ย้อนเวลากลับไปเมื่อกว่า 120 ปีที่แล้ว “สมุททานุภาพ” (Naval Power) คือปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความเป็นมหาอำนาจเกรียงไกรของชาติตะวันตกจำนวนมาก ซึ่งแผ่อิทธิพลทั้งทางการทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง ไปครอบงำดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอังกฤษยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีความแข็งแกร่งในด้านแสนยานุภาพทางทะเลยิ่งกว่าชาติใด ๆ จนกลายเป็นจักรวรรดิที่สามารถขยายอิทธิพลสู่ดินแดนต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่เกือบหนึ่งในสี่ของโลก เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรวรรดิอังกฤษ”
ในช่วงเวลานั้น สยามเป็นหนึ่งในดินแดนที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง ซึ่งถาโถมเข้ามาจากบรรดาอารยประเทศตะวันตก อันต่างแข่งขันกันแสดงแสนยานุภาพทางทะเล เพื่อแสวงหาทรัพยากรและขยายตลาด สู่โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศของตน
สยามยุครัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องเร่งพัฒนาความเจริญหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างความ “ศิวิไลซ์” ให้เท่าทันกับบริบทความเป็นไปของโลก โดยมีพระบรมราโชบายให้พระราชโอรสแต่ละพระองค์เสด็จไปทรงศึกษาสรรพวิชาในประเทศที่ถือกันว่าเจริญก้าวหน้า เพื่อทรงนำความรู้กลับมาพัฒนาสยาม ซึ่งก่อนที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี จะเสด็จจากสยามไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษนั้น มีพระราชโอรส “รุ่นใหญ่” ที่กำลังทรงศึกษาวิชาต่าง ๆ อยู่ในยุโรปแล้วถึง 4 พระองค์ คือพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (ต่อมาเฉลิมพระยศเป็นกรมพระจันทบุรีนฤนาถ) ทรงศึกษาวิชาเศรษฐกิจการคลังที่อังกฤษ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (ต่อมาเฉลิมพระยศเป็นกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ทรงศึกษาวิชากฎหมายที่อังกฤษ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (ต่อมาเฉลิมพระยศเป็นกรมหลวงปราจิณกิติบดี) ทรงศึกษาวิชาอักษรศาสตร์ที่อังกฤษและฝรั่งเศส และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (ต่อมาเฉลิมพระยศเป็นกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช) ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษและวิชาทหารบกในประเทศเดนมาร์ก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสมุททานุภาพเป็นอย่างดี จึงมีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือในดินแดนแห่งแสนยานุภาพทางทะเลเช่นอังกฤษกันทั้งสองพระองค์
ก่อนช่วงเวลาที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดีจะเสด็จไปทรงศึกษาที่อังกฤษเพียงไม่นานวัน สยามต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ประเทศมหาอำนาจเข้าคุกคามอธิปไตยโดยใช้เรือปืนเป็นเครื่องมือ ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น สยามต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญการป้องกันภัยทางทะเลจากชาวต่างชาติ เนื่องจากยังไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการรบทางเรือเพียงพอที่จะป้องกันตนเองได้อย่างมั่นคง
แม้สยามได้พยายามพัฒนากิจการทหารเรือ ปรับปรุงเรือและป้อมต่าง ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองแล้ว แต่ก็ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอต่อการรับมือกับผู้รุกรานได้จริง
“… ในตอนบ่ายวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันพระ ข้าฯ ได้ไปที่ปากน้ำโดยเรือใบ เพื่อดูสถานการณ์ทางทหารว่าเป็นอย่างไรบ้าง ข้าฯ ได้ขึ้นไปบนเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ในเรือนี้ต่างพูดสัพยอกกันถึงการรบโดยคิดว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงมิได้เตรียมพร้อมแต่อย่างใด ทหารประจำเรือนี้ ทั้งหมดไม่เคยเห็นการยิงปืนใหญ่เลย
