หากเอ่ยถึงพระเกียรติคุณที่ “กรมหลวงชุมพรฯ” ทรงสร้างไว้ให้กับแผ่นดินสยาม ผู้คนส่วนมากก็มักจะนึกถึงพระกรณียกิจเกี่ยวกับกิจการทหารเรือ หรือพระปรีชาด้านการแพทย์บูรณาการที่ทรงออกรักษาคนเจ็บไข้อย่างไม่เลือกชนชั้น เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงบางแง่มุมในพระประวัติของพระองค์เท่านั้น แต่สำหรับผู้คนที่ศึกษาค้นคว้าพระประวัติของพระองค์อย่างจริงจัง ได้สะท้อนมุมมองที่ลึกซึ้งถึงการทรงเป็น “แบบอย่าง” ในหลายด้าน แก่เราในยุคปัจจุบัน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นการเสวนาครั้งสุดท้ายในโครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “เราเรียนรู้อะไรจากเสด็จเตี่ย” โดยมี 2 ทายาทจาก 2 ราชสกุล คือ ม.ร.ว.จิยากร อาภากร เสสะเวช พระนัดดา (หลาน) ในกรมหลวงชุมพรฯ ประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล พระปนัดดา (เหลน) ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ค้นคว้าข้อมูลเอกสารชั้นต้นทั้งในประเทศไทยและประเทศอังกฤษ และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือพระประวัติฉบับมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ความพิเศษของการเสวนาในคราวนี้ ไม่เฉพาะเพียงผู้ร่วมเสวนาเท่านั้น แต่สถานที่ในการจัดกิจกรรมก็พิเศษสุดเช่นเดียวกัน โดยการจัดขึ้น ณ วิหารน้อย ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระสรีรางคารของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นอกจากนี้ ยังมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมฟังเสวนากันสด ๆ ซึ่งหลังจบการเสวนายังได้มีโอกาสเข้าสักการะพระสรีรางคารของพระองค์อีกด้วย
“… พระจริยวัตรของพระองค์ก็คงจะเป็นที่ประทับใจและเป็นที่พึ่งของทุกคน …”
ประโยคดังกล่าวของ ม.ร.ว.จิยากร น่าจะเป็นหัวใจหลักและแรงบันดาลใจในการดำเนินงานเพื่อเผยแพร่พระประวัติ พระจริยวัตร พระปรีชาในศาสตร์แขนงต่าง ๆ รวมถึงเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ ซึ่งมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ดำเนินงานต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะให้พระจริยวัตรต่าง ๆ ที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเคยกระทำ ได้กลายเป็นแง่คิดสู่คนในปัจจุบันสมัย
การจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติในวาระครบรอบ 120 ปี ที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ และทรงเข้ารับราชการในกิจการทหารเรือนั้น มูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวาระนี้ ด้วยนับเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่พระองค์ทรงสร้างประโยชน์นานัปการแก่สยามประเทศ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกิจการทหารเรือเท่านั้น
กิจกรรมมากมายในโครงการฯ ได้เผยแพร่ผ่านหลากหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นคือ “การเสวนาพระประวัติฯ” ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือน โดยเริ่มกิจกรรมมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน–ธันวาคม ซึ่งมีผู้ศึกษาและมีภารกิจอันเกี่ยวเนื่องกับพระประวัติของพระองค์จากหลากหลายสาขามาร่วมกันพูดคุย ถ่ายทอด แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ และสะท้อนมุมมองต่อรายละเอียดแง่มุมต่าง ๆ ในพระประวัติ ตลอดทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าการเสวนาในแต่ละครั้งก็ได้สะท้อนถึงพระปรีชาของกรมหลวงชุมพรฯ ในหลากหลายด้าน ทั้งในเรื่องกิจการทหารเรือสยาม ศิลปะและการดนตรี การแพทย์บูรณาการ อุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ ตลอดจนความสนพระทัยในเรื่องไสยศาสตร์ และศิลปะการต่อสู้

“… จะเห็นได้ว่าทุกท่านที่มาร่วมเสวนาเป็นผู้มีความรู้หลากหลาย … ทำให้เราทราบถึงพระปรีชาของพระองค์มากขึ้น และอ่านพระประวัติของพระองค์สนุกขึ้นจากเดิม …”
ม.ร.ว.จิยากร กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมเสวนาตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา และยังยกตัวอย่างความประทับใจที่ได้เรียนรู้จากการเสวนาเพิ่มเติมว่า
“… เรื่องของดนตรีดิฉันก็ได้ฟังอาจารย์ (ผศ. ดร.รังสิพันธุ์ แข็งขัน) ที่ท่านทำงานวิจัยเกี่ยวกับเพลงของพระองค์ท่าน … ท่านก็บอกว่าในเรื่องของเพลงนั้น พระองค์ท่านมีความสามารถมาก … เพราะการที่จะดัดแปลงทำนองและเอาภาษาเข้าไปใส่นั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย … จริง ๆ แล้วการที่จะแต่งเพลงให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง … เอ่ยออกมารู้เลยว่ามันเป็นเพลงของใคร อย่างฮะเบะสมอจะเป็นใครไปได้นอกจากทหารเรือ … และในเนื้อเพลงยังประกอบไปด้วยประวัติศาสตร์ … นี่คือความเก่งของพระองค์ท่าน … ”
นอกเหนือจากการวิเคราะห์ถึงพระปรีชาของกรมหลวงชุมพรฯ โดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ศึกษาพระประวัติของพระองค์ล้วนเล็งเห็นเหมือนกัน นั่นก็คือ “พระจริยวัตรในพระองค์” ที่ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง ม.ล.ปนัดดาได้กล่าวถึงความประทับใจในพระจริยวัตรของกรมหลวงชุมพรฯ ไว้ว่า
“…พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นแบบอย่างของความดีงาม … ความดีนั้นสถิตเสถียร ผู้คนไม่ลืม ผู้คนจารึกจดจำ เห็นได้จากสิ่งที่ตัวกระผมเองมีโอกาสได้สัมผัส … จากการที่เคยรับราชการ … มีโอกาสได้ไปที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ … ทุกครั้งที่ไปก็จะได้แลเห็นว่า ทางกองทัพเรือได้ถวายพระเกียรติยศ พระเกียรติคุณแด่พระองค์ท่านในฐานะที่ทรงเป็นองค์บิดาของทหารเรือไทย… อยากให้ชนทุกรุ่นได้รับรู้รับทราบกันในสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงบำเพ็ญและปฏิบัติไว้ เราก็ควรจะเดินตามรอยพระบาทและปฏิบัติตามให้เกิดความดีงาม ลูกหลานของเราก็จะพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย …”

นอกจากนี้ ม.ล.ปนัดดา ยังได้สะท้อนถึงแง่มุมที่น่าสนใจอย่างยิ่งต่อพระจริยวัตรของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ทั้งข้าราชการและบุคคลทั่วไปควรน้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
“… กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นแบบอย่างของการเป็นข้าราชการ ไม่ใช่เฉพาะแก่ข้าราชการกองทัพเรือ แต่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ที่จะปฏิบัติตนด้วยความดีงาม …”
ม.ร.ว.จิยากร ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่พระจริยวัตรและพระปรีชาของกรมหลวงชุมพรฯ ยังคงเป็นที่ยกย่องของผู้คนหลากยุคหลายสมัยเรื่อยมาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“… ท่านคงจะยึดการทำงานให้สำเร็จ นั่นก็คือการยึดหลักอิทธิบาท 4 มีฉันทะ คือมีความรักความชอบในงานนั้น อย่างที่ท่านทรงเรียนวิชาทหารเรือ ท่านก็รักที่จะเป็นทหารเรือ แล้วก็จริงจังที่จะไปให้สุดทาง … มีวิริยะ คือมีความเพียรที่จะทำในสิ่งที่ชอบนั้นให้สำเร็จ และจิตตะ คือมีใจที่จดจ่อจะทำต่อไป … วิมังสา คือการทบทวนในสิ่งที่เราเรียนหรือทำไปแล้วว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร … ”
ม.ล.ปนัดดาได้กล่าวถึงมุมมองแง่คิดที่ตนเองได้รับจากเรื่องราวพระประวัติของพระองค์ไว้ว่า
“… ความดีงามนั้นสถิตเสถียรไม่มีวันจากเราไปไหน … ความเป็นแบบอย่างในการรับราชการ … แบบอย่างในการดำรงชีพ จนกระทั่งวาระสุดท้าย จะอยู่ในใจเราตราบนิรันดร์ …”
ก่อนสิ้นสุดการเสวนา ม.ร.ว.จิยากรกรุณากล่าวเน้นย้ำถึงพระคุณลักษณะและพระจริยวัตรของกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งเป็นแง่คิดและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตแก่ผู้ร่วมฟังเสวนาเป็นการทิ้งท้าย
“… พระองค์ท่านมีความกตัญญูต่อประเทศชาติ กตัญญูต่อองค์พระบิดา … ตั้งใจทำงานสนองพระเดชพระคุณอย่าง แม้พระองค์ท่านจะสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ท่านก็ทรงได้ทำอะไรไว้มากมาย … ท่านทรงมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อประเทศชาติ ต่อสังคม … ถ้าเราทำได้เช่นนี้ บ้านเมืองเราก็จะสงบสุข…”
เรื่องราวพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ที่มีเผยแพร่กันอยู่หลายฉบับ ในมุมหนึ่งคงจะสะท้อนเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งยากจะพิสูจน์ในปัจจุบัน อีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องราวคุณงานความดีที่พระองค์ทรงสร้างและวางรากฐานไว้ให้แก่ประเทศ แต่หากเราได้ลองทบทวนและพินิจพิเคราะห์เรื่องราวแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ ในฐานะบุคคลชาวสยามเมื่อครั้งอดีต ผู้ลงมือกระทำหน้าที่รับผิดชอบของตนด้วยความจริงจัง มุ่งหวังจะสร้างประโยชน์ให้แก่มาตุภูมิ ด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี โดยมีการเรียนรู้เป็นรากฐาน ทั้งถึงพร้อมด้วยความโอบอ้อมอารี มอบไมตรีเอื้อเฟื้อแก่เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกอย่างไม่จำกัด
พระคุณลักษณะและพระจริยวัตรเหล่านี้ คือแบบอย่างของการดำรงตนอย่างมีคุณค่า สร้างความยกย่องนับถือและศรัทธา ดังที่ผู้คนในปัจจุบันยังคงถวายความเคารพสักการะพระองค์มายาวนาน กระทั่งทุกวันนี้

บทความนี้เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งจากมุมมองของทายาท และผู้มีความเกี่ยวข้องกับพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ แต่ยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมจากผู้คนหลากสถานะ ที่ศึกษาพระประวัติและยึดถือพระองค์เป็นแบบอย่างในการทำงานและการดำรงชีวิต โดยสามารถติดตามได้จากสารคดีเทิดพระเกียรติตอนที่ 4 ของโครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ซึ่งจะเผยแพร่ให้ได้รับชมกันในเร็ว ๆ นี้