จากความสนพระทัยในสรรพศาสตร์และวิชาอาคมในกรมหลวงชุมพรฯ สู่เรื่องเล่าหลากแง่หลายมุม ที่บางเรื่องก็ยากจะพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ แล้วเราในยุคปัจจุบันจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากเรื่องลี้ลับเหล่านี้

Writer : ฑิตยา ชีชนะ

6 November 2020

วิเคราะห์แง่คิด พินิจมุมมอง จากสรรพวิชาและอาคมในกรมหลวงชุมพรฯ

เมื่อกล่าวถึงกรมหลวงชุมพรฯ แง่มุมหนึ่งในพระประวัติของพระองค์ซึ่งเป็นที่กล่าวขานสืบต่อกันเรื่อยมา นอกเหนือจากการเป็นนายทหารเรือมากความสามารถแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของ “ไสยศาสตร์ วิชา และอาคม”

หลายเรื่องราว “ลี้ลับ” และ “เหนือธรรมชาติ” ที่เกิดจากความสนพระทัยศึกษาในด้านไสยศาสตร์ของกรมหลวงชุมพรฯ ล้วนถูกบอกเล่าผ่านข้อเขียนบันทึกความทรงจำหลายฉบับ ซึ่งจะสรุปว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องไหนดูกล่าวเกินจริง ก็คงยากที่จะพิสูจน์

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่ 6 ในโครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “สรรพวิชาและอาคม ในกรมหลวงชุมพรฯ” ขึ้น โดยมีพระทายาทสายตรง ผู้ที่ใกล้ชิดข้อมูลวัตถุสิ่งของและเคยรับฟังเรื่องราวอันน่าพิศวงจากบุคคลร่วมสมัยใกล้ชิดกับพระองค์ มาเป็นผู้ถ่ายทอดและวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านั้น

ผู้ร่วมเสวนาท่านแรก คือ นาวาตรีภากร ศุภชลาศัย ทายาทของหม่อมเจ้าจารุพัตรา พระธิดาในกรมหลวงชุมพรฯ กับหม่อมกิม ผู้ที่อยากมีโอกาสเห็นแม่นาคแห่งพระโขนง กรมหลวงชุมพรฯ จึงประทานกะโหลกหน้าผากแม่นาคให้นำไปวางไว้ใต้หมอน และท่านที่ 2 คือ หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ทายาทของพันเอก นายแพทย์ หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ พระโอรสในกรมหลวงชุมพรฯ กับหม่อมแฉล้ม ซึ่งหม่อมราชวงศ์อภิเดชเป็นผู้ค้นคว้าพระประวัติอย่างจริงจังมายาวนานหลายสิบปี ทั้งเรียบเรียงหนังสือพระประวัติ “หลวงปู่ศุข กับ กรมหลวงชุมพรฯ” และ “หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับ กรมหลวงชุมพรฯ” โดยมี คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ค้นคว้าข้อมูลเอกสารชั้นต้นในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ ทั้งเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือพระประวัติฉบับมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

แม้กรมหลวงชุมพรฯ จะทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แต่เมื่อเสด็จกลับสู่สยาม พระองค์ก็ยังคงมีความสนพระทัยในการศึกษาศาสตร์วิชาความรู้ของไทยแบบดั้งเดิมอีกหลายแขนง อย่างเช่น เรื่องตำรายาและการแพทย์แผนไทย ศิลปะการต่อสู้แบบไทย รวมไปถึงเรื่องของไสยศาสตร์และวิชาอาคม ซึ่ง น.ต. ภาภร ได้เล่าไว้ในกิจกรรมเสวนาครั้งที่ผ่านมาว่า

“… พระองค์ทรงเรียนทุกแขนง มวย กระบี่กระบอง ดนตรี การแพทย์บูรณาการ พระองค์ทรงเป็นคนเรียนและพยายามเอาจริงเอาจังกับสิ่งเหล่านี้ จนถึงขั้นทรงเป็นผู้รู้จริง ๆ …”

ซึ่ง ม.ร.ว.อภิเดช ได้กล่าวเสริมถึงพระอุปนิสัยของพระองค์ไว้ว่า “… พระองค์ทรงเป็นคนชอบศึกษา ทำอะไรทำจริง และต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ไม่เช่นนั้นพระองค์ก็คงไม่ศึกษา …”

ความเป็นผู้รู้จริง (ขลังจริง ศักดิ์สิทธิ์จริง) ของกรมหลวงชุมพรฯ ในเรื่องวิชาอาคม เครื่องราง และวัตถุสิ่งของอันมีคุณสมบัติที่อธิบายได้ยากนั้น ไม่ได้มีเพียงเรื่องเล่าในอดีตซึ่งถ่ายทอดสืบต่อกันมา แต่ในบางประเด็นก็เป็นประสบการณ์ตรงของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น น.ต. ภากร ซึ่งได้เล่าถึงความทรงจำเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วว่า เมื่อครั้งแม่บ้านของชาวต่างชาติที่มาเช่าบ้านของ ม.จ. จารุพัตรา ถูกตะขาบกัดที่บริเวณฝ่าเท้า น.ต. ภากรได้ใช้ “เขียดดูดพิษ” ซึ่งเป็นเครื่องรางวัตถุลี้ลับอันเป็นมรดกจากกรมหลวงชุมพรฯ ไปดูดพิษตะขาบตามคำแนะนำของท่านแม่ (ม.จ.จารุพัตรา) ปรากฏว่า เขียดนั้นเกาะติดอยู่ที่ปากแผล และเมื่อเวลาผ่านไป อาการปวดก็ค่อย ๆ ทุเลาลงตามลำดับ แต่เมื่อหายจากอาการปวด เขียดดูดพิษก็ได้หลุดออกมาเอง

ด้วยความเป็นคนไม่เชื่อและปฏิเสธที่จะเรียนรู้ศาสตร์ลี้ลับเหล่านี้จากท่านแม่ ผู้ได้รับการสืบทอดวิชาอาคมจากเสด็จตา รวมทั้งศาสตร์บางแขนงของบิดาซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากเกจิอาจารย์อื่น ๆ เช่นกัน จึงเป็นเหตุให้ศาสตร์เหล่านี้สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่ง น.ต. ภากร ได้เล่าไว้ในการเสวนาครั้งนี้ว่า “… นี่คือความโง่ของคนหนุ่ม ซึ่งผมรับว่าเป็นการโง่ที่สุด แม่บอกว่า ลูก แม่เรียนคาถากันฝน คาถาน้ำร้อนลวก ซึ่งผมเห็นกับตาว่า น้ำร้อนลวกที่แขนของคนครัวเรา น้ำมันหมูร้อน ๆ เลย แม่เป่า เราก็เห็นเป็นสีแดง วันรุ่งขึ้นก็หายเลย ซึ่งมันประหลาดมาก ที่จริงวันรุ่งขึ้นมันต้องลอกและบวม เป็นความโง่ของเด็กสมัยใหม่ที่คิดว่า ศาสตร์พวกนี้เป็นของเก่า โบราณ ไม่อยากฟัง แม่ก็ไม่บังคับ ผมเลยไม่ได้คาถาอะไรเลย …  เพราะฉะนั้นเตือนเด็กสมัยใหม่ อย่าไปดูถูกของพวกนี้ สิ่งเหล่านี้มีจริงนะครับ …”

จากประสบการณ์เรื่องเล่าเกี่ยวกับศาสตร์ลี้ลับที่อาจจะฟังดูเหนือจริง ยากที่คนรุ่นใหม่จะเชื่อถือ ม.ร.ว.อภิเดช ได้กล่าวถึงมุมมองของ “ความเชื่อ” เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“… ของพวกนี้มีจริงไหมนั้น มันอยู่ที่ความเชื่อและพลังจิตของเราที่จะเชื่อและจะใช้ ถ้าคุณไม่เชื่อ คุณก็ทำไม่ได้เพราะมัวแต่ลังเล ผมเคยได้ยินพระท่านพูดกับหูว่า “เชื่อก็จริง ไม่เชื่อก็ไม่จริง” …”

อีกหนึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับศาสตร์ลี้ลับจากแง่มุมพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ที่มีคนกล่าวถึงกันมากก็คือ “กะโหลกหน้าผากแม่นาค” หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “ปั้นเหน่งแม่นาค” จากการที่ครั้งหนึ่งกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเคยครอบครองวัตถุชิ้นนี้ โดยทรงผูกไว้ที่บั้นพระองค์ (เอว) คล้ายกับ “ปั้นเหน่ง” ซึ่งในด้านหนึ่งหมายถึงหัวเข็มขัดที่สร้างจากโลหะสูงค่า ฉลุลวดลายงดงาม หรือประดับมณีมีราคาต่าง ๆ นั่นเอง

หนึ่งในเรื่องเล่าของ ม.จ.จารุพัตรา คือการที่ท่านทรงเคยอยากพบแม่นาค กรมหลวงชุมพรฯ จึงได้ประทานกะโหลกหน้าผากแม่นาคให้นำไปวางไว้ใต้หมอน แม้จะอยากเห็น แต่ก็ยังมีความกลัวอยู่มาก ม.จ.จารุพัตราจึงทรงไม่ได้พบแม่นาคตามประสงค์