เว้นแต่ผู้บังคับการเรือคนเดียว ทหารประจำเรือเป็นคนเกณฑ์ใหม่มาจากท้องนา กระสุนดินปืนก็ไม่เคยรู้จัก ทหารประจำเรือลำอื่น ๆ และประจำป้อมก็คงมีสภาพอย่างเดียวกัน …”
บันทึกของ Mr. H. Warington Smyth
ชาวอังกฤษ เจ้ากรมโลหกิจของสยาม ณ ช่วงเวลาเหตุการณ์ ร.ศ. 112
การรบที่ปากน้ำในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 สะท้อนถึงความไม่พร้อมของสยาม ในการรับมือกับแสนยานุภาพทางทะเลของชาติตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด การที่สยามจะมีบุคลากรชาวไทยที่ถึงพร้อมด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ของวิทยาการทหารเรือสมัยใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนของสยามประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย
ในช่วงเวลาที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดีเสด็จไปทรงศึกษาที่อังกฤษนั้น อังกฤษมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนต่าง ๆ มากมายทั่วโลกจากความเป็นเลิศของวิทยาการทหารเรือยิ่งกว่าประเทศมหาอำนาจใด ๆ จึงทำให้ทหารเรือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับการยกย่องในสังคมอังกฤษยิ่งกว่าเหล่าทัพอื่น ๆ พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจาะจงเลือกราชนาวีอังกฤษเป็นแหล่งศึกษาสำหรับพระราชโอรส 2 พระองค์แรกที่จะทรงศึกษาวิชาทหารเรือ จึงเป็นพระบรมราชวินิจฉัยอันสอดคล้องยิ่งกับกาลสมัย
เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคต เป็นเหตุให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดีทรงดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารสืบแทน จึงทรงเปลี่ยนสายการศึกษา ทำให้เหลือพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่ทรงศึกษาต่อไปในศาสตร์ของราชนาวี อันมีแนวทางการฝึกศึกษาที่แตกต่างอย่างยิ่งกับวิชาด้านอื่น ๆ
“… ส่วนชายอาภากรนั้น คงรอให้เป็นทหารเรือด้วยอาการทั้งปวง …”
พระราชหัตถเลขา พระราชทานพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโศภณ
ท่ามกลางบรรดาพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงศึกษาอยู่ในยุโรปยุคนั้น พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์อาจทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวที่ทรงศึกษาโดยลำพังพระองค์ ตามธรรมชาติของการฝึกศึกษาวิชาทหารเรือ ที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนจากราชตระกูลมีผู้อภิบาลหรือมหาดเล็กคอยรับใช้ดังเช่นการทรงศึกษาในสถาบันอื่น ๆ ทั้งพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ยังต้องทรงระหกระเหินเดินทางยาวนานข้ามปีในท้องทะเลอันไพศาล ในพระสถานะนักเรียนทำการนายเรือชาวสยามเพียงผู้เดียว บนเรือรบที่เต็มไปด้วยชาวอังกฤษทั้งลำ เหล่านี้คือเรื่องราวพระประวัติที่ชวนให้พวกเราในปัจจุบันลองจินตนาการดูว่า พระองค์ต้องทรงมีพระคุณลักษณะและพระอัธยาศัยเช่นไร จึงทรงสามารถผ่านความท้าทายต่าง ๆ สู่ผลการศึกษาที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน
“… พระองค์เจ้าอาภากร ข้าพระพุทธเจ้าได้คิดอ่านว่าจะหาช่องให้ได้พบพระอนุชาสักครั้งหนึ่งก็ยังไม่สำเร็จ เพราะเรือริเวนช์เชิญเสด็จไปเที่ยวร่อนเร่อยู่ในฝั่งเตอรกี ทั้งข่าวคราวและรายงานกว่าจะได้ก็ยากที่สุด เพราะนาน ๆ ได้ทีหนึ่งก็ไม่มีอะไร นอกจากทรงพระสำราญและทรงเล่าเรียนเจริญขึ้นตามปกติ แต่การทั้งนี้ก็เป็นธรรมดาของวิธีทางเล่าเรียนอันต้องร่อนเร่ตรากตรำเช่นนั้น ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้เล่าเรียนด้วยความลำบากเช่นนั้น จะได้ผลสำเร็จอันวิเศษในวันหลัง …”
หนังสือของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การทรงศึกษาวิชาทหารเรือของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นผลแห่งสายพระเนตรยาวไกลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม หากปราศจากพระคุณลักษณะและพระปรีชาอันเป็นสิ่งพิเศษเฉพาะพระองค์ ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์จะทรงสำเร็จลุล่วง ในพระภารกิจการทรงศึกษาวิชาอันยากยิ่งนี้