ถอดรหัสพระปรีชาทางการดนตรี ผ่านบริบทแห่งพระชนม์ชีพของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

Writer : นิธิ วติวุฒิพงศ์

1 August 2020

ดาบคมในถ้อยคำ เป็นลำนำแห่งราชนาวี

“… โอ้โฮ ผมได้ยินครั้งแรกนี่ ขนาดขนลุก แล้วแทบไม่เชื่อว่า นี่หรือเพลงที่คนไทยแต่ง …”

นี่คือคำกล่าวของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล (พ.ศ. 2480 – ปัจจุบัน) ผู้ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อเพลงพระนิพนธ์เพลงหนึ่งในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ในด้านหนึ่ง นายแพทย์พูนพิศหรือ “อาจารย์หมอ” เป็นแพทย์และนักวิจัยในสาขาวิชาโสตวิทยา แต่ในอีกด้าน ท่านก็เป็นนักวิชาการสาขาดนตรีวิทยา เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ดนตรี ดนตรีไทย ดนตรีเอเชียอาคเนย์ ดนตรีชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมศึกษา

อาจารย์หมอได้เคยชี้ถึงบริบท ปัจจัย และผลแห่งพระปรีชาด้านการดนตรีของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไว้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของเพลงทหารเรือ ระหว่างการบรรยายในงานประกวดดนตรีไทยแห่งชาติ ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

“… ผมเพียงแต่ขอทบทวนสั้น ๆ ว่า … พระมารดาของท่านคือเจ้าจอมมารดาโหมด เจ้าจอมมารดาโหมดนั้นเกิดในสกุลบุนนาค ท่านเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เสด็จในกรมฯ พระองค์นี้จึงทรงเป็นหลานทวดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เพราะฉะนั้นท่านก็ยิ่งยศ แล้วก็ยิ่งศักดิ์ ยิ่งสกุลด้วยประการทั้งปวง … เจ้าจอมมารดาโหมดนั้นเป็นพระสนมเอกในระยะต้นๆ รัชกาล ท่านมีพี่สาวหนึ่งคน ซึ่งถวายตัวเข้ามารับราชการก่อนหน้าท่าน … คือเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้า หรือเป็นภรรยาแต่งคนแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพี่สาวแท้ ๆ ที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกันกับเจ้าจอมมารดาโหมด … ทั้งคุณจอมมารดาโหมดและเจ้าคุณประยุรวงศ์สองคนพี่น้อง เป็นผู้ที่มีความฝักใฝ่ในเรื่องดนตรีและการละครด้วยกันทั้งสองท่าน ต้องไม่ลืมว่าที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น เป็นบ้านที่มีดนตรี มีละคร รับแขกฝรั่งอยู่เป็นประจำ แล้วเวลามีงานรื่นเริงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเฉลิมพระชนมพรรษา หรืองานวันประสูติของพระราชินีของเมืองอังกฤษ หรืออะไรก็ตามจะมี dancing มีการเต้นรำด้วยวงดนตรีฝรั่ง มาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ห้าเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นทั้งสองท่าน คือเจ้าจอมจอมมารดาโหมดและเจ้าคุณพระประยุรวงศ์พี่สาวของท่าน นอกจากจะสนใจเรื่องละครและดนตรีแล้ว เข้าใจว่าลูก ๆ ของท่านก็สนพระทัยในดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์เหมือนกัน …

… เสด็จในกรมฯ ท่านทรงแต่งเพลงอย่างไร คือว่าเสด็จในกรมฯ โปรดเต้นรำ เท่าที่ผมทราบ เนื่องจากที่บ้านของสกุลบุนนาคมี dancing บ่อย ๆ ผมก็ไม่ทราบว่าท่านเสด็จไปที่นั่นกี่ครั้งกี่หน วังบูรพาก็จะมีเต้นรำอยู่บ่อย ๆ ด้วย … ที่สำคัญคือคุณจอมมารดาโหมดก็ยังเล่นละครต่อมา เสด็จในกรมฯ ต้องทอดพระเนตรละครของท่านแม่ท่านแน่ ๆ …”

ภาพวังบูรพาภิรมย์ ถ่ายโดย Peter Williams-Hunt

บริบทแห่งพระชนม์ชีพ เมื่อผสมผสานกับพระประสบการณ์นานปีในอังกฤษและหลายดินแดนในทวีปยุโรป ย่อมจะต้องสั่งสมเป็นโลกทัศน์ทางดนตรีของพระองค์ที่กว้างขวางอย่างยิ่ง

“… ท่านจึงรู้จักเพลงเยอะ ท่านรู้จักทำนองเพลงจำนวนมากมาย แต่เราไม่สามารถจะวัดได้ว่ามากขนาดไหน …”

บรรดาทหารเรือ หรือแม้แต่พลเรือนผู้สนใจในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ล้วนคุ้นเคยกันดีถึงบทเพลงทหารเรือที่เป็นพระนิพนธ์ 3 เพลง ที่ยังคงขับร้องบรรเลงกันแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือเพลง “ดอกประดู่” “เดินหน้า” และ “ดาบของชาติ”

ส่วนบางคนที่สนใจศึกษาค้นคว้าเชิงลึกในเรื่องราวพระประวัติ ก็ย่อมทราบดีว่านอกจาก 3 บทเพลงดังกล่าวแล้ว ยังมีเพลงพระนิพนธ์อื่น ๆ ที่ปัจจุบันไม่แพร่หลายแล้วอยู่อีก อาทิ

เกิดเป็นชายหมายมาดชาติทหาร

ศีลแปดสำหรับทหาร

สรรเสริญพระบารมี (สำหรับทหารเรือ)

พลยุทธนาวา

และ นักเรียนนายเรือและนายช่างกล

ในบรรดาบทเพลงพระนิพนธ์เหล่านี้ หากพินิจพิเคราะห์แต่ละเพลงอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราจะพบลักษณะพิเศษบางอย่างซ่อนอยู่ในท่วงทำนองแต่ละบทเพลง

ลักษณะพิเศษเหล่านี้ น่าจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงคำกล่าวที่ว่า “… ท่านจึงรู้จักเพลงเยอะ ท่านรู้จักทำนองเพลงจำนวนมากมาย …” ของอาจารย์หมอพูนพิศ

เพลง “ดอกประดู่” เดิมไม่มีชื่อเฉพาะ โดยมักเรียกกันว่าเพลง “ฮะเบสสมอ” บ้าง “ฮะเบสสมอพลัน ออกสันดอนไป” บ้าง ทรงนำทำนองเพลง “Comin’ Thro’ the Rye” ซึ่งมีทำนองดั้งเดิมจากเพลงเก่าแก่ของชาวสกอตที่ชื่อ “Common’ Frae The Town” มาปรับเปลี่ยนด้วยสำนวนบทร้องพระนิพนธ์ภาษาไทย จนกลายเป็นเพลงมาร์ชปลุกใจทหารได้อย่างน่าทึ่ง

เพลง “เดินหน้า” มาจากการรวมเพลงพระนิพนธ์ 2 เพลงที่มีทำนองเดียวกัน คือเพลง “เกิดมาทั้งที มันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย” กับ “เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น” ซึ่งทรงดัดแปลงทำนองเพลงไทยเดิมชื่อ “คุณลุง คุณป้า” อันเป็นเพลงเก่าตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา มาปรับเปลี่ยนให้เป็นเพลงจังหวะเร้าใจ

เพลง “พลยุทธนาวา” ใช้ทำนองเพลง “แขกหนัง” อันเป็นเพลงไทยเดิม มีเนื้อหากล่าวถึงภัยคุกคามจากมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมที่ขนาบข้างสยาม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พ้นกาลสมัยไปแล้ว จึงคงเป็นเหตุผลสำคัญที่เพลงนี้หมดความแพร่หลายไป เช่นเดียวกับเพลง “นักเรียนนายเรือและนายช่างกล” ซึ่งกล่าวถึง”อ้ายหน้าซีดตาขาว” เจ้าอาณานิคม และมีทำนองเป็นเพลงไทยเดิมที่ขับร้องได้ไม่ง่ายนัก

