัติฉบับมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

เรียกได้ว่า นายทหารเรือทั้งสายบุ๋นและสายบู๊ อยู่กันครบในเวทีนี้

จากจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ทั้งพลเรือโทประชาชาติและพลเรือตรีอาภากร ต่างก็ค่อย ๆ ซึมซับและสั่งสมความรู้ ก่อเกิดเป็นความเข้าใจและซาบซึ้งถึงคุณูปการในด้านต่าง ๆ ที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงสร้างประทานไว้ให้กับกิจการทหารเรือ ตั้งแต่สิ่งที่เป็นรากฐานที่สุด นั่นก็คือการพัฒนาขีดความสามารถของ “องค์บุคคล”

การทรงถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้ สั่งสอนฝึกฝนด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่พลทหารถึงนายทหาร คือพระกรณียกิจด้านหนึ่งซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป แต่นอกเหนือจากนั้น ยังทรงสร้างความเป็นเอกภาพหรือความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดขึ้นในหมู่ทหารเรือ ผ่านแบบแผนธรรมเนียมและค่านิยมต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างสัญลักษณ์ร่วมอย่างบทเพลง หรือการเปรียบชาวทหารเรือกับดอกประดู่

พลเรือโทประชาชาติ : “… ดอกประดู่นั้น ที่จริงแล้วสื่อความหมายหลายอย่าง ในทางทหารเรือ เราอยู่บนเรือลำเดียวกัน เราทำงานอยู่ด้วยความผูกพัน ไม่เหมือนเจ้านายลูกน้อง เราทำงานด้วยกันเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง ร่วมกันต่อสู้กับธรรมชาติ … ถึงเวลาบานเราก็บานพร้อมกัน มีความสุขเราก็สุขด้วยกัน เหนื่อยก็เหนื่อยด้วยกัน แล้วถ้าจะต้องตาย เราก็พร้อมที่จะตายพร้อมกัน …”

พลเรือตรีอาภากร : “… ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของทหารเรือนั้นมีอยู่หลายด้าน เป็นเอกลักษณ์ และก็สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นสากล ก็จะเห็นได้ว่าพระองค์ได้ทรงทำให้ทหารเรือมีเกียรติมากขึ้น แม้แต่เพลงพระนิพนธ์ อย่างเพลง “เดินหน้า” ในท่อนที่ว่า “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ ว่าตัวเราคือ ทหารเรือไทย” ตรงนี้เป็นสิ่งปลูกฝังให้ทหารเรือมีความภาคภูมิใจ ในการที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ ….”

ไม่เพียงเฉพาะในการสร้างคน ให้สามารถนำเรือรบโลดแล่นต่อตีข้าศึกในทะเลลึกได้ด้วยขีดความสามารถของตนเอง ไม่ต้องอาศัยชาวต่างชาติเหมือนเช่นในอดีต แต่กรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงพัฒนา “องค์วัตถุ” ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์บุคคล เพื่อพัฒนาศักยภาพของราชนาวีสยาม จากทัพเรือในแม่น้ำสู่ทัพเรือในทะเล ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล

พลเรือโทประชาชาติ : “… ท่านทรงระบุไว้ละเอียดในด้านการพัฒนาองค์วัตถุ … ท่านพูดถึงป้อม ฐานทัพ และประเภทเรือรบที่ทรงอยากจะใช้ … การมียุทโธปกรณ์ทัดเทียมกับต่างชาติ เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากยุทธวิธีในการรบจะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างองค์วัตถุให้มีก่อน และฝึกคนให้ใช้วัตถุได้ก่อน …”

นอกจากยุทโธปกรณ์อันเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการป้องกันประเทศแล้ว การมีชัยภูมิที่ดี ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นเดียวกัน

พลเรือตรีอาภากร : “… พระองค์ท่านทรงเห็นว่า อ่าวสัตหีบนั้นมีความกว้างพอสมควร และก็มีเกาะต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ ที่จะใช้ในการบังคลื่นลมและบังการมองเห็นของเรือที่ผ่านไปมา ท่านก็ขอพระราชทานพื้นที่ตรงสัตหีบ … ซึ่งถือได้ว่าเป็นชัยภูมิที่ดีมาก ๆ … ซึ่งผมเชื่อว่าคนในปัจจุบันคงจะเห็นแล้วว่า ถ้าพระองค์ไม่ขอพระราชทานพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้กับทหารเรือ ป่านนี้ก็คงไม่ได้เป็นที่มั่นที่สำคัญทางทหาร ที่ใช้ในการปกป้องประเทศ …”

นอกเหนือไปจากองค์บุคคลและองค์วัตถุแล้ว “องค์ยุทธวิธี” ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงให้ความสำคัญ โดยทรงถ่ายทอดพระดำริและความรู้ เป็นรากฐานแก่นายทหารเรือไทยรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

พลเรือโทประชาชาติ : “… ด้านยุทธศาสตร์ที่เราร่ำเรียนกันมา ตามที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้นั้น หลักง่าย ๆ ก็คือ เราคำนึงถึง END, WAY และก็มี MEANS จุดมุ่งหมายคืออะไร วิธีที่จะไปสู่จุดมุ่งหมายคืออะไร และวัตถุที่จะใช้คืออะไร… พระองค์ทรงมองว่า ถ้าพระองค์เป็นข้าศึก ข้าศึกจะทำอย่างไร ถึงจะมาเอาชนะประเทศไทยได้ แล้วพระองค์ก็ทรงคิดย้อนกลับว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะต่อต้านอย่างไร ต้องใช้อะไรในการต่อต้าน นี่ก็คือความคิดทางยุทธศาสตร์ที่พระองค์ได้ทรงคิดขึ้น เพื่อก้าวไปหาองค์วัตถุและฝึกองค์บุคคลต่อไป … ”

พระกรณียกิจของพระองค์ ในการทรงพัฒนาทั้งองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ได้ก่อเกิดสิ่งใหม่หรือมาตรฐานใหม่ในราชนาวีสยามมากมาย เช่น การฝึกภาคทะเล ทั้งในทะเลสยามและไป “อวดธง” ในน่านน้ำต่างประเทศ การผลิตนายทหารเรือชาวสยามที่นำเรือในทะเลลึกได้เอง หรือการที่เรือรบสยามสามารถออกปฏิบัติการด้วยพลประจำเรือที่เป็นชาวสยามล้วน ๆ ”

หนึ่งพระภารกิจสำคัญในการทรงรับราชการทหารเรือของกรมหลวงชุมพรฯ นั้น ก็คือการจัดหาเรือพระร่วง ซึ่งนับได้ว่าพระภารกิจนี้สะท้อนให้เห็นถึงประปรีชาสามารถด้านการทหารเรือของพระองค์ในทุก ๆ ด้านได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การที่พระองค์ทรงกำหนดคุณลักษณะและสมรรถนะของเรือที่เหมาะสม จนถึงการเสด็จไปซื้อเรือ และทรงนำเรือพระร่วงเดินทางไกลข้ามทวีปกลับมายังสยาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการเดินเรือในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีมากมายรองรับ

พลเรือตรีอาภากร ผู้มีประสบการณ์ตรงในการเดินทางไกลข้ามทวีปด้วยเรือรบ จากการร่วมในปฏิบัติการปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย ได้ชี้ถึงพระปรีชาในพระภารกิจนี้

พลเรือตรี อาภากร : “… สมัยที่ผมไปกับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดที่โซมาเลียนี่ ระยะทางที่เราไปก็ไม่ถึงครึ่งทางของพระองค์ท่าน เรือที่เราไปนั้นมีความทันสมัย มีเครื่องหาที่เรือด้วยดาวเทียม ช่วยเราให้นำเรือได้สะดวกมากขึ้น แต่สมัยกรมหลวงชุมพรฯ นี่ พระองค์ต้องทรงเดินเรือโดยหลักดาราศาสตร์ … ซึ่งระยะทางที่พระองค์ทรงเดินทางนั้นไกลมาก และบนเส้นทางที่ผ่าน ก็มีหลายช่องแคบมาก อย่างช่องแคบยิบรอลตาร์หรือคลองสุเอชซึ่งมีเรือผ่านจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในการนำเรือก็ต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืนซึ่งมืด รวมทั้งทะเลมันกว้างและเวิ้งว้างมาก เราจะหันทิศเรือไปทางไหน เราก็ต้องใช้วิธีการวัดดาว ใช้การเดินเรือด้วยดาราศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการนำเรือที่มีความยุ่งยากกว่าปัจจุบันมาก นี่คือเฉพาะเรื่องการนำเรือนะครับ

แต่มันก็ยังมีเรื่องคลื่นลม การอยู่ในมหาสมุทรกว้างใหญ่ คลื่นลมมันค่อนข้างแรง ผมเคยได้ฟังรุ่นพี่ผม พี่ภราดร พวงแก้ว รุ่นเดียวกับพี่ประชาชาติ ท่านนำเรือหลวงจักรีนฤเบศรกลับมาจากสเปน สเปนนี่อยู่ที่ยิบรอลตาร์เลยนะครับ ส่วนอังกฤษนั่นอยู่เหนือขึ้นไปอีก ท่านบอกว่าพอผ่านอ่าวเอเดนเข้ามหาสมุทรอินเดีย ตรงทะเลแคริเบียน โอโห้ เจอคลื่นลม ขนาดเรือจักรีนฤเบศรยังสาหัสสากรรจ์เลยนะครับ คลื่นสูงมาก การนำเรือจักรีนฤเบศวร์ เทียบความทันสมัยแล้วทันสมัยกว่าเยอะ ยังค่อนข้างลำบาก แล้วในอดีตสมัยพระองค์ท่าน ผมว่าต้องชำนาญมาก ๆ ถึงจะนำเรือพระร่วงจากอังกฤษกลับมาได้นะครับ …”

ในประเด็นนี้ พลเรือโทประชาชาติได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า การทรงนำเรือพระร่วงกลับสู่สยามนั้น นับได้ว่าเป็น Maiden Voyage ครั้งแรกของราชนาวีสยาม ซึ่งหมายถึงการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทหารเรือสยาม ที่ผู้บังคับการเรือชาวสยามสามารถนำเรือเดินทางข้ามทวีปได้อย่างประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก ไม่เคยมีผู้ใดทำได้อย่างนี้มาก่อน

ตลอดช่วงเวลาในการทรงรับราชการของกรมหลวงชุมพรนั้น สิ่งต่าง ๆ มากมายทั้งที่เป็นการพัฒนาองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี รวมทั้งเหตุการณ์ใหม่และมาตรฐานใหม่ ๆ มากมาย ล้วนเกิดขึ้นในราชนาวีสยาม เป็นรากฐานการยังประโยชน์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่พลเรือโทประชาชาติก็ได้ชี้ถึงข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น หากลองพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะเห็นว่าเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาที่พระองค์ทรงรับราชการเพียงแค่ประมาณ 17 ปีเท่านั้น

พลเรือโท ประชาชาติ : “… พระภารกิจที่พระองค์ท่านได้ทำให้ดู ได้ทำให้เห็น และสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่พระองค์ทรงจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เสด็จกลับมารับราชการที่ประเทศไทยทั้งหมดก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ได้เป็นเวลาที่มากมาย แต่พระองค์ท่านทำได้หลายอย่างมาก และทำได้อย่างรวดเร็ว ก่อตั้งทุกอย่างจนเจริญก้าวหน้าขึ้นมาทันทีทันใด เหมือนกับท่านทรงเห็นว่า ถ้าสิ่งใดที่ดี ที่ควร ที่ต้องทำ มันต้องทำเลย …

… พระประวัติของพระองค์ท่านได้สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ท่านได้ทุ่มเทให้กับประเทศไทย ให้กับเอกราช ให้กับความมีเกียรติภูมิของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สำคัญมากว่า คนเราเกิดมาก็ต้องทดแทนคุณแผ่นดิน …”

เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสวนาที่กินเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ครอบคลุมรายละเอียดของเนื้อหาอย่างมากมายหลายแง่มุม

แต่เรื่องราวในการเสวนานั้น ก็เป็นเพียงประเด็นเด่น ๆ บางส่วน จากพระกรณียกิจมากมายหลายด้าน ที่ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ได้ทรงกระทำไว้ให้มาตุภูมิ

————————————————————————-

การเสวนาพระประวัติครั้งต่อไป จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ในหัวข้อ “เสด็จเตี่ยและการดนตรี สู่บทเพลงราชนาวีสยาม” พร้อมทั้งติดตามเรื่องราวการเสวนาในหัวข้ออื่น ๆ อาทิ ความสนพระทัยในศิลปะนานาแขนง กฤติยาคม หรือการแพทย์บูรณาการ ฯลฯ ในกิจกรรมเสวนาซึ่งจะจัดขึ้นในทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน ไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563

สามารถติดตามคลิปสรุปไฮไลต์จากการเสวนาได้ที่ YouTube ช่อง กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม โดย subscribe เพื่อให้ทราบข่าวสารคลิปใหม่ก่อนใคร ที่ : https://www.youtube.com/channel/UCXEWy9WMYORvYepGgOwlrBg

รวมทั้งติดตามและกด see first ที่ Facebook Page กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกร็ดพระประวัติ ร่วมทั้งข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ จากโครงการ ที่ : https://www.facebook.com/hrh.abhakara.120anv.homecoming/

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช