จากระยะเวลากว่า 7 ปี ที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงศึกษาสรรพวิชาต่าง ๆ รวมทั้งวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ สู่การทรงนิวัตสยาม ทรงนำเอาองค์ความรู้และประสบการณ์มากมาย มาปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือสยามเรื่อยมา ถึงแม้ช่วงเวลาที่พระองค์ทรงรับราชการทั้งหมดนั้นจะครอบคลุมระยะเวลาเพียง 17 ปี แต่รากฐานที่พระองค์ได้ทรงปลูกไว้นั้น บัดนี้ได้แตกหน่อออกผลเป็นที่ประจักษ์ทั่วผืนน้ำและแผ่นดินไทย

Writer : ฑิตยา ชีชนะ

18 September 2020

สืบทอดพระปณิธานสานต่อพระปรีชา “มรดกแห่งองค์บิดา” กับการพัฒนาราชนาวีไทย

ในวาระครบรอบ 120 ปีที่กรมหลวงชุมพรฯ นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม คณะผู้ดำเนินโครงการฯ ได้สัมภาษณ์พิเศษ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของบรรดาผู้สืบสานพระปณิธานแห่งองค์บิดาของทหารเรือไทย ในยุคสมัยนี้

“… คำว่ารากฐาน สำคัญมากนะครับ … ถ้าบ้านรากฐานไม่ดี ก็อยู่ได้ไม่นาน ไม่คงทนถาวร…”

สาระสำคัญเบื้องต้น ในทัศนะจากพลเรือเอก ลือชัย สะท้อนถึงพระกรณียกิจที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงกระทำต่อกองทัพเรือไทย ได้อย่างเรียบง่ายแต่คมชัด

กล่าวได้ว่าการ “วางรากฐาน” คืองานที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงกระทำตลอดการทรงรับราชการ โดยเฉพาะในด้าน “องค์บุคคล” อันเป็นหนึ่งปัจจัยหลักของการที่สยามจะดำเนินงานด้านความมั่นคงได้ด้วยตัวเอง แทนการฝากความหวังเอาไว้ในการจ้างนายทหารชาวต่างชาติ โดยทรงมุ่งมั่นหล่อหลอมนายทหารเรือสยามที่มีความรู้และความสามารถเทียบเท่านานาอารยประเทศ

“… การทรงวางรากฐานในการศึกษาของพระองค์ ไม่ใช่การศึกษาเฉพาะโรงเรียนนายเรืออย่างเดียว มีหลากหลายสาขาที่พระองค์ทรงวางรากฐานเอาไว้ ทั้งโรงเรียนนายเรือปกติ โรงเรียนนายช่างกล เป็นต้น …

… ในการเรียนทางทหารจะมีอยู่สองอย่าง เรียกว่าการเรียนและการฝึก … สมัยก่อนเราก็แค่ฝึกในประเทศ ไม่เคยฝึกต่างประเทศเลย พระองค์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่นำนักเรียนนายเรือไปฝึกในต่างประเทศ ที่ดีกว่านั้นก็คือ การฝึกต่างประเทศของพระองค์นั้นใช้คนไทยทั้งหมดทั้งปวง ไม่ใช่ชาวต่างชาติเลย นี่คือการวางรากฐานในการฝึก …”

นอกเหนือจากการ “สร้างคน” แล้ว พระองค์ยังทรงพัฒนา “องค์วัตถุ” และ “องค์ยุทธวิธี” ควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง สู่การพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือไทยในทุก ๆ ด้าน

ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 100 ปี หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ แต่พระปณิธานและรากฐานที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้นั้น ยังคงเป็นหลักให้เหล่านายทหารเรือได้ยึดมั่นและสืบสาน พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และสรรพกำลังต่าง ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

“… เราก็ต้องมีการรักษาโครงสร้างเอาไว้ให้สมบูรณ์ สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างเอาไว้ เราก็ทำให้เติบโตขึ้น ผมให้นโยบายว่าต้อง ‘รุกคืบหน้า สถาปนาความมั่นคง’ ก็คือที่มีอยู่ รักษาให้อยู่ แล้วพัฒนาต่อไป โดยยึดหลักคือ 3 องค์ 1 ด้าน ซึ่ง 3 องค์ก็คือ องค์บุคคล องค์วัตถุ องค์ยุทธวิธี ส่วน 1 ด้าน คือด้านการบริหารจัดการ ในที่นี้ องค์บุคคลก็มาจากคาถาในตราประจำพระองค์ที่ว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ หมายความว่า จะทำสิ่งไร ควรทำจริง เราก็ต่อยอด ผมเองได้ให้คำขวัญว่า จิตใจที่เข้มแข็งและดีงาม ล้วนอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์ ให้มีความเข้มแข็ง อดทน เพื่อจะรักษามรดกของพระองค์ไว้ให้ได้…

… ส่วนองค์วัตถุ สังเกตดูไหมว่าพระองค์ทรงคิดรอบด้าน การมีฐานทัพเรือ มีเรือต่าง ๆ นั้น หมายความว่าต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เราต้องพัฒนาขีดความสามารถให้สมบูรณ์ในตัวเอง การมีเรือต้องมีฐานทัพ การมีอาวุธต้องมีคลังอาวุธ เป็นต้น ความสมบูรณ์ในตัวเองนี้ เราต้องรักษาไว้ให้ได้ …

… สำหรับองค์ยุทธวิธี พระองค์ทรงสอนการเป็นชาวเรือ นักเรียนนายเรือต้องล้างห้องน้ำ ขัดพื้นเอง ทรงสอนว่านักเรียนนายเรือต้องทำงานเหมือนกับทหารเกณฑ์คนหนึ่งได้ เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเราก็สอนเช่นนี้ นายทหารกองเรือทั้งหลายกว่าจะจบการศึกษา ก็ต้องฝึกการเป็นพลทหารมาก่อนทั้งสิ้นทั้งปวง สิ่งนี้เรียกว่า สปิริตชาวเรือ …”

จากพระปณิธานและพระปรีชาของนักเรียนนายเรือสยามพระองค์แรก บัดนี้ได้ปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ และจะไม่หยุดพัฒนาขีดความสามารถ ต่อยอดจากรากฐานอันมั่นคงที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้

“… สิ่งเหล่านี้ คือเมล็ดพันธุ์ที่ทรงหว่านไว้ตั้งแต่อดีต ขณะนี้เมล็ดพันธุ์นั้นเติบโตขึ้น งอกงามไปเรื่อย ๆ สร้างสรรค์กองทัพเรือให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ไม่แพ้ใครในภูมิภาคนี้ และจะเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ต่อไป นี่คือกองทัพเรือของเราครับ …”

นี่เป็นเพียงสาระสำคัญส่วนหนึ่ง จากการสัมภาษณ์พิเศษ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เท่านั้น ยังมีเนื้อหาสาระและทัศนะมุมมองที่น่าสนใจจากพลเรือเอก ลือชัย รวมทั้งเรื่องราวที่สืบเนื่องหลากประเด็น ร้อยเรียงอยู่ในตอนที่ 3 ของสารคดีในโครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ชื่อตอนว่า “มรดกแห่งองค์บิดา” รับชมได้ที่ https://youtu.be/e3zz3QipEnE ครบครันด้วยประเด็นเข้มข้น เสริมด้วยอรรถรสด้านภาพและเสียงที่ครบเครื่อง โปรดอย่าพลาดชม

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช