
หนึ่งในพระกรณียกิจครั้งสำคัญแห่งพระชนม์ชีพของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ คือการทรงเป็น “ข้าหลวงพิเศษ” ออกไปจัดซื้อเรือพิฆาตที่ชื่อ “พระร่วง” ณ ประเทศอังกฤษ และทรงนำเรือกลับสู่สยามประเทศด้วยพระองค์เอง ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีชาวสยามบังคับการเรือรบเดินทางข้ามทวีป เป็นระยะทางนับหมื่นไมล์ทะเล
พระเกียรติคุณข้อนี้เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย แต่อาจมีผู้คนเพียงน้อยรายที่ได้เคยพินิจว่า พระภารกิจนี้สะท้อนถึงพระปรีชาในฐานะนายทหารเรือของพระองค์อย่างไรบ้าง ?
โครงการกรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ได้สนทนากับนายทหารเรือบางท่าน ที่มีประสบการณ์เดินเรือข้ามทวีปยาวไกลคล้ายคลึงกับ maiden voyage ของเรือพระร่วง เพื่อสอบถามทัศนะความคิดเห็นว่า เบื้องหลังระยะเวลา 78 วัน นับตั้งแต่เรือพระร่วงออกเดินทางจากท่าเรือ Southampton ทางชายฝั่งตอนใต้ของประเทศอังกฤษ จนกระทั่งผ่านสันดอนเข้ามาจอดที่จังหวัดสมุทรปราการของสยามประเทศได้นั้น กรมหลวงชุมพรฯ พร้อมกับบรรดาศิษย์นายทหารเรือสยาม และเหล่ากลาสีชาวอังกฤษที่เดินทางมาส่งเรือ น่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือความท้าทายในการนำเรือเดินทางข้ามมหาสมุทร รวมถึงการดำรงชีวิตตลอด 78 วันนั้นอย่างไรบ้าง
นี่คือประเด็นที่เราอยากจะขอเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมพินิจพิจารณากันในบทความนี้

HMS Radiant (1916)
… HMS Radiant was a R-class destroyer which fought in the First World War as part of the Royal Navy before being transferred to the Royal Thai Navy, … She was renamed Phra Ruang. It is believed that in order to finance her acquisition King Rama VI and other senior figures donated personally to the finance fund, making this the first publication donation of money to procure a warship in Thailand. The Royal Prince Admiral Abhakara Kiartivongse went to England to negotiate the purchase personally and command the ship during its subsequent voyage from England to Thailand …
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แม้เรือหลวงพระร่วง หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมเมื่อแรกสร้างว่า เรือหลวงเรเดียนท์ (HMS RADIANT) จะเป็นเรือรบที่เรียกได้ว่า “ทันสมัย” ที่สุดของสยาม ณ ยุคสมัยนั้น คือเป็นเรือรบที่เพียบพร้อมไปด้วยสมรรถนะในหลายด้าน ทั้งยังติดตั้งระบบอาวุธที่ทันสมัย แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับสมรรถนะของเรือรบในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีในการช่วยเดินเรือชนิดต่าง ๆ เช่น เรดาร์ หรือระบบหาที่เรือด้วยดาวเทียม ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าการนำเรือข้ามน้ำข้ามทะเลจากอังกฤษมาสู่สยาม ก็คือภารกิจวัดขีดความสามารถของผู้บังคับการเรือและลูกเรือ ที่ต้องมีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่แม่นยำ ในศาสตร์ของการเดินเรือโทยแท้

ดังที่พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย และอดีตผู้บัญชาการหน่วยซีล ชุดปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่าถ้ำหลวง ได้เคยเล่าไว้ในช่วงหนึ่งของกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่ 2 ในโครงการ กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ไว้ว่า
“… สมัยที่ผมไปกับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดที่โซมาเลียนี่ ระยะทางที่เราไปก็ไม่ถึงครึ่งทางของพระองค์ท่าน เรือที่เราไปนั้นมีความทันสมัย มีเครื่องหาที่เรือด้วยดาวเทียม ช่วยเราให้นำเรือได้สะดวกมากขึ้น แต่สมัยกรมหลวงชุมพรฯ นี่ พระองค์ต้องทรงเดินเรือโดยหลักดาราศาสตร์ … ซึ่งระยะทางที่พระองค์ทรงเดินทางนั้นไกลมาก และบนเส้นทางที่ผ่านก็มีหลายช่องแคบมาก อย่างช่องแคบยิบรอลตาร์หรือคลองสุเอช ซึ่งมีเรือผ่านจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในการนำเรือก็ต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืนซึ่งมืด รวมทั้งทะเลมันกว้างและเวิ้งว้างมาก เราจะหันทิศเรือไปทางไหน เราก็ต้องใช้วิธีการวัดดาว ใช้การเดินเรือด้วยดาราศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการนำเรือที่มีความยุ่งยากกว่าปัจจุบันมาก นี่คือเฉพาะเรื่องการนำเรือนะครับ …”



เรือพระร่วงเป็นเรือที่ใช้เครื่องจักรซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังไอน้ำ ต้องอาศัยระยะเวลาในการต้มน้ำ เพื่อให้ได้ไอน้ำมากเพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ฉะนั้นกว่าที่จะออกเรือได้ ผู้บังคับการเรือต้องวางแผนการเดินเรือแบบเผื่อเวลาในการต้มน้ำ แตกต่างจากเครื่องยนต์เรือรบปัจจุบันที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพียงแค่กดปุ่มเดินเครื่องก็สามารถขับเคลื่อนเรือได้ทันทีตามต้องการ
นอกจากความท้ายทายในด้านองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญการเดินเรือแล้ว “ความโกธรเกรี้ยวของธรรมชาติ” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ท้าทายความสามารถของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ต้องทรงรับมือกับธรรมชาติของคลื่นลมที่พยากรณ์ล่วงหน้าเป็นระยะเวลายาวนานได้ยาก
ดังที่พลเรือเอก ธานินทร์ ลิขิตวงศ์ อดีตผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม 151 (Combined Task Force 151) ซึ่งคือกองเรือที่ประกอบกำลังขึ้นมาจากเรือรบนานาชาติที่ ที่ปฏิบัติงานร่วมกันในภารกิจปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย ได้กรุณาแสดงทัศนะไว้ว่า
“… ปัจจุบันนี้ เราสามารถพยากรณ์อากาศและสภาพคลื่นลมได้ล่วงหน้าก่อน 7 วัน อย่างตอนที่ผมเป็นผู้บัญชาการกองเรือนานาชาติ ผมให้เรือจากทางสหรัฐฯ เช็คสภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อที่จะวางแผนการเดินเรือให้หลบเลี่ยงคลื่นลม แต่ในสมัยของเสด็จเตี่ยนั้น ท่านทรงไม่มีเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออะไรที่จะทรงทำนายอากาศล่วงหน้าได้นาน นี้เป็นความแตกต่างของการเดินเรือในปัจจุบันกับในสมัยของพระองค์ ฉะนั้นองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ ในการเดินเรือของพระองค์นั้น ต้องมีความแข็งแรงและชำนาญกว่าคนในปัจจุบันแน่นอน …”
สอดคล้องกับทัศนะพลเรือตรี อาภากร ที่ได้เล่าถึงเหตุการณ์เผชิญคลื่นลมกลางมหาสมุทรของเรือรบทันสมัยในปัจจุบัน ไว้ในการเสวนาพระประวัติฯ ว่า
“… ผมเคยได้ฟังรุ่นพี่ผม พลเรือโทภราดร พวงแก้ว … ท่านนำเรือหลวงจักรีนฤเบศรกลับมาจากสเปน สเปนนี่อยู่ที่ยิบรอลตาร์เลยนะครับ ส่วนอังกฤษนั่นอยู่เหนือขึ้นไปอีก ท่านบอกว่าพอผ่านอ่าวเอเดนเข้ามหาสมุทรอินเดีย ตรงทะเลแคริเบียน โอโห้ เจอคลื่นลม ขนาดเรือจักรีนฤเบศรยังสาหัสสากรรจ์เลยนะครับ คลื่นสูงมาก การนำเรือจักรีนฤเบศรซึ่งเทียบความทันสมัยแล้วทันสมัยกว่าเรือพระร่วงเยอะ ยังค่อนข้างลำบาก แล้วในอดีตสมัยพระองค์ท่าน ผมว่าผู้บังคับการเรือต้องชำนาญมาก ๆ ถึงจะนำเรือพระร่วงจากอังกฤษกลับมาได้นะครับ …”

ไม่เพียงแต่การรับมือกับพลังของธรรมชาติ แต่การรับมือกับ “มนุษย์” ในเรือ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่กรมหลวงชุมพรฯ และศิษย์นายทหารเรือชาวสยามต้องจัดการเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากชาวสยามบนเรือเพียงไม่กี่นายแล้ว ลูกเรือทั้งหมดในเรือเป็นกลาสีชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามว่าจ้างให้เดินทางมากับเรือพระร่วงจนถึงสิงคโปร์ เพื่อผลัดเปลี่ยนกับลูกเรือสยามที่นั่น
หนังสือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ: เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ” ในบทที่ชื่อว่า “พระร่วงและกรมหลวงชุมพรฯ” มีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงคำบอกเล่าของหลวงพลสินธนาณัติก์ (เหล่ว ทีปะนาวิน, 2438-2470) ซึ่งร่วมเดินทางไปรับเรือพระร่วงพร้อมกับกรมหลวงชุมพรฯ ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า กะลาสีอังกฤษที่จ้างมาเป็นลูกเรือนั้นไม่ค่อยรักษาหน้าที่ แอบหลับยามเสมอ บางครั้งเรือเดินผิดทิศมาก สอบสวนได้ความว่า คนถือพังงา (เครื่องบังคับหางเสือ) งีบหลับแล้วเอาพังงาเรือผูกติดไว้กับเก้าอี้ ตื่นขึ้นมาครั้งหนึ่งค่อยถือท้ายให้ตรงตามคำสั่ง นานเข้าเรือจึงแล่นเฉออกนอกทิศทางทุกที ยังดีที่คุณหลวงวัดแดดคำนวณหาตำแหน่งเรือทุกวัน จึงจับได้ ดังนั้นบางวันแม้ไม่ค่อยสบาย แต่หลวงพลสินธฯ ก็ยังไม่กล้านอนพัก ต้องให้ลูกเรือฝรั่งหามขึ้นมาวัดแดดบนสะพานเดินเรือ เพราะเกรงเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก

การดำรงชีวิตบนเรือ ก็นับเป็นอีกหนึ่งความยากลำบากและท้าทาย ทั้งในด้านของการอุปโภคและบริโภค เพราะยุคนั้นไม่ได้มีห้องเย็นหรือตู้เย็น ไม่มีอาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องกรองน้ำจืดในเรืออย่างในปัจจุบัน การวางแผนจัดสรรอาหารและน้ำดื่มรวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกจึงเป็นเรื่องสำคัญถึงชีวิตของผู้ที่อยู่บนเรือ ที่องค์ผู้บังคับการเรือก็คงต้องทรงรับมือจัดการ นอกเหนือไปจากเรื่องของการนำเรือฝ่าข้ามคลื่นลมให้รอดพ้นปลอดภัย
เรือพระร่วงถือกำเนิดขึ้นที่อีกซีกโลกเมื่อกว่าศตวรรษก่อน แต่แม้จนทุกวันนี้ ประวัติและเรื่องราวของเรือก็ยังถูกบันทึกไว้ ตั้งแต่ในเอกสารประวัติศาสตร์ทหารเรือจนถึงในสื่อดิจิทัลร่วมสมัย เช่นเดียวกับพระเกียรติคุณแห่งกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งทั้งทรงดำเนินการจัดซื้อและทรงนำเรือนี้กลับสู่สยาม


ทุกวันนี้ ไม่ปรากฏสมุดปูม (log book) ที่บันทึกรายละเอียดความเป็นไปในการเดินทางจากอังกฤษสู่สยามให้เราในปัจจุบันสามารถศึกษาค้นคว้าได้ เราจึงได้แต่จินตนาการว่าตลอดระยะเวลา 78 วันของการเดินทางนั้น จะมีเหตุการณ์ที่ท้าทายต่อพระปรีชาในศาสตร์ของการเดินเรือ รวมไปถึงความทรงเป็นผู้นำของกรมหลวงชุมพรฯ เกิดขึ้นอย่างไรได้บ้าง แม้กระนั้น เราก็พอจะแน่ใจได้ว่าตลอดเส้นทางนับหมื่นไมล์ทะเลเมื่อครั้งนั้น พระองค์คงไม่ได้ทรงเพียงบังคับการเรือ แต่พระองค์น่าจะยังทรงต้องบริหารจัดการ วางแผน ประสานงาน และทรงนำการปฏิบัติในสิ่งอันจำเป็นต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางเรื่อยมา
ทุกองค์ความรู้และประสบการณ์ตั้งแต่ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ คงจะเป็นแผนที่นำทางให้เรือพระร่วงที่มีธงราชนาวีโบกสะบัดอยู่นั้น สามารถเดินทางข้ามห้วงมหาสมุทรจากอีกซีกโลก ผ่านสายตาของนานาประเทศ สู่มาตุภูมิที่มีชาวสยามมากมายคนร่วมเป็นเจ้าของเรือพิฆาตลำนี้