ส่วนเพลง “ศีลแปดสำหรับทหาร” มีความยาวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับบทเพลงโดยทั่วไป ด้วยคงเป็นพระประสงค์ที่จะทรงถ่ายทอดคำสอนจากพระทัยเอาไว้อย่างครบถ้วน จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำและขับร้องได้ยาก อย่างไรก็ตาม เนื้อหาข้อปฏิบัติทั้ง 8 ประการที่ทรงนิพนธ์ไว้ ก็ได้เป็นวัตถุดิบให้กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ นำมาจัดทำเป็นบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เผยแพร่สู่กำลังพลในปัจจุบัน

และเพลง “ดาบของชาติ” อันเป็นบทเพลงพระนิพนธ์ที่อาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเด่น แตกต่างจากเพลงอื่น ๆ ในหลายด้าน

เริ่มจากเนื้อหาที่ไม่เหมือนใคร โดยเพลงพระนิพนธ์เพลงนี้มีเนื้อร้องสั้นที่สุด คือเป็นโคลงสี่สุภาพเพียง 1 บทเท่านั้น

ดาบของชาติเล่มนี้          คือชีวิตเรา

ถึงจะคมอยู่ดี                 ลับไว้

สำหรับสู้ไพรี                  ให้ชาติเรานา

ให้มิตรให้เมียให้             ลูกแล้ชาติไทย

นอกจากสั้นมากแล้ว ลักษณะพิเศษอีกประการของพระนิพนธ์นี้ก็คือความหมายในเนื้อหา ซึ่งมีลักษณะเป็นความในใจของปัจเจกบุคคล ถ่ายทอดความคิดคำนึงมุ่งมั่นตั้งใจหรืออุดมคติของตนเอง มากกว่าการเป็นคำสอน คติเตือนใจ หรือสื่อความหมายปลูกฝังความสามัคคีในหมู่คณะ ดังเช่นบทเพลงพระนิพนธ์อื่น ๆ

ในเชิงวรรณศิลป์ เมื่อถอดความหมายตามถ้อยคำแล้ว พบว่าทรงใช้อุปลักษณ์โวหาร (metaphor) เปรียบเทียบพระชนม์ชีพของพระองค์เองกับ “ดาบ” ที่จะต้อง “… ลับไว้ …” สำหรับใช้ฟาดฟันอริราชศัตรู เพื่อปกป้องหมู่มิตร ครอบครัว และที่สุดคือชาติบ้านเมือง

น่าสังเกตว่านอกจากในเพลงนี้แล้ว กรมหลวงชุมพรฯ ยังทรง “… ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์จะนำ …” คือทรงนิพนธ์ถึงดาบในฐานะสัญลักษณ์ของเครื่องปกป้องบ้านเมืองในเพลงพระนิพนธ์ “ฮะเบสสมอ” ด้วย การทรงเลือกดาบเป็นอุปลักษณ์เช่นนี้ คงเป็นความประทับพระหฤทัยตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์ ที่ทรงเคยฝึกฝนยุทธกีฬา เช่นการขี่ม้า ยิงปืน รวมทั้งกระบี่กระบองแบบไทยโบราณ

ในแง่คีตนิพนธ์ ไม่ปรากฏว่าเพลง “ดาบของชาติ” มีที่มาของท่วงทำนองจากแหล่งใด และเชื่อกันโดยทั่วไปว่า ทรงนิพนธ์ทำนองเพลงนี้ขึ้นด้วยพระองค์เอง

ทำนองเพลงที่ทรงนิพนธ์ขึ้นนี้ ได้รับยกย่องว่ามีท่วงทำนองไพเราะทัดเทียมกับเพลงที่นักดนตรีชาวตะวันตกประพันธ์ขึ้น

ในการบรรยายครั้งที่อ้างถึงข้างต้นนั้น นายแพทย์พูนพิศได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“… เพลงดาบของชาตินี้ เป็นเพลงที่มีทำนองไพเราะมาก ๆ เวลาเล่นกับวงออร์เคสตราขนาดใหญ่แล้ว โอ้โฮ ผมได้ยินครั้งแรกนี้ ขนาดขนลุก แล้วแทบไม่เชื่อว่านี่หรือเพลงที่คนไทยแต่ง เพราะว่าเวลาร้องประสานเสียงแล้ว เป็นเพลงฝรั่งร้อยเปอร์เซ็นต์ …”

ก่อนจะบรรเลงขับร้องกันแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน เพลงดาบของชาติเคยเกือบจะไม่มีใครรู้จักไปแล้วช่วงหนึ่ง ตามที่  พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวไว้ในหนังสือ “อนุสรณ์ท่านหญิงเริงฯ” ว่า

“… ประมาณ พ.ศ. 2515 พลเรือเอก กมล สีตะกลิน ผู้บัญชาการทหารเรือสมัยนั้น ได้สนับสนุนให้กองดุริยางค์ทหารเรือ จัดทำแผ่นเสียง 12 นิ้ว (Long Play) เพลงที่สำคัญในแผ่นเสียงดังกล่าว คือ เพลงพระนิพนธ์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้แก่เพลง “ดอกประดู่” และ เพลง“เดินหน้า” นาวาเอก สำเร็จ นิยมเดช หัวหน้ากองดุริยางค์ทหารเรือได้ไปขอคำปรึกษา หม่อมช้อย อาภากร ณ อยุธยา (เกิด พ.ศ.2433 ถึงแก่กรรม พ.ศ.2517) ซึ่งเป็นหม่อมมารดาของ พลเรือเอกหม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ เกี่ยวกับเรื่องของเพลงกรมหลวงชุมพรฯ หม่อมช้อยได้เล่าให้ฟังว่า ยังมีเพลงพระนิพนธ์ของกรมหลวงชุมพรฯ อีกเพลงหนึ่งไม่มีใครนำมาร้องกัน เพราะไม่มีใครรู้จัก เป็นเพลงที่มีเนื้อเพลงสั้น ๆ แล้วหม่อมช้อยก็ร้องเพลงนั้นให้ฟัง ถึงแม้เสียงของท่านจะสั่นเครือไปบ้างตามวัย แต่กองดุริยางค์ทหารเรือก็ได้บันทึกเสียงของท่านไว้ แล้วนำมาเรียบเรียงเสียงประสานทำนองขึ้น บันทึกลงในแผ่นเสียง “เพลงทหารเรือ” จึงเป็นเพลง “ดาบของชาติ” ดั่งที่พวกเราได้ฟังและได้ร้องกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้ …”

คงเป็นด้วยความหมายที่เรียบง่ายทว่าลึกซึ้ง ที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของพระนิพนธ์สั้น ๆ บทนี้ ซึ่งสื่อสารถึงเจตจำนงอันสง่างามในการดำเนินชีวิต ไม่เพียงเฉพาะสำหรับทหารเรือ แต่ยังสามารถเป็นอุดมการณ์ร่วมของคนไทยทุกคน ทำให้เพลงพระนิพนธ์ “ดาบของชาติ” : Honor To The Navy, A Sword Of The Country กลับคืนยืนยงคงความอมตะข้ามกาลเวลามาถึงทุกวันนี้

เป็นอีกหนึ่งลำนำแห่งราชนาวี จากพระปณิธานแน่วแน่แห่งพระหฤทัย อันพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ทรงถ่ายทอดไว้

ประดุจแสงแห่งอุดมคติอันแจ่มจรัสเรืองรอง ที่ยังคงส่องจ้านำทางให้ผู้คนมากมาย จนถึงทุกวันนี้

ลองฟังเพลง “ดาบของชาติ” ฉบับแรกหวนคืน ได้ที่

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พลิกข้อมูลใหม่ ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ จากหลักฐานกว่าร้อยปีที่ถูกลืม

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง

เอกสารจากปี 1914 ที่เก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยายุคแรกเริ่มในสยาม ซึ่งหนึ่งในชาวสยามเพียงน้อยรายผู้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนั้น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเอกสารระบุพระนามว่า “Prince of Chumpon”

แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์ / ฑิตยา ชีชนะ

เมื่อโมงยามนำวันคืนล่วงสู่ศักราชใหม่ ผู้คนมากมายใช้โอกาสนี้กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองสู่หนทางที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระดำริต่าง ๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ อันยังปรากฏสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมอบแง่คิดเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเราได้บ้าง

ตามรอยพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

WRITER : นิธิ วติวุฒิพงศ์

ชื่อ “กรีนิช” เกี่ยวข้องกับการทรงศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ ของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือระหว่างทรงเรียนวิชาพื้นฐานเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในโรงเรียนเตรียมการ (Preparation School) ของนาย William Thomas Littlejohns หรือ W.T. Littlejohns ที่ย่านกรีนิช และระหว่างที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช