ความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉันศิษย์และอาจารย์ ระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นที่รับรู้กันกว้างขวางมายาวนาน หากสิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ และหลวงปู่ศุข ที่มีผู้กล่าวถึงน้อยมากในยุคหลังก็คือ การเป็นผู้ศึกษาวิชาแพทย์ ทรงความรู้แตกฉานในตำรายา และใช้ความรู้นี้เพื่อประโยชน์แก่คนทั่วไป โดยไม่มุ่งหวังอามิสสินจ้าง

Writer : นิธิ วติวุฒิพงศ์

2 October 2020

ถอดรหัสสายสัมพันธ์ไร้บทบันทึก ระหว่างหลวงปู่ศุขกับหมอพร

ข้าขอประนมหัตถ์
พระไตรรัตนนาถา
ตรีโลกอมรมา
อภิวาทนาการ
อนึ่งข้าอัญชลี
พระฤๅษีผู้ทรงญาณ
แปดองค์เธอมีฌาน
โดยรอบรู้ในโรคา


บทไหว้ครูแพทย์ไทย จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง
บทขึ้นต้น

หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉันศิษย์และอาจารย์ ระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เป็นที่รับรู้กันกว้างขวางมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เลื่อมใสศรัทธาในผู้ทรงพุทธาคมทั้งสองนี้

หากสิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ และหลวงปู่ศุข ที่มีผู้กล่าวถึงน้อยมากในยุคหลังก็คือ การเป็นผู้ศึกษาวิชาแพทย์ ทรงความรู้แตกฉานในตำรายา และใช้ความรู้นี้เพื่อประโยชน์แก่คนทั่วไป โดยไม่มุ่งหวังอามิสสินจ้าง

วัดปากคลองมะขามเฒ่า

หลักฐานจากอดีตบ่งชี้ว่า วัดปากคลองมะขามเฒ่าเคยเป็นแหล่งสรรพวิทยาอันรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม คือเป็นทั้งแหล่งศึกษาพุทธาคม พระธรรมกรรมฐาน แหล่งรวบรวมตำรายา ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้าน รวมทั้งมีการรักษาผู้เจ็บป่วย สอนการต้มยา เป่า พ่น จับเส้น ฯลฯ รวมทั้งการสังเคราะห์ตัวยาจากวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งคนในสมัยก่อนก็เรียกว่า “เล่นแร่แปรธาตุ”

ปัจจัยประการหนึ่ง นอกเหนือจากความสนใจศึกษาศาสตร์ความรู้ของหลวงปู่ศุขแล้ว ก็อาจเป็นเพราะวัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งในอดีตชื่อวัดอู่ทองนั้น มีทำเลตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ทั้งอยู่ติดกับปากคลอง มีลักษณะเป็นชุมทาง ผู้คนสามารถสัญจรเชื่อมต่อถึงกันจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่ลุ่มน้ำท่าจีนได้โดยสะดวกกว้างขวาง

การพบกันครั้งแรกโดยบังเอิญระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงปู่ศุข ตามที่เล่าขานสืบต่อกันมานั้น ก็เกิดขึ้นจากการเสด็จทางเรือมาตามลำน้ำนี่เอง

การศึกษาวิชาแพทย์ รวบรวมตำรายา บ่มเพาะภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้าน รวมทั้งรักษาผู้ป่วยเจ็บของหลวงปู่ศุขและคณะสงฆ์แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่านั้น หากมองด้วยสายตาคนสมัยใหม่ไกลวัด ก็อาจเห็นว่าไม่น่าจะเป็นกิจของสงฆ์ หากแท้ที่จริงแล้ว พระพุทธศาสนากับศาสตร์การแพทย์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้ง

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ศาสตร์การแพทย์แผนไทยตั้งแต่ครั้งอดีต มีรากกำเนิดอยู่ในอารยธรรมอินเดีย โดยมีศาสตร์การแพทย์อายุรเวทในวัฒนธรรมฮินดูเป็นหลักใหญ่มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อย่างไรก็ตาม หนังสือ “รายงานการสาธารณสุขไทย 2552-2553 ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก” จัดทำโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มีเนื้อหาที่ชี้ประเด็นสำคัญไว้อย่างชัดเจนว่า ศาสตร์การแพทย์แผนไทยนั้น แม้จะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการแพทย์ของอินเดีย แต่ก็เป็นการแพทย์อินเดียที่ถ่ายทอดในสายของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก

… การแพทย์อายุรเวทของฮินดูที่เป็นการแพทย์แบบพระเวท หรือการแพทย์แบบไสยศาสตร์-ศาสนา ได้เปลี่ยนผ่านมาสู่กระบวนทัศน์ทางการแพทย์แบบประจักษ์นิยมและเหตุผล (Empirical-Rational Healing Tradition) ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากระบบการแพทย์ในพุทธอาราม (Medicine in Buddhist Monastery) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ระบบการแพทย์ที่พัฒนามาจากปรัชญาคำสอนของพุทธศาสนานั้นเอง …

… เรื่องขันธ์ 5 และธาตุ 4 ของพุทธศาสนา … ได้กลายเป็นต้นธารของทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ดังที่ปรากฏในหลายคัมภีร์ ที่่สำคัญได้แก่ พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์ฉันทศาสตร์ พระคัมภีร์โรคนิทาน พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ และพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ เป็นต้น …

… อิทธิพลของการแพทย์เชิงประจักษ์นิยม-เหตุผลของพุทธศาสนา และการแพทย์แบบไสยศาสตร์-ศาสนาของฮินดู ในยุคพระเวทตอนต้น ได้แพร่มายังดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วก่อรูปเป็นการแพทย์ในราชสำนักหรือการแพทย์ของหลวงของประเทศไทยนับตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งต่อมาคือการแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน ร่องรอยของอิทธิพลดังกล่าวยังปรากฏอย่างชัดเจนในปฐมบทของคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ประธานของแพทย์แผนไทย เพราะเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งความรักในผู้ป่วย และรักในความรู้ทางแพทย์ ดังที่กล่าวไว้ในบทไหว้ครูและจริยธรรมของผู้เป็นแพทย์ ในบทไหว้ครูนั้น ผู้เป็นแพทย์แผนไทยต้องบูชาพระรัตนตรัยของพุทธศาสนาเป็นอันดับแรก …

… จรรยาแพทย์ส่วนใหญ่ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ จะเป็นจริยธรรมของพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น กล่าวถึงศีลแปด ศีลห้า หิริโอตตัปปะ อคติ 4 นิวรณ์ 5 ความเมตตากรุณา เชื่อในกฎแห่งกรรม เป็นต้น แต่คัมภีร์นี้ยังให้ความสำคัญกับไสยรักษ์ หรือไสยบำบัดด้วย …

เนื้อหาข้างต้นคงสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ในพระพุทธศาสนานั้น คัมภีร์แพทย์กับคัมภีร์ศาสนามีความเกี่ยวเนื่องกัน วิชาแพทย์กับการปฏิบัติธรรมมีความเชื่อมโยงกัน และปฏิปทาของหลวงปู่ศุขที่ปฏิบัติกรรมฐาน ศึกษาไสยเวทย์พุทธาคม ควบคู่กับการถ่ายทอดตำรายาหรือรักษาผู้ป่วยเจ็บก็มีความสัมพันธ์กัน

ปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่า “ตำรายาหลวงปู่ศุข” ซึ่งได้รับการสืบทอดกันมานั้น ได้รับการยืนยันคุณค่าว่า เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของประเทศ โดยการประกาศขึ้นบัญชีเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล แขนงมรดกภูมิปัญญาการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ตามประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2561 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน

แม้บทบันทึกความรู้ด้านการแพทย์ของหลวงปู่ศุข ซึ่งรวบรวมสูตรและขั้นตอนกรรมวิธีการปรุงยาสมุนไพรรักษาโรคของท่าน จะถูกเรียกว่า “ตำรายาหลวงปู่ศุข” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น องค์ความรู้ทางการแพทย์ของท่านไม่ได้มีการบันทึกรวบรวมเป็นตำราอย่างเป็นระบบไว้ในวัด บรรดาตำรายาหลวงปู่ศุขที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นตำราจากผู้สืบทอดที่ได้เล่าเรียนจากหลวงปู่ศุขตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยหลวงปู่บอกกล่าวให้จดบ้าง จากตำราที่ท่านเขียนด้วยลายมือเองบ้าง

ผศ.วิกรม ฉันทรางกูร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้เคยศึกษาเรื่องตำรายาหลวงปู่ศุข ได้เคยเผยแพร่เรื่องราวนี้ไว้ในวารสาร “วัฒนธรรม” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ปีที่ 58 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2562 โดยระบุไว้ว่า

… ตำรับยาของหลวงปู่ศุขมีหลายขนาน บางตำรับก็สูญหายไป บางตำรับก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาที่ได้สืบทอดภูมิปัญญาของท่านมีมากมาย ส่วนมากเป็นผู้ที่เข้ามาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา โดยมีหลวงปู่ศุขเป็นพระอุปัชฌาย์ อาทิ หลวงพ่อบุญญัง (อุปสมบทที่วัดหนองพญา ตำบลมะขามเฒ่า ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองน้อย ซึ่งท่านได้สงเคราะห์รักษาญาติโยมมิได้ขาด) อาจารย์กลับ แสงเขียว (อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนตาล เป็นผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ในสมัยนั้น หลังหลวงปู่ศุขมรณภาพ หลายท่านได้ลาสิกขาบทมาใช้ชีวิตฆราวาสเป็นหมอยา) อาจารย์พร แสงเขียว (ลาสิกขาบทมาใช้ชีวิตฆราวาสเป็นหมอยา) อาจารย์เสร็จ ฉิมดี (ปัจจุบันนางมาลัย ฉิมดี บุตรสาว ได้นำตำราของพ่อไปปรุงยารักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้กับชาวบ้าน) อาจารย์เนตร เพ่งกลิ่น อาจารย์ดำ ปรีชาจารย์ ขุนเธียรแพทย์เชื้ออภัย เป็นต้น ลูกศิษย์ที่ครอบครองตำราที่ได้จดบันทึกเป็นเอกสาร ที่เหลืออยู่นับได้มีทั้งสิ้นมีประมาณ 11 ราย ผู้สืบทอดโดยตรงเสียชีวิตไปหมดแล้ว เป็นเพียงทายาทที่ครอบครองไว้เท่านั้น …

ยังไม่มีใครรู้ว่า มีตำรายาหลวงปู่ศุขในความครอบครองของ “หมอพร” อยู่บ้างหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด ?

เรื่องราวพระประวัติของหมอพร มักกล่าวถึง “พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณะกรรม แลปัจจุบันนะกรรม” อันเป็นตำรายาซึ่งพระองค์ทรงทำขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ แต่แทบไม่มีการกล่าวถึง “ตำรายาของหมอพร” ซึ่งหมายถึงสมุดไทยอันพระองค์ทรงเคยใช้ในการศึกษาหาความรู้ ซึ่งยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบันถึง 15 เล่ม

ในเอกสารสมุดไทยจำนวน 15 เล่มนั้น ส่วนใหญ่เป็นตำรายา ซึ่งเภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชกรรมการผลิต) ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับคณะนักวิจัย ได้เคยศึกษารายละเอียด พบว่าครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับการบำบัดโรคหลายแขนง ระบุรายชื่อสมุนไพรไว้มากกว่า 800 ชนิด และน้ำกระสายยากว่า 100 ชนิด

เราอาจยังไม่รู้ชัดว่า มี “ตำรายาหลวงปู่ศุข” อยู่ใน “ตำรายาของหมอพร” บ้างหรือไม่ แต่จากประวัติศาสตร์บอกเล่ามากมาย เกี่ยวกับความผูกพันใกล้ชิดฉันศิษย์และอาจารย์ระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงปู่ศุข ทำให้เราในปัจจุบันสันนิษฐานได้อย่างมั่นใจว่า คงเป็นไปไม่ได้เลยที่ “หมอพร” จะไม่ได้รับถ่ายทอดตำรายาและวิชาแพทย์จากหลวงปู่ศุข

ยิ่งกว่านั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่ “หมอพร” จะไม่ได้รับถ่ายทอดอุดมคติของผู้ศึกษาวิชาแพทย์จากหลวงปู่ศุข ตามครรลองของศาสตร์การแพทย์ในพระพุทธศาสนาเช่นกัน

พระคัมภีรอติสาระวรรค โบราณะกรรม แลปัจจุบันนะกรรม

ในหน้าต้นของพระคัมภีร์อติสาระวรรคฯ ฝีพระหัตถ์กรมหลวงชุมพรฯ ปรากฏรูปจิตรกรรมพระฤๅษีสักการะพระพุทธเจ้า สื่อสัญญะตามคติของวิชาแพทย์ตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

การบำบัดรักษาผู้เจ็บป่วยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญพุทธธรรม กระทำไปเพื่อยังประโยชน์สุขแก่เพื่อนร่วมทุกข์ ความป่วยไข้จะหายหรือไม่นั้น ให้พึงระลึกเสมอว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎแห่งกรรมไปได้


พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
ครั้นเห็นแล้วอาจจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุ
และจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้ …

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก

หลวงปู่ศุขมรณภาพโดยโรคชรา ในพุทธศักราช 2466 สิริอายุได้ 76 ปี ปีนั้นเป็นปีเดียวกับที่กรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์

ในประวัติหลวงปู่ศุขและในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ย่อมไม่สามารถปราศจากกันและกันไปได้ เช่นเดียวกับที่อุดมคติในวิชาแพทย์ของหมอพร ก็ย่อมปราศจากอุดมคติในพระศาสนาของหลวงปู่ศุขไปได้เช่นกัน


ไหว้ครูกุมารภัจ
ผู้เจนจัดในคัมภีร์
เวชศาสตร์บรรดามี
ให้ทานทั่วแก่นรชน
ไหว้ครูผู้สั่งสอน
แต่ปางก่อนเจริญผล
ล่วงลุนิพพานดล
สำเร็จกิจประสิทธิ์พร

บทไหว้ครูแพทย์ไทย จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง
บทลงท้าย

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช