
ปัจจุบันนี้ หากใครมีโอกาสเข้าไปเยือนโรงเรียนนายเรือ ซึ่งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากตัวเมืองสมุทรปราการ และได้เลยลึกเข้าไปจนถึงท่าเทียบเรือของโรงเรียนที่ฝั่งแม่น้ำ ก็ย่อมจะสะดุดตากับป้ายสีสดใส ระบุนามท่าเรือแห่งนี้ว่า “ท่าเสือซ่อนเล็บ”
ในอาณาบริเวณเดียวกัน มีร่องรอยรากฐานสิ่งก่อสร้างโบราณ กับแผ่นจารึกเรื่องราวแต่หนหลัง “อนุสรณ์สถาน รำลึก ป้อมเสือซ่อนเล็บ”
นอกจากนามอันโดดเด่น ความหมายลุ่มลึก แฝงความองอาจน่ายำเกรงแล้ว ชื่อและอาณาบริเวณของ “ป้อมเสือซ่อนเล็บ” หรือ “ป้อมเสือส้อนเล็บ” ตามเอกสารราชการเมื่อกว่าศตวรรษก่อนนั้น เมื่อพินิจพิจารณาอย่างเชื่อมโยงกับพระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็ยังทำให้เราหวนคำนึงถึงพระปรีชาด้านการทหารเรือของพระองค์ ได้อย่างแจ่มชัด
ไม่ว่าจะพินิจจากสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยสายตาในปัจจุบัน หรือมองผ่านสายตาของผู้เกี่ยวข้องกับการทรงรับราชการของพระองค์ เมื่อ 120 ปีก่อนก็ตาม

เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว ผู้คนทั้งในกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ติดต่อสื่อสารและค้าขายกับชาวต่างชาติโดยการใช้ “แม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นเส้นทางหลัก สายน้ำนี้จึงเป็นดั่งประตูบานสำคัญที่เชื่อมโยงโลกภายนอกกับหัวใจของราชอาณาจักรสยาม
การป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรูตั้งแต่ปากแม่น้ำเป็นต้นมา จึงเป็นสิ่งที่บรรพชนสยามยุคก่อนที่โลกจะมีเครื่องบินและรถถัง ต้องให้ความสำคัญมาทุกยุคสมัย

เมื่อ 120 ปีที่แล้ว ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ 2443 ภายหลังที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายเรือโทในกรมทหารเรือเพียง 2 วัน นายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม องค์ผู้บัญชาการกรมทหารเรือก็ทรงมอบพระภารกิจแก่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้ทรง “…ไปตรวจการแลคิดการแก้ไขในการรักษาลำน้ำเจ้าพระยา…”
นักเรียนนายเรือองค์แรกของสยามประเทศ ผู้ทรงเจนจัดในศาสตร์การเดินเรือและการรบในผืนน้ำกว้าง เป็น “ทหารเรือทะเล” ที่ฝึกศึกษาอย่างเข้มข้นมาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อนิวัตมาตุภูมิเข้าประจำการเป็นนายทหาร ก็ทรงเริ่มพระภารกิจ “ภาคสนาม” แรกสุดในชีวิตราชการแบบ “ทหารเรือแม่น้ำ” ตามบริบทความมั่นคงของสยามยุคนั้น

4 วันหลังจากที่ทรงได้รับคำสั่ง นายเรือโท พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ถวาย “รายงงานการตรวจลำน้ำเจ้าพระยา” แก่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สะท้อนถึงความทรงกระตือรือร้นและการทรงปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็ว

รายงานจากแนวพระดำริดังกล่าว มีทั้งชี้ถึงข้อดี และวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาถึงข้อด้อยในประสิทธิภาพ ของกลไกป้องกันตนเองหลายส่วนที่รัฐบาลสยามได้ทุ่มเทลงทุนปรับปรุงให้ทันสมัย ภายใต้การกำกับดูแลของนายทหารชาติตะวันตกที่รัฐบาลได้จ้างไว้ อาทิ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งติดตั้งปืนเสือหมอบอันทันสมัยไว้ถึง 7 กระบอกนั้น ทรงเห็นว่ามีประโยชน์น้อยในการรบ เนื่องด้วยที่ตั้งของตัวป้อมไม่สอดคล้องกับตำแหน่งจอดเรือต่างชาติตามสนธิสัญญาการค้า จึงไม่สามารถป้องกันพระราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดเหตุรุกราน หรือป้อมผีเสื้อสมุทร ซึ่งติดตั้งปืนเสือหมอบไว้ 3 กระบอก ทรงชี้ว่าปืนติดตั้งไว้ไม่ถูกทิศ จึงมีมุมยิงต่อต้านเรือข้าศึกที่จำกัด และป้อมแผลงไฟฟ้าซึ่งเป็นตำแหน่งวางทุ่นระเบิดใต้น้ำ ก็ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสม “… เพราะแม่น้ำตอนนี้ฤกมากไปแลใหลเฉี้ยว …” เป็นต้น


ขณะเดียวกัน ก็ได้ทรงชี้ถึงศักยภาพโดดเด่นของสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงทหาร โดยไม่ได้มีบทบาทอะไรเป็นพิเศษด้านการป้องกันแม่น้ำในยุคสมัยนั้น
“…เหตุฉะนั้นเห็นด้วยเกล้า, ว่า ควรตั้งป้อมให้แข็งแรงยิ่งกว่าป้อมพระจุลจอมเกล้า ขึ้นที่ตำบลป้อมเสือส้อนเล็บ ไว้เป็นที่ต่อสู้กับเรือรบที่จะแล่นขึ้นมารบกรุงเทพ และที่ตำบลป้อมเสือส้อนเล็บนี้ เป็นที่ตั้งอยู่ในไชยภูมิทำเลเหมาะดีมาก มีทางปืนยิงขึ้นมาตอนบนได้จนถึงปากคลองบางจาก แลตอนล่างก็ข่มท่ารถไฟษามาทจะป้องกันการแย่งรถไฟได้ด้วย ถ้าจะทำขึ้นก็ไม่ต้องเปลืองมาก พอจะซ่อมแซมแลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้อมเก่าก็พอใช้ได้อยู่โดยมาก…”

ในภาพรวม รายงานการตรวจลำน้ำเจ้าพระยา อันอาจนับได้ว่าเป็น “พระนิพนธ์ทางวิทยาการทหารเรือชิ้นแรก” ฉบับนี้ ประกอบด้วยรายละเอียดของพระดำริทั้งทางภูมิศาสตร์ ยุทธศาสตร์ และอาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างที่ไม่เคยมี
ชาวสยามผู้มีความรู้ในกิจการทหารเรือท่านใด ได้เคยวิเคราะห์และวิจารณ์เช่นนี้มาก่อน
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงระบุความเห็นของพระองค์ต่อรายงานฉบับนี้ ความตอนหนึ่งว่า “…เปนที่พอใจของกรมทหารเรือมาก…”

จากนั้น ภายหลังกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานดังกล่าว พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบ ความว่า “…ได้อ่านรายงานแล้ว เหนว่าเปนความคิดที่หลักแหลมอยู่…”

ภาพแผนที่เส้นทางรถไฟสายปากน้ำที่ประกอบบทความอยู่นี้ คงจะแสดงให้ผู้อ่านเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความมี “… ไชยภูมิทำเลเหมาะดีมาก …” ของทำเลที่ตั้งป้อมเสือซ่อนเล็บ (บริเวณศรชี้) ซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำกับทางรถไฟ ไม่ไกลจากตัวเมืองและต้นทางรถไฟสายปากน้ำ ทั้งอยู่ในจุดที่มีมุมยิงปืนใหญ่จากป้อมสู่เรือในแม่น้ำได้อย่างกว้างขวาง
แผนที่ฉบับนี้ ซึ่งผลิตขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1937 หรือ พ.ศ. 2478 ระบุที่ตั้งของป้อมเสือซ่อนเล็บไว้ว่า Naval Rating School เนื่องจากในเวลานั้น ทำเลอันโดดเด่นของ “ป้อมเสือส้อนเล็บ” ดังที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงถ่ายทอดพระดำริไว้เมื่อแรกทรงรับราชการ ได้ถูกเลือกใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนจ่า อันเป็นแหล่งผลิตผู้ชำนาญการในวิชาชีพทหารเรือ จากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียนนายเรือ แหล่งผลิตนายทหารสัญญาบัตรของกองทัพเรือเรื่อยมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 จนถึงทุกวันนี้
หากเรายืนอยู่ในโรงเรียนนายเรือ มองจากบริเวณ “อนุสรณ์สถาน รำลึก ป้อมเสือซ่อนเล็บ” ไปทางด้านหนึ่ง เราจะเห็นหอดาราศาสตร์ สถานที่ที่นักเรียนนายเรือใช้ศึกษาวิชาดาราศาสตร์ อันเป็นวิชาที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ จัดให้มีการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในสยามที่โรงเรียนนายเรือ โดยทรงสอนด้วยพระองค์เอง
มองไปอีกด้าน สู่พื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยาซึ่งเรียกขานในปัจจุบันว่า “ลานประวัติศาสตร์ 100 ปี โรงเรียนนายเรือ” เราจะพบ “เรือน้ำตาล” ประดิษฐกรรมอันเป็นเสมือน simulator สำหรับฝึกฝนทำความเข้าใจวิธีการแก้ค่าความเบี่ยงเบนของแม่เหล็กในการใช้เข็มทิศ สร้างขึ้นจากพระปัญญาธิคุณของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งทรงผสมผสานการปลูกฝังค่านิยมอุดมการณ์ ไว้ในการทรงสั่งสอนวิทยาการและทักษะวิชาชีพแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์


ใกล้กับเรือน้ำตาล คืออนุสาวรีย์ พลเรือโท พระยาราชวังสัน ร.น. (ศรี กมลนาวิน) ศิษย์ทหารเรือคนแรกที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรใหม่ที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงปรับปรุงขึ้น จนกลายเป็นนายทหารเรือชาวสยามคนแรกที่สามารถนำเรือเดินในทะเลได้ โดยไม่ต้องใช้ชาวต่างชาติเหมือนในอดีต

อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี สิ่งเตือนความทรงจำถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับอริราชศัตรูเพื่อปกป้องน่านน้ำไทย แม้จะด้อยกำลังกว่าก็พร้อมยอมสละชีวิตร่วมกัน ประดุจดอกประดู่ … วันไหนร่วงโรย ดอกโปรยตกพรู ทหารเรือเราจงดู ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย … จากจิตวิญญาณแห่งชาวราชนาวี ที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงนิพนธ์เตือนใจไว้
ในบางวันเวลาที่ท่าเสือซ่อนเล็บ เราจะเห็นเรือรบลอยลำเทียบท่า เพื่อพานักเรียนชั้นต่าง ๆ ไปฝึกภาคทะเล ทั้งในทะเลไทย และไป “อวดธง” ในน่านน้ำต่างประเทศ ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงริเริ่มบุกเบิกไว้เช่นเดียวกัน
ร่องรอยแห่งพระปรีชาสามารถและพระกรณียกิจเหล่านี้ ล้วนสะท้อนถึงพระสถานะ “นายทหารเรือ” ผู้ทรงใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อทรงพัฒนากิจการทหารเรือไทยให้หยั่งรากลึกสืบไป