แม้จะมีผู้คนกล่าวถึงเรื่องกะโหลกหน้าผากแม่นาคกันอยู่มาก แต่ทุกวันนี้ ทายาทในราชสกุลอาภากรฯ ทั้งสองท่านก็ไม่ยืนยันแน่ชัดว่า ปัจจุบันกะโหลกหน้าผากแม่นาก อยู่ในความครอบครองของผู้ใด

การทรงศึกษาในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสตร์ลี้ลับนั้น ไม่ได้เพียงเพิ่มพูนความรู้รอบในพระองค์กรมหลวงชุมพรฯ เท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงนำความรู้เหล่านั้นมาดัดแปลงให้ง่าย ประทานถ่ายทอดสอนสั่งแก่เหล่าพระโอรสธิดาให้ดำรงพระองค์อยู่ในครรลองคลองธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี เช่น การทรงสอนให้พระโอรสและพระธิดารู้จักประหยัด ไม่เอาสิ่งของต่าง ๆ มาเป็นของตนด้วยวิธีที่ทำให้ผู้อื่นเสียน้ำตา หรือพระนิพนธ์คำสอนในรูปแบบของบทกลอน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ

ซึ่ง ม.ร.ว.อภิเดช ได้เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าผมได้ยินท่านหญิงเริงเล่าว่า พระโอรสและพระธิดาต้องไปท่อง (กลอนสอนใจเหล่านี้) ต่อหน้าท่าน ท่านหญิงได้รางวัลที่หนึ่งได้เป็นสร้อย ที่สองท่านอาน่วม หม่อมเจ้าครรชิตพล ได้ยางลบ … ท่านหญิงยังเล่าเลยว่า พ่อผม (ม.จ.ดำแคงฤทธิ์) นอนหลับยังละเมอท่อง (หัวเราะ) …”

นอกจากการทรงนำศาสตร์เหล่านี้มาสอนสั่งพระโอรสและพระธิดาแล้ว พระองค์ยังทรงนำมาใช้ในการทรงงาน และรวมเหล่าทหารเรือให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังที่ น.ต. ภากร เล่าไว้ว่า

“… ท่านศึกษาในศาสตร์หลายแขนง โดยท่านนำไปใช้ประโยชน์คือ หนึ่งนำไปสอนลูก ๆ ของท่าน สองสอนลูกศิษย์ของท่าน และนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน … กรมหลวงประจักษ์ฯ (ซึ่งทรงเป็นผู้บังคับบัญชาพระองค์แรก) ท่านทรงให้กรมหลวงชุมพรฯ ไปดูแลปกครองพวกทหารเรือสมัยโบราณ ที่เกเร … คือพวกนักเลงจะรักและเคารพได้ ก็ต่อเมื่อผู้นั้นเหนือกว่าตัว กรมหลวงชุมพรฯ ท่านก็ทรงใช้วิชาเหล่านี้ ในการรวมพวกทหารเรือเป็นพวกเดียวกันได้ …”

แม้ข้อมูลหรือเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับพระปรีชาในสรรพวิชาและอาคมของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ได้ฟัง ได้อ่านกันอยู่ในปัจจุบัน อาจไม่มากมายและเป็นระบบเพียงพอต่อการพิสูจน์ว่า เรื่องดังกล่าวนั้นมีความจริงแท้อยู่มากน้อยประการใด ยิ่งกว่านั้น เรื่องราวหลายประเด็นก็เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อเฉพาะบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างแจ่มชัดจากเรื่องเล่าเหล่านี้ก็คือ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเห็นคุณค่าในสรรพวิชาทุกแขนง ทรงไม่ดูแคลนในศาสตร์ความรู้ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ทรงใช้กระบวนการแสวงหาข้อพิสูจน์องค์ความรู้เหล่านั้น ทั้งโดยการทรงศึกษา ทดลอง และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งทรงมีความรู้ความเชี่ยวชาญ

และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ทรงไม่ได้อวดอ้างอิทธิปาฏิหาริย์แก่ผู้อื่น หรือทรงใช้พลังอำนาจพิเศษเฉพาะพระองค์ เพื่อแสวงลาภ ทรัพย์ หรือสักการะ แต่ทรงเน้นการสอนคุณธรรมจริยธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้น้อยได้เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสำคัญ

พระปรีชาสามารถแห่งการนำองค์ความรู้ในสรรพวิชาเหล่านี้มาสร้าง “คุณประโยชน์” ให้กับทั้งพระองค์ พระโอรสธิดา รวมไปถึงบริวารผู้ใกล้ชิด ไม่เพียงแต่เป็นการตอกย้ำถึงพระคุณลักษณะและพระอุปนิสัย “ทำสิ่งไร ทำจริง” ของพระองค์เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นแง่คิดแก่ผู้คนในปัจจุบันสมัยเรื่อยมา

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช